xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมสังคมจีนแถบเมืองใหญ่ทันสมัยจึงยังต้องการลูกชายมากกว่าลูกสาว ?

เผยแพร่:   โดย: คาร์ลีย์ โอคอนเนลล์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Why does modern, urban China still prefer sons?
By CARLY O'CONNELL
08/10/2016

สังคมจีนตามตัวเมืองใหญ่ทันสมัย ยังคงนิยมชมชื่นบุตรชายมากกว่าบุตรสาว ถึงแม้ไม่ได้มีการเน้นหนักใช้แรงงานในไร่นาแบบสังคมชนบทดั้งเดิมอีกแล้ว เหตุผลของเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความไม่เสมอภาคและช่องโหว่ที่ยังห่างไกลระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย

วันหนึ่งขณะที่ดิฉันยังทำงานอยู่ในประเทศจีน ดิฉันนั่งอยู่ติดๆ กับเพื่อนร่วมงานที่ท้องแก่ผู้หนึ่งระหว่างเวลารับประทานอาหารกลางวัน และเราก็ได้พูดจาสนทนากันเกี่ยวกับความหวังและความมุ่งมาดปรารถนาของเธอต่อทารกในครรภ์ผู้นี้ เธอแสดงความปรารถนาว่าลูกของเธอจะเป็นผู้ชาย เพื่อที่จะไม่สร้างความผิดหวังให้แก่พ่อแม่ของสามีซึ่งกำลังกดดันเธอให้คลอดหลานชายให้พวกเขาสักคน ดิฉันรู้สึกตกตะลึง ดิฉันเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของความนิยมชมชอบบุตรสาวในสังคมจีนชนบทที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ทว่า “สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ” ดิฉันบอกกับเพื่อนท้องแก่ผู้นี้ “เราอยู่ในกันในเมืองใหญ่ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องทำงานด้านการเกษตรเลย การมีลูกชายหรือลูกสาวจะสร้างความแตกต่างอะไรขึ้นมานักหนา?”

เพื่อนของดิฉันอธิบายว่า ลูกชายจะสามารถช่วยเลี้ยงดูสนับสนุนครอบครัวได้ดีกว่า เพราะผู้หญิงมีโอกาสน้อยกว่าเยอะที่จะได้ตำแหน่งงานดีๆ เรื่องนี้เป็นเพราะผู้หญิงถูกคาดหมายเอาไว้ว่าต้องให้ความสำคัญแก่เรื่องการตั้งครอบครัว มากกว่าความก้าวหน้าทางอาชีพการงานของพวกเธอ และก็แบบเดียวกับที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้เคยชี้เอาไว้จนกลายเป็นคำพูดอื้อฉาว [1] นั่นคือ การตั้งครรภ์เป็น “ความไม่สะดวก” สำหรับการประกอบธุรกิจการงาน

ถึงแม้มีกระแสมุ่งไปสู่การยอมรับความเท่าเทียมของสตรีอย่างก้าวกระโดดทีเดียวเมื่อตอนที่มีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในปี 1949 ทว่าเวลานี้สตรีจีน ก็เหมือนๆ กับสตรีอเมริกันนั่นแหละ ยังคงเผชิญหน้ากับประสบการณ์แห่งความไม่เสมอภาคในทางเศรษฐกิจและในทางสังคมมากมายหลายๆ ด้าน ตามรายงานว่าด้วย "เพศภาวะและครอบครัวในประเทศจีนร่วมสมัย" (Gender and Family in Contemporary China) ซึ่งจัดทำโดยศูนย์ประชาการศึกษา (Population Studies Center) ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) เมื่อปี 2013 [2] ผู้หญิงจีนในปัจจุบันกำลังประสบกับการมีช่วงห่างทางด้านค่าจ้างอย่างมากทีเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชาย โดยได้รับค่าจ้างประมาณ 70% ของที่เพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชายของพวกเธอได้รับอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเธอยังมีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับเลือกเลื่อนขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารหรือตำแหน่งการจัดการในระดับกลางจนถึงระดับสูง อี้ว์ เซี่ย (Yu Xie) ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้เสนอแนะว่า การที่ผู้หญิงยังคงเป็นผู้รับผิดชอบทำงานบ้านและการดูแลบุตรเป็นส่วนใหญ่ น่าจะเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งพวกเธอไม่ให้ก้าวหน้าไปในที่ทำงาน

ความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ยังอาจจะส่งผลกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างลูกหลานกับพ่อแม่ผู้ปกครองอีกด้วย โดยตามรายงานฉบับเดียวกันนี้ ประชาชนจีนราว 30% ทีเดียวพำนักอาศัยอยู่ในครัวเรือนซึ่งมีคนหลายๆ รุ่นอายุอยู่ด้วยกัน สืบเนื่องจากวิธีปฏิบัติในสังคมที่ดำเนินมายาวนานรวมทั้งเงินทุนบำนาญก็ต่ำเตี้ยน้อยนิด พวกคนแก่คนสูงอายุในประเทศจีนจึงมีความโน้มเอียงอย่างมากที่จะพึ่งพาความช่วยเหลือความสนับสนุนของบุตรหลาน ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่และปู่ย่าตายายจึงมีผลประโยชน์อันเหนียวแน่นผูกพันอยู่กับลูกหลานที่เป็นเพศชายซึ่งมีอำนาจการจับจ่ายใช้สอยสูงกว่าลูกหลานที่เป็นเพศหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อนโยบายการควบคุมประชากรของจีนซึ่งใช้กันมายาวนานหลายสิบปี ได้นำไปสู่โครงสร้างครอบครัวแบบ “พีระมิดกลับหัว” ที่คนหนุ่มสาวคนหนึ่งอาจจะต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูหรือให้ความสนับสนุนอย่างน้อยก็บางส่วนแก่คนแก่คนสูงอายุเป็นจำนวนที่อาจจะสูงถึง 6 คน (พ่อแม่และปูย่าตายาย)

แน่นอนทีเดียว ไม่ใช่ว่าทุกๆ ครอบครัวในสังคมจีนต่างรู้สึกว่าบุตรชายหลายชายเท่านั้นที่จะเป็นผู้เลี้ยงดูสนับสนุนครอบครัวได้ดีที่สุด ตัวอย่างเช่น ญาติๆ ที่เป็นคนจีนของดิฉันบางคนแสดงความเชื่อที่ว่า ลูกสาวเป็นผู้ที่เสียสละตนเองมากกว่าและพร้อมที่จะเลี้ยงดูช่วยเหลือเอาใจใส่พ่อแม่วัยชราได้มากกว่าลูกชาย

ดังนั้น เมื่อพิจารณาในด้านแรงกดดันทางสังคมและสถานะทางเศรษฐกิจแล้ว จีนยังคงต้องเดินทางอีกไกลทีเดียวในเส้นทางมุ่งสู่การสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมของสตรี แต่ก็อีกนั่นแหละ มันก็เป็นจริงเช่นเดียวกันสำหรับอเมริกา ดังนั้น ขอให้พวกเรามาแข่งขันกันเพื่อให้ไปถึงเส้นชัยกันเถอะ

หมายเหตุ

[1] http://www.nbcnews.com/politics/2016-election/trump-2004-pregnancy-inconvenience-employers-n580366
[2] http://www.psc.isr.umich.edu/pubs/pdf/rr13-808.pdf

(ทั้งนี้ บทคัดย่อของรายงานชื้นนี้เขียนเอาไว้ดังนี้:
นับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมาในปี 1949 ทั้งความสัมพันธ์ทางเพศภาวะและทั้งโครงสร้างทางครอบครัวก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายมหาศาล รายงานชิ้นนี้มุ่งศึกษางานเขียนระยะหลังๆ นี้ที่ว่าด้วยเพศภาวะและครอบครัวในประเทศจีนร่วมสมัยโดยมุ่งโฟกัสที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม กล่าวโดยรวมแล้ว ผลการวิจัยแสดงให้เห็นทั้งสิ่งต่างๆ ซึ่งผิดแผกแตกต่าง และก็สิ่งต่างๆ ซึ่งยังคงเป็นการต่อเนื่อง จากวิธีปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิม ในเรื่องของความสัมพันธ์ทางเพศภาวะและครอบครัว ตัวอย่างของสิ่งซึ่งผิดแผกออกไปแล้ว มีดังเช่น การที่มีผู้หญิงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นมากในสถานะทางเศรษฐกิจสังคมเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชาย, การเพิ่มขึ้นทั้งในเรื่องการอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานและในเรื่องการหย่าร้าง, และการที่ผู้สูงอายุไม่ได้พึ่งพาอาศัยแต่เฉพาะบุตรชายในเรื่องความช่วยเหลือสนับสนุนยามชรา ส่วนตัวอย่างของสิ่งซึ่งยังคงดำเนินต่อเนื่องจากประเพณีเดิม มีดังเช่น ภรรยาเป็นผู้มีบทบาทหน้าที่มากที่สุดในเรื่องงานบ้าน, ค่านิยมในการแต่งงานกับผู้มีฐานะทางสังคมที่เท่าเทียมหรือสูงกว่า, การพำนักอาศัยอยู่ด้วยกันของคนหลายรุ่นอายุ, และ ความนิยมชมชอบบุตรชายมากกว่าบุตรสาว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการที่เศรษฐกิจพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนความทะยานอยากทางการบริโภคในระดับสูงซึ่งติดตามมาด้วยกัน เหลานี้กำลังก่อให้เกิดแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อคนหนุ่มสาวที่กำลังเข้าสู่การสมรส ) –หมายเหตุผู้แปล

คาร์ลีย์ โอคอนเนลล์ เป็นนักวิชาชีพรุ่นเยาว์ซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในเขตวอชิงตันดี.ซี. เธออุทิศชีวิตของเธอกว่าครึ่งหนึ่งไปในการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีน ขณะเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เธอเข้าร่วมในโครงการศึกษาภาษาอย่างเข้มข้นในกรุงปักกิ่ง 1 ภาคการศึกษา และเมื่อจบมหาวิทยาลัยแล้วเธอได้ไปสอนภาษาอังกฤษ 1 ปีที่เมืองฉางโจว ประเทศจีน เธอได้ไปเยือนเมืองใหญ่ต่างๆ ของจีนมาแล้ว 15 แห่ง

(ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ เอเชียไทมส์จึงไม่ได้รับผิดชอบต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)


กำลังโหลดความคิดเห็น