xs
xsm
sm
md
lg

ไทยวางระบบป้องกัน-สวัสดิการ “ป่องวัยเรียน” ครบวงจรครั้งแรก หลังมี พ.ร.บ.ป้องกันท้องวัยรุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

การตั้งครรภ์ในวัยเรียนและการทำแท้ง ถือเป็นปัญหาที่หมักหมมมานานสำหรับสังคมไทย สาเหตุสำคัญมาจากการขาดระบบดูแลป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ในวัยเรียน หรือตั้งครรภ์ไม่พร้อม และเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ก็ยังขาดสวัสดิการในด้านต่าง ๆ ที่จะมาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะตั้งครรภ์ต่อ หรือยุติการตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างไร
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย
แต่จากการออกกฎหมายที่ชื่อ พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย มั่นใจว่า จะสามารถช่วยลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลงได้ และหากเกิดความพลาดพลั้งขึ้นมาก็จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมาสังคมไทยไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ร่วมมือกัน แต่จากการออกกฎหมายฉบับนี้ซึ่งเขียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงมหาดไทย (มท.) ต้องมาทำงานร่วมกันและขับเคลื่อนตามกฎหมาย ก็จะช่วยให้การทำงานเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นระบบขึ้น เรียกได้ว่าประเทศไทยจะมีระบบการดูแล การป้องกัน และสวัสดิการรองรับอย่างครบวงจร ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานไปขับเคลื่อน เร่งออกกฎกระทรวงเพื่อจัดทำบริการอย่างชัดเจน โดยมุ่งหว้งว่าจะลดอัตราการเกิดจากแม่วัยรุ่นลงครึ่งหนึ่ง จาก 44.3 ต่อการเกิด 1,000 คนที่ตั้งครรภ์ เหลือประมาณ 20 ต่อการเกิด 1,000 คนที่ตั้งครรภ์
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย
สำหรับระบบการดูแล การป้องกัน และสวัสดิการเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นนั้น นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 กำหนดแนวทางเอาไว้อย่างชัดเจนเลยว่าแต่ละหน่วยงานจะต้องทำอย่างไร เริ่มจากเรื่องของการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หน่วยงานที่มีความสำคัญคือ ศธ. สธ. และกระทรวงแรงงาน ที่จะต้องจัดบริการในเรื่องของการให้ความรู้เพศวิถี และการป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์วัยเรียน
การเรียนการสอนและให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียน
“ศธ. ซึ่งดูแลสถานศึกษาก็จะต้องทำให้สถานศึกษามีการให้ความรู้เรื่องของเพศวิถี การเปลี่ยนแปลงของร่างกายแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไร คือ เด็กต้องเรียนรู้จักตัวเอง เพศของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเป็นอย่างไร การจัดการกับอารมณ์ทางเพศของตัวเอง การป้องกันตัวเองไม่หให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ ทักษะการปฏิเสธเมื่อถูกร้องขอมีเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงหากหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้จริง ๆ จะมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องปลอดภัยอย่างไร เช่นเดียวกับกระทรวงแรงงานที่ดูแลสถานประกอบการ ซึ่งอาจมีหญิงวัยรุ่นทำงานก็ต้องดูแลให้ความรู้เรื่องของการป้องกันการตั้งครรภ์เหล่านี้ด้วย ส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ดูแลสถานพยาบาลนั้น ก็ต้องมีการให้ความรู้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นด้วย ซึ่งที่ผ่านมาทุกโรงพยาบาลมีการตั้งคลินิกวัยรุ่นที่ต้องบริการอย่างเป็นมิตรแล้ว” นพ.ธงชัย กล่าว

สำหรับเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมาแล้ว นพ.ธงชัย กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ. มีการวางระบบการดูแลและสวัสดิการไว้

1. สถานศึกษาต้องเป็นด่านแรกที่จะให้ความดูแลช่วยเหลือเด็กว่าจะทำอย่างไร หากเด็กตั้งครรภ์ต่อจะทำอย่างไร หรือหากยุติการตั้งครรภ์ต้องทำอย่างไร และจะได้รับการศึกษาต่ออย่างไร เพื่อไม่ให้เด็กต้องหมดอนาคต ซึ่งหากเกินความสามารถที่โรงเรียนจะดูแลได้ก็ต้องส่งมายังระบบสาธารณสุขในการให้การดูแล
คลินิกวัยรุ่น
2. เมื่อส่งต่อมายังระบบสาธารณสุข คือ คลินิกวัยรุ่น จะต้องให้คำปรึกษา คำแนะนำว่าเด็กควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรต่อ โดยมีการเสนอทางเลือกในแต่ละทาง และมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพื่อให้วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง เช่น หากตั้งครรภ์ต่อจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร มีผลกระทบต่อชีวิตอย่างไร หากเรียนจะเป็นอย่างไร เมื่อคลอดออกมาแล้วจะได้รับการดูแลอย่างไร สามารถเลี้ยงลูกได้หรือไม่ เลี้ยงไม่ได้จะมีใครเข้ามาช่วยดูแล หรือหากเลือกยุติการตั้งครรภ์ก็จะมีการพิจารณาว่าสามารถยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมายได้หรือไม่ ซึ่งจะมีเกณฑ์กำหนดอยู่ นอกจากนี้ ยังต้องดูแลด้วยว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ซ้ำ เช่น การให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิด การรับประทานยาคุมกำเนิด หรือแม้แต่การฝังยาคุมกำเนิด ซึ่งการฝังยาคุมกำเนิดจะให้ผลในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ระยะยาวหลายปี ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการรับประทานยา เพราะสามารถลืมได้ เป็นต้น เรียกได้ว่ามีการเสนอทางเลือกการให้บริการจริง ๆ

“เด็กวัยรุ่นเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น ความคิดแรกส่วนใหญ่ คือ การทำแท้ง แต่เมื่อเข้ามารับบริการคำปรึกษาตรงนี้ เท่าที่ดำเนินการมาส่วนใหญ่มักจะเลือกตั้งครรภ์ต่อไป เพราะยังมีหลายหน่วยงานที่ยังเข้ามาช่วยดูแลตรงนี้ ทั้งสถานศึกษาและ พม. แต่ละจังหวัด ส่วนการยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้ง หลักเกณฑ์ตามกฎหมาย คือ การตั้งครรภ์นั้นจะต้องส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมารดาทั้งร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงส่งผลต่อสุขภาพของเด็กในครรภ์จริง ๆ และต้องมีแพทย์และจิตแพทย์วินิจฉัยตรงกันอย่างน้อย 2 คน จึงจะยุติการตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการยุติการตั้งครรภ์ แพทย์บางท่านไม่อยากทำ เพราะเรื่องของบาปบุญ หากไม่สามารถให้บริการได้ก็สามารถส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่สามารถทำได้ หรืออาจเบิกยาช่วยยุติการตั้งครรภ์มาที่กรมอนามัย ซึ่งยาดังกล่าวจะสามารถช่วยขับเลือดออกมา หากการตั้งครรภ์ในมีอายุครรภ์น้อยกว่า 3 เดือน หรือ 12 สัปดาห์ ถือว่ามีความปลอดภัยสูงมาก ซึ่งยาดังกล่าวอยู่ในความควบคุมของกรมอนามัย การยุติการตั้งครรภ์จะต้องเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะสามารถเบิกยาดังกล่าวไปใช้ได้” นพ.ธงชัย กล่าว

3. การส่งต่อไปยัง พม. ช่วยดูแลเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ เช่น หากคลอดลูกออกมาแล้วไม่สามารถเลี้ยงได้ จะต้องมีการหาครอบครัวหรือพ่อแม่บุญธรรมช่วยเลี้ยง ขณะที่สถานศึกษาต้องให้โอกาสเด็กได้ศึกษาต่อจนจบ จนกระทั่งมีงานทำ จึงรับตัวเด็กกลับมาเลี้ยงเองเมื่อสามารถเลี้ยงดูบุตรได้แล้ว ขณะเดียวกัน มท. ที่ดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ต้องกำหนดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลตรงนี้ด้วย

“ขณะนี้แต่ละกระทรวงกำลังเร่งดำเนินการออกกฎกระทรวงในส่วนของตัวเองอยู่ว่าจะต้องจัดบริการ หรือวางแนวทางในการทำงานในเองการดูแล ป้องกัน และจัดสวัสดิการอย่างไรเพื่อช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ โดยในส่วนของ สธ. ขณะนี้ กรมอนามัยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเน้นว่าโรงพยาบาลแต่ละระดับต้องดูแลช่วยเหลืออย่างไร ต้องทำสิ่งใดได้ หากทำไม่ได้ให้ส่งต่อ แต่โดยหลักการก็จะเป็นเช่นนั้นว่าจะต้องให้คำแนะนำทางเลือกแก่วัยรุ่น ซึ่งการออกเป็นกฎกระทรวงนี้ รพ. ทุกแห่งจะต้องดำเนินการ จากที่ผ่านมาซึ่งจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่เมื่อออกกฎกระทรวงแล้วต้องทำ เช่นเดียวกับกระทรวงอื่นหากมีกฎกรทรวงก็จะเป็นการบังคับให้ทำงานเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา” นพ.ธงชัย กล่าว
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ด้าน รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ตามปกติแล้วโรงเรียนไม่สามารถไล่นักเรียนที่ตั้งครรภ์ออกได้ แต่จะต้องให้ความช่วยเหลือนักเรียน แต่ที่นักเรียนไม่สามารถอยู่ในสถานศึกษาต่อได้นั้น อาจเพราะเหตุผลส่วนตัวของเด็กเอง ซึ่งขณะนี้แต่ละโรงเรียนก็จะมีมาตรการในการดูแลและช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ตั้งครรภ์ของตัวเองอยู่ ยังไม่ได้มีการออกกฎกติกากลางว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งการที่ พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ และ ศธ. ต้องมีการออกกฎกระทรวงเพื่อร่วมกันดูแลและแก้ปัญหาดังกล่าวตามกฎหมายนั้น การออกกฎกระทรวงจะเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการร่างกฎกระทรวงดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นกติกากลางว่าสถานศึกษาจะร่วมกันป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้อย่างไร และเมื่อเจอเด็กตั้งครรภ์ขึ้นมาจะแก้ปัญหาอย่างไร ที่สำคัญคือ การดูแลของสถานศึกษาจะต้องสร้างความเป็นส่วนตัวให้แก่นักเรียน เป็นการรักษาความลับให้แก่เขา

คงต้องมาจับตากันดูว่าแต่ละกระทรวงจะออกกฎหมายลูกออกมาเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหานี้อย่างไร โดยเฉพาะกระทรวง พม. ซึ่งดูแลสวัสดิการสังคม หากมีแนวทางการบริการและช่วยเหลือที่แน่ชัด ย่อมช่วยการันตีว่าทางเลือกที่วัยรุ่นจะเลือก ไม่ว่าจะตั้งครรภ์ต่อ หรือยุติการตั้งครรภ์ ล้วนมีคนที่คอยอยู่เคียงข้างช่วยเหลือ ไม่ต้องโดดเดี่ยว และไม่ต้องตัดสินใจที่จะแก้ปัญหาด้วยการทำแท้งเถื่อน ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งต่อตัววัยรุ่นและเด็กที่กำลังจะเกิดมาในอนาคต

ที่สำคัญ เมื่อเกิดการร่วมมือวางแนวทางการดูแลแก้ปัญหาเป็นระบบเช่นนี้ ใช้การป้องกันเป็นตัวนำ และมีระบบสวัสดิการเป็นตัวเสริม ย่อมเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของไทยได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดความคิดเห็น