สสส. ชี้ สังคมไทยขาดระบบสวัสดิการดูแล “ท้องไม่พร้อม” ไร้ครอบครัวชั่วคราวช่วยเลี้ยง ให้แม่วัยรุ่นมีโอกาสเรียนและทำงาน ก่อนรับลูกกลับไปดูแลเอง การให้ข้อมูลป้องกันการท้องซ้ำ ชี้ 5 กระทรวงเร่งออกกฎหมายลูก พ.ร.บ. ป้องกันท้องวัยรุ่น ช่วยเติมเต็มช่องว่างได้
น.ส.จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แม้ พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 จะมีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา แต่ระบบการดูแลการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ซึ่งมีทั้งการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการตั้งครรภ์วัยผู้ใหญ่แต่ยังไม่มีความพร้อมนั้น ถือว่ายังมีช่องว่างและไม่ครอบคลุมมากพอ โดยเฉพาะเรื่องของระบบสวัสดิการต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ทางเลือกที่จะตัดสินใจว่าจะตั้งครรภ์ต่อหรือยุติการตั้งครรภ์ ก็ไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแล หากเลือกยุติการตั้งครรภ์ ก็ไม่มีการดูแลเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยตามกฎหมาย หรือคนที่เคยตั้งครรภ์มาแล้วก็ไม่ได้รับการดูแลเรื่องข้อมูลสุขภาพและการคุมกำเนิด เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ จึงเป็นสาเหตุให้พบการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น ขณะเดียวกัน หากเลือกตั้งครรภ์ต่อไป ก็ไม่มีระบบสวัสดิการที่จะเข้ามาช่วยดูแลเรื่องของการฝากครรภ์ การศึกษา การทำงาน หรือบ้านพักรอคลอด และเมื่อคลอดแล้วหากเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ประสบปัญหาเรื่องของการแจ้งเกิด การยกบุตรบุญธรรม รวมไปถึงไม่มีครอบครัวชั่วคราวที่มาช่วยเลี้ยงดูลูก เพื่อให้แม่วัยรุ่นมีโอกาสได้กลับไปศึกษาและทำงาน เพื่อกลับมาเลี้ยงดูบุตรของตัวเองได้ เป็นต้น
“แม้หน่วยงานที่ดูแลในเรื่องนี้ต่างบอกว่ามีระบบบริการช่วยเหลือรองรับ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) บอกว่ามีระบบช่วยเหลือนักเรียน กระทรวงสาธารณสุข (ศธ.) มีคลินิกวัยรุ่นที่เป็นมิตร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็มีหน่วยงานที่ดูแล แต่วัยรุ่นที่มีปัญหาก็ไม่มีใครที่จะเดินเข้าไปรับบริการด้วยตนเอง เรียกได้ว่าบริการมี แต่อยู่อีกฝั่งกับคนที่มีปัญหา ดังนั้น การทำงานจะต้องเน้นการทำงานเชิงรุก และจะต้องมีเครือข่าย โดยเฉพาะชุมชนที่จะต้องพาคนที่มีปัญหาก้าวข้ามสะพานไปให้ถึงบริการเหล่านี้ให้ได้ด้วย ซึ่ง พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 นั้น 5 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ สธ. ศธ. พม. กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงมหาดไทย ที่จะต้องไปออกกฎกระทรวงเพื่อดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ ก็จะต้องไปออกกฎกระทรวงที่จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรในทุกระดับให้มีทักษะ และเอื้อให้เกิดการบริการที่มีคุณภาพ มีระบบสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อลดช่องว่างที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการดำเนินงาน คาดว่า ภายใน 2 เดือนน่าจะมีการออกกฎกระทรวงได้” น.ส.จิตติมา กล่าว
น.ส.จิตติมา กล่าวอีกว่า การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จะต้องเริ่มจากการทำให้เด็กและเยาวชนไทยมีความฉลาดรู้เรื่องเพศ (Sexual Literacy) รู้ตั้งแต่เรื่องของเพศสภาพ การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย รู้เท่าทันตนเองอารมณ์ความรู้สึกเป็นอย่างไร รู้เท่าทันสังคมที่เปลี่ยนไป รู้เท่าทันความสัมพันธ์ นอกจากนี้ เรื่องของทักษะการป้องกันต้องมี คือ ไม่พาตัวเองไปอยู่ในจุดเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์ได้ รวมไปถึงทักษะการขอความช่วยเหลือ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การตะโกนร้องไม่ หรือร้องให้คนช่วย เมื่อถูกบังคับมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่จะต้องทำให้เขาไม่ตีตราตัวเอง เช่น ถูกข่มขืนแล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิด ไม่กล้าที่จะบอก เป็นต้น ความรู้สึกเช่นนี้จะทำให้เขาไม่กล้าร้องขอความช่วยเหลือ และทำให้ถูกข่มขืนซ้ำ และหากหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องเรียนรู้วิธีที่จะมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ ซึ่งการเรียนรู้เรื่องเพศเหล่านี้ไม่ใช่การชี้นำ แต่ต้องทำให้เด็กมีความรู้และเท่าทันที่จะดูแลตัวเองได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่