โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
การตั้งครรภ์ในวัยเรียนถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยปี 2546 การคลอดบุตรในแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี อยู่ที่ร้อยละ 14 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17 ในปี 2556 หรือประมาณ 130,000 กว่าคน โดยหากเป็นแม่วัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปี อัตราการเกิดอยู่ที่ 44.3 ต่อ 1,000 คนที่ตั้งครรภ์
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สาเหตุของการตั้งครรภ์ในวัยเรียน หลัก ๆ นั้น พื้นฐานมาจากความอบอุ่นในครอบครัว หากขาดความรักเมื่อมีคนเข้ามาทำดีด้วย ก็มักจะหลงไปกับคนนั้น โดยเฉพาะผู้หญิงจะเผลอไผลไปกับผู้ชายที่เข้ามาทำดีด้วยได้ง่าย อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย คือ อารมณ์และฮอร์โมน รวมไปถึงการมีสื่อในการช่วยกระตุ้น ทำให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ง่าย
ด้าน นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย สธ. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เปิดเผยว่า สถานการณ์เรื่องนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง โดยจากการเก็บข้อมูลพบว่า พฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของวัยรุ่น มีเพียง 50 - 60% เท่านั้นที่มีการใช้ถุงยางอนามัย นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ เช่น การไม่สอดใส่ก็ไม่ท้อง มีเซ็กซ์เพียงครั้งเดียวไม่เป็นไร การไม่สวมถุงยางอนามัยช่วยให้มีอารมณ์มากกว่า เป็นต้น จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดการตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นเป็นการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และยังทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่พลาดพลั้งไปแล้ว ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ปัญหาคือเมื่อฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ขึ้นระหว่างเรียน ส่วนใหญ่สังคมมักตีตราว่าเป็นผู้หญิงใจแตก ใจเร็วด่วนได้ ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ ทั้งที่บางคนอาจเกิดจากการถูกข่มขืน ไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ แต่เมื่อมี “ผล” เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม การที่สังคมตีตราเช่นนี้ก็ทำให้พวกเธอไม่สามารถแบกหน้าอยู่โรงเรียนเรียนต่อไปได้
นพ.กิตติพงศ์ กล่าวว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นส่วนใหญ่มักเกิดจากความไม่ตั้งใจ มากกว่าที่จะเป็นยินยอมพร้อมใจ และบางส่วนเกิดจากการถูกบังคับ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่อายุยิ่งน้อย มากกว่า 80% ล้วนเกิดจากการถูกบังคับขืนใจทั้งสิ้น ที่สำคัญ เกิดจากการบังคับจากบุคคลใกล้ชิด เช่น เพื่อนผู้ชาย หรือญาติผู้ชายที่ใกล้ชิด ดังนั้น สังคมจึงไม่ควรตีตรา และให้โอกาสแก่เด็กที่พลาดพลั้งเหล่านี้ ไม่ให้เกิดปัญหาต่อไปในสังคม
“หลังวัยรุ่นตั้งครรภ์ขณะเรียน ปัญหาที่มักเจอส่วนใหญ่คืออับอาย ไม่สามารถเรียนต่อได้ หรือบางคนก็ถูกโรงเรียนไล่ออก เพื่อนกดดันจนไม่สามารถเรียนต่อได้ ซึ่งการไม่ได้เรียนต่อเป็นบ่อเกิดให้เกิดปัญหาสังคมตามมา เพราะไม่ได้เรียน ไม่มีอาชีพ ก็ไม่สามารถเลี้ยงเด็กที่เกิดใหม่ให้โตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มี พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2559 ซึ่งกฎหมายระบุชัดว่า สถานศึกษาต้องจัดให้มีการสอนเพศวิถีศึกษาอย่างเหมาะสม จัดหา และพัฒนาผู้สอนวิถีเพศศึกษา ให้คำปรึกษาช่วยเหลือและคุ้มครองวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม และส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม คือแม้จะตั้งครรภ์แต่ต้องได้เรียนต่อ โรงเรียนไม่สามารถไล่เด็กออกได้ ส่วนสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน เช่น เพื่อนไม่ยอมรับ ถูกกดดันต่าง ๆ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่จะต้องแก้ปัญหา สร้างความเข้าใจและทำให้เด็กที่พลาดพลั้งสามารถเรียนต่อได้ ซึ่งตรงนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็จะต้องไปออกกฎกระทรวงให้ชัดเจน” นพ.กิตติพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ศึกษาต้นแบบการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของ จ.นครราชสีมา พบว่า มีการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและสถานพยาบาล ในการสร้างทักษะการใช้ชีวิต โดยเฉพาะทักษะการปฏิเสธ และการสอนเพศศึกษาอย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถช่วยลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลงได้จาก 58% เหลือเพียง 48% และมีการตั้งเป้าจะลดให้เหลือ 20% ในอนาคต ที่สำคัญยังไม่ทอดทิ้งนักเรียนที่ตั้งครรภ์ให้หลุดจากระบบการศึกษา
นางวิชมัด งามจิตร หัวหน้าป้องกันยาเสพติด ครูโรงเรียนบุญวัฒนา กล่าวว่า การให้โอกาสเด็กเป็นสิ่งสำคัญของคนที่เป็นครูและโรงเรียน เพราะแม้เขาจะมีชีวิตที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียว แต่ไม่ใช่ว่าชีวิตเขาจะหยุดไปเลย โรงเรียนและครูต้องให้โอกาสเขามีทางเดินต่อไปได้ เรียกว่าไม่ว่าเด็กจะเป็นอย่างไร จะดีหรือไม่ดี หรือแม้แต่ผิดพลาดตั้งครรภ์ขึ้นมาก็ต้องประคับประคองให้เขาได้ศึกษาต่อ ทั้งนี้ จากการคัดกรองนักเรียนจำนวน 4,015 คน ของโรงเรียนบุญวัฒนาพบว่า มีนักเรียนติดเกม 262 คน คิดเป็น 6.53% น้ำหนักไม่เป็นไปตามเกณฑ์ 235 คน คิดเป็น 5.85% ใช้สารเสพติด เช่น บุหรี่ สุรา กัญชา 135 คน คิดเป็น 3.36% และตั้งครรภ์ 4 คน คิดเป็น 0.10%
“ปัญหาคือเรารู้ช้าว่าเด็กตั้งครรภ์ เพราะเด็กจะกังวลและไม่กล้าบอก มารู้เอาเมื่อช่วงใกล้จะคลอด เพราะมีการขาดเรียน ก็ให้เด็กได้เรียนที่บ้าน มีการเอาการบ้านไปให้ทำ และหลังจากคลอดแล้วก็สามารถกลับมาเรียนต่อได้ โดยปัจจุบันมีนักเรียนที่ตั้งครรภ์ 4 คน สามารถเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้แล้ว 2 คน กำลังเรียน ม.6 อยู่ 1 คน ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาในชั้นเรียนแต่อย่างใด ส่วนอีก 1 คนอยู่ชั้น ม.3 แต่ลาออกกลางคัน โดยเหตุผลส่วนตัว” นางวิชมัด กล่าว
สาเหตุที่โรงเรียนมีนักเรียนตั้งครรภ์น้อย นางวิชมัด ระบุว่า เพราะโรงเรียนมีการเรียนการสอนเพศศึกษาในหลักสูตรและนอกหลักสูตรอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการเรียนการสอนนอกหลักสูตร ซึ่งมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย ทั้งโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุข โครงการโรงเรียนมาตรฐานต้านสิ่งเสพติด ซึ่งทั้งสองโครงการจะให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาด้วย ล่าสุด ยังมีโครงการจับคู่สถานศึกษาและสถานพยาบาล 400 โรงเรียน 400 โรงพยาบาล ในการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา โดยโรงเรียนบุญวัฒนาเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ จึงจับคู่กับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยมีการอบรมครูแกนนำ Harm Prevention เพื่อปรับทัศนคติครูในเรื่องการเรียนการสอนเพศศึกษา และการอบรมนักเรียนแต่ละช่วงชั้น ให้เรียนรู้ตั้งแต่เรื่องของเพศสภาพ การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การป้องกันไม่ให้อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ การมีทักษะปฏิเสธ รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีระบบให้คำปรึกษาในโรงเรียนเรียกว่า “คลินิกเสมารักษ์” โดยครูที่ปรึกษาจะส่งต่อมายังคลินกนี้ในการให้คำปรึกษา โดยรักษาความลับให้รู้น้อยที่สุดในโรงเรียน
สำหรับการสอนเพศศึกษาเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียน นางรชยา พจนจินดา กอร์ตาชา ครูสอนเพศศึกษา ร.ร.บุญวัฒนา เล่าว่า จะต้องสอนให้เหมาะสมตามช่วงวัย อย่าง ม.1 ต้องสอนให้รู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การมีประจเดือนและหน้าอก ม.2 ต้องรู้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์ทางเพศ ซึ่งช่วงชั้นนี้เป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ม.3 ต้องสอนทักษะการปฏิเสธให้เป็น ใช้คำพูดแบบไหนเพื่หลีกเลี่ยงแฟนที่จะขอมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ที่สำคัญ ผู้ชายต้องสอนให้เขามีความรับผิดชอบ รู้จักให้เกียรติเพศตรงข้าม และเพศหญิงที่ต้องทำให้เขามองไปข้างหน้า รู้ว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังมีเพศสัมพันธ์เป็นอย่างไร การตั้งครรภ์ การติดโรค การทำแท้ง ดังนั้น จะต้องสอนให้เขารู้จักหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ให้ได้ และหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
การสอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องเพศอย่างถูกต้องเหมาะสม และมีทักษะในการปฏิเสธ รู้จักยับยั้งชั่งใจได้ ให้เกียรติเพศตรงข้าม จึงเป็นหนทางสำคัญที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียนได้เป็นอย่างดี และเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นไม่ว่าจะสาเหตุใด การทำให้ “พวกเธอ” ไม่หลุดจากระบบการศึกษาออกไป ถือเป็นการให้โอกาสที่สำคัญทั้งต่อตัวนักเรียนเอง และลูกของพวกเธอที่กำเนิดขึ้นมาใหม่ ให้ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่