xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ (เ)ปิดประตู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นิมิตร์ เทียนอุดม

ในขณะที่ประเด็นเรื่องการจัดการปัญหายาเสพติด ดูเหมือนจะมีแสงสว่าง เมื่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องออกมาพูดถึงแนวคิดเรื่องการปลด “ยาบ้า” ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษร้ายแรงประเภท 1 แล้วเปลี่ยนไปเป็น “ยา” เพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค

เรื่อง “ท้องไม่พร้อม” ก็ดูเหมือนจะยังมืดมน เพราะยังไม่เคยมีคนที่เกี่ยวข้องออกมาพูดถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยให้เป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ในหน่วยบริการของรัฐ

จริง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องค่าบริการที่ค่อนข้างสูงในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยหรอกครับ มีอีกหลายเรื่องที่ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมต้องเผชิญ เป็นต้นว่า ที่ไหนบ้างที่ยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย ในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่มีหรือเปล่า ค่าใช้จ่ายจะสูงหรือไม่ ท้องครั้งนี้จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีไหม แล้วถ้าไปยุติการตั้งครรภ์จริง ๆ จะทำมาหากินขึ้นไหม มีวิญญาณเด็กมาเกาะหลังหรือเปล่า

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า แต่ละคนมีวิธีคิดเรื่องบุญ - บาป กันอย่างไร แต่อยากจะขอว่าไม่ว่าเราจะเชื่อแบบไหน ก็ไม่ควรนำความเชื่อของเราไปทับถมความทุกข์ของคนอื่น ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมทุกข์มากอยู่แล้วครับ น้องผู้หญิงคนหนึ่งที่โทรมาปรึกษาเราเรื่องยุติการตั้งครรภ์ บอกว่าเธอเพิ่งได้งานพร้อม ๆ กับทราบว่าตั้งครรภ์ได้ประมาณ 2 เดือนแล้ว แต่อีกข่าวที่มาพร้อมกันก็คือแฟนของเธอติดเชื้อเอชไอวีตอนนี้ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล และพ่อกับแม่ของเธอไม่ทราบเรื่องที่เธออยู่กินกับแฟนแล้ว

“หนูอยากเริ่มต้นชีวิตใหม่” เธอบอกกับเรา เมื่อตัดสินใจว่าจะยุติการตั้งครรภ์ แม้ว่าจะกังวลเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ด้วย “ทำแท้งเรียบร้อยแล้วหนูจะไปตรวจเลือด ถ้าเป็นก็รักษา หนูจะมีชีวิตต่อไปให้ได้” ผมคิดว่า เธอเป็นผู้หญิงที่เด็ดเดี่ยวและมีความมั่นใจมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงทุกคนจะเด็ดเดี่ยวและมั่นใจได้อย่างเธอ อย่างน้องผู้หญิงรายล่าสุดที่เข้ามาปรึกษากับเรา เธอยังอยู่ในวัยเรียน ประจำเดือนไม่มาตามวันเวลาที่ควรจะมา ระหว่างรอตรวจการตั้งครรภ์ เธอถามเรื่องการทำแท้งเพราะไม่พร้อมจะเลี้ยงดูอีกหนึ่งชีวิต แต่คำถามของเธอไม่ได้กังวลเรื่องความปลอดภัย เธอกังวลว่า จะบาปไหม จะทำมาหากินเจริญรุ่งเรืองหรือเปล่า เพราะได้ยินคนอื่นพูดกันตลอดว่า การทำแท้งจะทำให้ทำมาหากินไม่ขึ้น และจะมีวิญญาณเด็กเกาะหลัง

ท้ายที่สุด เธอบอกว่า ถ้าท้องขึ้นมาจริง ๆ คงจะหนีไปที่ไหนสักพัก ที่ไหนซึ่งเธอยังไม่รู้ว่าคือที่ ไหนจริง ๆ รู้แต่ว่าต้องหนีไปตั้งหลักก่อน

ความลังเลใจของเธอเกิดจากอะไร ถ้าไม่ใช่เรื่องกลัวบาป? แต่หากเธอท้องและทอดระยะเวลาการตัดสินใจจัดการออกไป ความยุ่งยากในการจัดการจะเพิ่มมากขึ้น เช่น ถ้าตัดสินใจจะทำแท้ง หากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์จะหาสถานที่ทำค่อนข้างยาก และหากอายุครรภ์เกิน 24 สัปดาห์ไปแล้ว จะไม่มีหน่วยบริการใด รับยุติการตั้งครรภ์

ทั้งนี้...ไม่นับเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะมากขึ้นตามอายุครรภ์ และไม่นับกรณีที่เธออาจจะหาทางออกด้วยการซื้อยาทางอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นไปได้ว่าเธออาจจะไม่ได้ยาหรือได้ยาปลอม

ทั้งหมดนี้ ใครจะรับผิดชอบครับ

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 (1) (2) และข้อบังคับของแพทยสภา พ.ศ. 2548 ให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ในกรณีที่การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายหรือใจของผู้หญิง กรณีทารกในครรภ์มีความพิการรุนแรง รวมถึงกรณีการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืนกระทำชำเรา ส่วนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 - 284 ก็อนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ในกรณีที่การตั้งครรภ์นั้นมาจากเหตุล่อลวง บังคับ หรือข่มขู่ เพื่อทำอนาจาร สนองความใคร่

ผมยังยืนยันว่า ความเชื่อไม่ใช่เรื่องผิดตราบเท่าที่ความเชื่อของเราไม่ได้ไปทำร้ายใคร ในเมื่อกฎหมายได้เปิดช่องให้มีการยุติการตั้งครรภ์ได้ เราเองก็ไม่ควรนำความเชื่อของเราไป “ปิด” ช่อง นั้นเสีย

เพื่อให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ได้ทำแท้งอย่างปลอดภัย ช่วยกันเปิดประตูทางออกให้ผู้หญิงกันเถอะครับ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น