xs
xsm
sm
md
lg

ไขกลเม็ด “เมืองลับแล” ล้อมรั้วชุมชนกั้นยาเสพติด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

การ “ป้องกัน” เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะว่า หากมีการป้องกันที่ดีพอ ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น หากเปรียบกับโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ก็เทียบได้กับการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค หากสามารถทำได้ดีก็จะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยได้ เช่นเดียวกันกับปัญหาการระบาดของยาเสพติด หากสามารถป้องกันได้ก็จะช่วยปกป้องคนในชุมชนไม่ให้ข้องเกี่ยวกับยาเสพติด ปัญหาการระบาดในพื้นที่ย่อมหมดไป โดยอาจไม่ต้องใช้วิธีการสุดท้ายคือการปราบปราม

ซึ่งจากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส.ที่พาทีมสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ เพื่อดูงานการปกป้องชุมชนให้พ้นจากปัญหายาเสพติดด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ก็ต้องยอมรับว่ากระบวนการ “ล้อมรั้ว” เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดนั้นเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหายาเสพติดจริงๆ

สอดคล้องกับข้อมูลจาก นายวีระชัย ภู่เพียงใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ระบุว่า การแพร่ระบาดส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาชีพรับจ้าง 38% นักเรียนนักศึกษา 16% และกลุ่มคนว่างงาน 13% ที่เป็นปัญหาคือ ยาบ้าพบมากถึงร้อยละ 95 สารระเหยและกัญชาร้อยละ 5 พื้นที่ที่มีการค้ายาเสพติดคือ อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ลับแล และ อ.พิชัย โดยมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มนักค้านอกพื้นที่ด้วย แต่จากการดำเนินการป้องกัน บำบัด และปราบปรามปัญหายาเสพติด ส่งผลให้สถิติความผิดในคดียาเสพติดทั้งการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครองเพื่อจำหน่ายลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนสำคัญคือการป้องกันปัญหายาเสพติดในพื้นที่ โดยพื้นที่ตำบลหาดสองแคว อ.ตรอน และตำบลคอรุม อ.พิชัย เป็นพื้นที่ที่มีการดำเนินงานป้องกันปัญหายาเสพติดได้เป็นอย่างดี

นายผจญ พูลด้วง นายก อบต.คอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เล่าว่า กระบวนการล้อมรั้วป้องกันยาเสพติดในพื้นที่ อาศัยหลักการ 4 สร้างคือ 1.สร้างคน คือสร้างให้เป็นคนดีก่อน จึงป้องกันตนเองได้ โดยอาศัยการสร้างกิจกรรมที่สร้างสรรค์โดยคนในชุมชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนได้มีการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกคือ การจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนขึ้น และให้มาร่วมกับผู้บริหารของตำบลในการนำเสนอกิจกรรมและแผนงานต่างๆ 2.สร้างงาน ตรงนี้จะสืบเนื่องต่อมาจากการสร้างคน คือสภาเด็กและเยาวชนได้มีการสร้างกิจกรรมที่สามารถสร้างรายได้ได้ด้วย เช่น ศูนย์ข้าว โดยดึงเด็กมามีส่วนร่วมในการเพาะกล้าต้นข้าว ทำนา โดยมีรายได้อยู่ที่ประมาณวันละ 200-300 บาท หรืออย่างการตั้งวงดนตรี เมื่อมีแขกมาก็จะเกิดการจ้างงานไปทำการแสดง เป็นต้น

3.สร้างโอกาส คือให้มีโอกาสในการได้แสดงความคิดเห็น ส่วนร่วมในกระบวนการทำงานร่วมกับคณะบริหารเทศบาลคอรุม ถือเป็นกระบวนการสร้างคุณภาพของคน เปิดโอกาสให้มีงานทำ มีอาชีพสร้างรายได้ และ 4.สร้างสังคมอุดมปัญญา คือการบอกต่อสิ่งดี ที่เป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชน เป็นการสร้างปัญญาให้ทุกคนร่วมกัน เช่น การจัดอบรมวิธีป้องกันยาเสพติด รู้พิษภัยยาเสพติด ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร หรือเรื่องการติดเกม เป็นต้น

การปราบปรามยาเสพติดเป็นวิธีสุดท้ายในการแก้ไขปัญหา แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำให้คนในชุมชนรู้จักวิธีป้องกันตัวเองไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดให้ได้ นั่นคือต้องสร้างกระบวนการล้อมรั้วให้แก่ชุมชนตั้งแต่แรก ทุกคนก็จะรู้จักป้องกันตัวเองได้ ไม่เฉพาะแค่เรื่องยาเสพติดเท่านั้น แต่รวมไปถึงอบายมุขอื่นๆ ด้วย อย่างการดึงเด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ก็เป็นการดึงเขาเข้ามาอยู่ในสายตาของเรา สามารถควบคุมดูแลได้ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพราะมีกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ ป้องกันไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด” นายก อบต.คอรุม กล่าว

อีกหนึ่งตำบลตัวอย่าง คือ ต.หาดสองแคว โดย นายพงษ์เทพ ชัยอ่อน นายก อบต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ เล่าว่า กระบวนการล้อมรั้วเพื่อป้องกันของชุมชนคือ การดูแลตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต ให้ทุกคนได้รับการพัฒนาและดูแลอย่างดี ช่วยให้มีทักษะชีวิตที่ดี ก็ป้องกันปัญหายาเสพติดได้ ซึ่งการดำเนินงานจะเริ่มตั้งแต่การดูแลสุขภาพแม่ตั้งครรภ์ ให้เด็กมีโอกาสเกิดอย่างสมบูรณ์ ไม่ติดเชื้อ ไม่พิการ ไม่เป็นภาระของสังคม ซึ่งจากการดำเนินงานมา 10 ปี พบว่า ไม่มีเด็กทารกแรกเกิดในพื้นที่คนใดที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์คือ 2,500 กรัม หรือเกิดมาพิการเลย เมื่อเข้าสู่การดูแลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก็จะช่วยดูแลให้เด็กมีทักษะในการอยู่ในสังคมดูแลตนเองได้ และเมื่อเข้าสู่โรงเรียน อบต.ก็มีงบให้โรงเรียนจัดกิจกรรมที่ต้องเชื่อมโยงกับชุมชนหรือใช้หมู่บ้านเป็นฐาน และดึงเด็กให้มีกิจกรรมร่วมกับชุมชนทั้งวันเสาร์ อาทิตย์ และช่วงปิดภาคเรียน ทำให้เด็กใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และอยู่ในการดูแลของเรา

ในพื้นที่มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนตำบลหาดสองแควเช่นกัน เพื่อให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดย อบต.มีงบให้ดำเนินการ โดยให้เด็กได้ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสำรวจปัญหา และมีส่วนร่วมในการดูแลประชาชนในพื้นที่ เรียกว่าเรียนรู้ความเป็นบัณฑิต ทำให้เด็กมีทักษะมากกว่าเด็กในเมือง และนำความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้เหล่านี้มาสอนน้องๆ ในรุ่นต่อๆ ไป ที่สำคัญเด็กคนไหนที่อยากทำงานร่วมกับท้องถิ่นก็จะเปิดโอกาสให้ได้เข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวด้วย การดำเนินการเหล่านี้ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้สังคมและชุมชน ช่วยป้องกันไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาระบาดในพื้นที่ได้

น.ส.ชลธิกาญจน์ กัลยา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมทำกิจกรรมกับชุมชนมาตั้งแต่เด็ก และได้มีโอกาสเข้ามาช่วยการทำงานของ อบต.ด้วย ซึ่งการปลูกฝังการดูแลและพัฒนาทักษะต่างๆ ให้เยาวชนตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงเสียชีวิตเช่นนี้ ถือเป็นการปลูกฝังค่านิยมรักบ้านเกิดให้แก่เด็กและเยาวชนด้วย ในการที่จะต้องดูแลบ้านเกิดของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น มีความรับผิดชอบ โดยตนก็ตั้งใจที่จะทำงานอยู่ในพื้นที่ต่อไป ซึ่งจะต่างจากวัยรุ่นคนอื่นๆ ที่คิดว่าควรไปเติบโตในเมือง แต่จากการปลูกฝังความเข้มแข็งของชุมชน ทำให้ตนมองว่าไม่มีใครดูแลชุมชนเราได้ดีเท่าพวกเรา จึงตั้งมั่นว่าจะเข้ามาช่วยดูแลชุมชนต่อไป

การดำเนินการของทั้ง 2 ชุมชน จึงเป็นเครื่องการันตีว่า หากมีการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ถือเป็นแนวทางการป้องกันปัญหายาเสพติดที่ได้ผลดีที่สุดแนวทางหนึ่ง!!


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น