xs
xsm
sm
md
lg

ไขปม “ป่องวัยรุ่น” พบเลียนแบบเพื่อน-สื่อ ก๊งเหล้า คนใกล้ตัวข่มขืน ดีเดย์ กม.ป้องกัน 29 ก.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดีเดย์ พ.ร.บ. ป้องกันท้องวัยรุ่น 29 ก.ค. นี้ ปัดส่งเสริมเด็กป่องก่อนวัย แต่เปิดช่องวัยรุ่นท้องเรียนต่อได้ เข้าถึงบริการสุขภาพ รับการสนับสนุนการเลี้ยงลูก ขณะที่ผลสำรวจพบเลียนแบบเพื่อนและสื่อ ดื่มเหล้า ถูกคนใกล้ชิดข่มขืน ต้นตอทำท้องวัยรุ่น ด้านเครือข่ายเด็กเยาวชน ชี้ ครูไม่สอนเพศศึกษา พ่วงมีทัศนคติไม่ดี

วันนี้ (27 ก.ค.) นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการแถลงข่าว “พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น : เด็กเยาวชนได้ประโยชน์จริงหรือ” ว่า พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะบังคับใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 29 ก.ค. นี้ โดยจะเน้นเรื่องการให้สิทธิแก่วัยรุ่น 5 ประการ คือ 1. สถานศึกษาต้องจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา และผู้สอนเรื่องนี้อย่างเหมาะสม 2. สถานบริการต้องจัดบริการและให้ความรู้ด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และส่งต่อให้วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ได้รับสวัสดิการสังคม 3. สถานประกอบกิจการต้องให้ความรู้และส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 4. การจัดสวัสดิการสังคมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และ 5. ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่น

นพ.กิตติพงศ์ กล่าวว่า ต่อจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สธ. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงมหาดไทย จะต้องไปดำเนินการออกกฎกระทรวงเพื่อขับเคลื่อนงานตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว พร้อมกันนี้ ยังต้องตั้งคณะกรรมการร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กรมอนามัยเป็นเลขานุการ เพื่อจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์คณะรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการหารือกันครั้งแรกในวันที่ 22 ส.ค. นี้ โดยในส่วนของยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้น จะเป็นแผนการทำงานระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2560 - 2569) เพื่อเน้นคุ้มครองสิทธิวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม และลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ซึ่งเมื่อดูจากจำนวนทารกที่คลอดในแต่ละปีอยู่ที่ 700,000 คน ในจำนวนนี้เป็นทารกที่เกิดจากแม่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ถึง 120,000 คน และในจำนวนแม่วัยรุ่นนี้ ยังพบว่า เกิดจากแม่อายุน้อยกว่า 15 ปี ถึง 3,500 คน อัตราการเกิด 0.6 ต่อ 1,000 คน ที่ตั้งครรภ์ ตรงนี้จะลดให้เหลือ 0.5 ส่วนวัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปี ตั้งเป้าลดอัตราการเกิดให้เหลือ 25 ต่อ 1,000 คน ที่ตั้งครรภ์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 44.3 ต่อ 1,000 คนที่ตั้งครรภ์

“ยังมีความเข้าใจผิดว่า พ.ร.บ. นี้ จะส่งเสริมให้เด็กตั้งครรภ์ในวัยเรียน แต่จริง ๆ ไม่ใช่ เพราะจากการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่า ส่วนใหญ่ที่ตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนใกล้ชิดในครอบครัว ยิ่งอายุน้อยยิ่งถูกล่วงละเมิดมาก แต่ไม่ได้มีการแจ้งความเพราะการแจ้งความ และไม่ปรากฏเป็นข่าวเหมือนกับการถูกข่มขืนซ้ำ ทั้ง ๆ ที่ปัญหาจริงอยู่ตรงนี้ ดังนั้น พ.ร.บ. นี้ ออกมาเพื่อช่วยเหลือเด็กเหล่านี้เพื่อให้พวกเขามีที่ยืนในสังคม ป้องกันวงจร โง่ จน เจ็บ เพราะที่ผ่านมา พบว่า เด็กที่ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ส่วนใหญ่ก็เกิดจากแม่วัยรุ่นเช่นกัน” นพ.กิตติพงศ์ กล่าว

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นต่อ พ.ร.บ. ดังกล่าวในกลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวช. ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา จำนวน 3,053 คน ในเดือน ก.ค. พบว่า สาเหตุของการตั้งครรภ์อันดับหนึ่ง คือ เลียนแบบเพื่อนและสื่อ ร้อยละ 73.9 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 73 ไม่ได้พักอยู่กับผู้ปกครอง ร้อยละ 72.7 อย่างไรก็ตาม พบว่า ร้อยละ 65.4 ยอมรับได้หากเพื่อนตั้งครรภ์ระหว่างเรียน ร้อยละ 28.4 รับไม่ได้ และร้อยละ 6.2 ไม่แน่ใจ ทั้งนี้ ร้อยละ 84 ไม่เคยทราบมาก่อนว่า กรมอนามัยมีคลินิกวัยรุ่นอยู่ ทำให้มีผู้ไปใช้บริการเพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้น ประการสำคัญ คือ วัยรุ่นร้อยละ 87.6 ต้องการให้มีหมายเลขสายด่วน ร้อยละ 81 ต้องการให้เปิดช่องทางการปรึกษาผ่านอีเมล ไลน์ เฟซบุ๊ก ส่วนการปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่คลินิกนั้นเป็นตัวเลือกสุดท้าย ร้อยละ 66.7 ทั้งนี้ เป็นเพราะปัญหาเรื่องทัศนคติของผู้ใหญ่เอง

ด้าน น.ส.ภัทรวดี ใจทอง รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการระดมความเห็นของ 11 เครือข่ายเด็กและเยาวชน พบปัญหาครูไม่ยอมสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียน และมีทัศนคติที่ไม่ดี เป็นการชี้โพรงให้กระรอก มองว่า เด็กที่มาปรึกษาคือตัวปัญหา ดังนั้น อยากให้ครูปรับทัศนคติตรงนี้ และให้มีแกนนำเด็กในโรงเรียนเพื่อคอยให้คำปรึกษากับเพื่อนที่ไม่กล้าปรึกษาครู คล้ายกับคลินิกวัยรุ่น มีนักจิตวิทยาในโรงเรียน ให้แยกการสอนเรื่องเพศศึกษาออกจากวิชาสุขศึกษา เพิ่มทักษะการใช้ชีวิต การเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ในกรณีที่เด็กตั้งครรภ์แล้ว ควรให้โอกาสได้เรียนต่อ ไม่ถูกบังคับให้ต้องออกจากการรับการศึกษา หรือเปิดทางเลือกให้ได้เรียนส่วนบุคคล เช่น ไปสอนตัวต่อตัวที่บ้าน หรือนัดสอบในภายหลัง นอกจากนี้ การเข้ารับบริการในสถานพยาบาล อยากให้มีการปกปิดความลับ ไม่ต้องลงบันทึกประวัติ หรือมีศูนย์รับให้คำปรึกษาวัยรุ่นที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย สนับสนุนพ่อแม่วัยใสให้สามารถดูแลลูกได้อย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมการมีงานทำโดยไม่ถูกกดค่าแรง




ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น