xs
xsm
sm
md
lg

In Pics&Clips:มาเลเซียจับมือสิงคโปร์ลงนาม “โปรเจกต์รถไฟหัวกระสุนเร็ว 300 กม./ชม.” เชื่อม 2 ชาติเข้าหากัน ขนร่วมพันคนต่อเที่ยวในเวลาแค่ 90 นาที พร้อมเปิดใช้งานจริงปี 2026

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – เมื่อวานนี้(19 ก.ค)นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์ และนายกรัฐมนตรี นาจีบ ราซัคแห่งมาเลเซียได้เป็นประธานการลงนาม MOU โปรเจกต์รถไฟฟ้าความเร็วสูง HSR ระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์มูลค่า 15 พันล้านดอลลาร์ ในระยะเส้นทาง 350 กม. ที่มีความเร็วถึง 300 กม./ชม. ลดระยะเวลาการเดินทางจาก 11 ชม. เหลือแค่ 90 นาที เชื่อม 2 ประเทศเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรกที่คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ทันภายในปี 2026 ด้วยอัตราค่าโดยสารที่ต่ำกว่าตั๋วเครื่องบิน

เอเอฟพีรายงานเมื่อวานนี้(19 ก.ค)ว่า ในการลงนาม MOUรถไฟฟ้าความเร็วสูงนานาชาติ HSR ผู้นำมาเลเซียและสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรี นาจีบ ราซัค และนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ได้ร่วมเป็นประธานในระหว่างที่ตัวแทนระดับสูงของทั้งสองชาติลงนามข้อตกลงในเขตพิเศษปูตราจายาในวันอังคาร(19 ก.ค)

ทั้งนี้เขตปูตราจายาเป็นที่ตั้งสำนักงานฝ่ายบริหารของรัฐบาลมาเลเซีย ถือเป็นเมืองใหม่ตั้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ กำเนิดตามแนวคิดการพัฒนาของอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด มีพื้นที่ราว 4,932 เฮกเตอร์

ซึ่งเอเอฟพีชี้ว่า การลงนามความเข้าใจของทั้ง 2 ชาตินี้เป็นการปูทางเพื่อนำไปสู่การหารือในรายละเอียดของโครงการรถไฟหัวกระสุนมาเลเซีย-สิงคโปร์ต่อไปในอนาคต และสำหรับรายละเอียดการเปิดประมูลสำหรับชาติต่างๆที่ให้ความสนใจในการก่อสร้างในอนาคต

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ต่างคาดว่า รถไฟความเร็วสูงเส้นทางใหม่นี้จะสามารถเปิดให้บริการได้อย่างเร็วที่สุดภายในปี 2026 โดยการลงนาม MOU ในวันอังคาร(19 ก.ค)นี้เกิดมาจากที่เมื่อครั้งผู้นำทั้งสองชาติได้เคยออกแถลงการณ์ร่วมในปี 2013 ถึงโปรเจกต์การสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 2 ประเทศเข้าหากันในขณะนั้น

โดยสื่อแชนเนลนิวส์เอเชียรายงานเพิ่มเติมว่า โปรเจกต์นี้ที่มีมูลค่าถึง15 พันล้านดอลลาร์ ได้เชื่อมเมืองหลวงของมาเลเซียเข้ากับเมืองหลวงของสิงคโปร์ โดยคาดว่าเส้นทางจะมีความยาว 350 กม. โดยมีระยะทางวิ่งราว 335 กม ในฝั่งมาเลเซีย และอีก 15 กม บนเกาะสิงคโปร์ บนระบบเดินทางแบบรางคู่ที่สามารถวิ่งสวนกันได้โดยไม่ต้องรอเวลาสับหลีกทาง และอีกทั้งตลอดเส้นทางการเดินทางจะมีสถานีจอดด้วยกันทั้งหมด 8 สถานี คือสิงคโปร์ ยะโฮร์บาห์รู (Iskandar Puteri) บาตูปาฮัต (Batu Pahat) มูอาร์(Muar) Ayer Keroh สเรมบัน(Seremban) ปูตราจายา(Putrajaya) และกรุงกัวลาลัมเปอร์

ซึ่งในปัจจุบันนี้รถไฟที่ให้บริการในเส้นทางนี้จากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังสิงคโปร์ต้องใช้เวลาการเดินทางร่วม 11 ชม. และสำหรับเส้นทางบกนั้นมีสภาพการจราจรที่ติดสาหัส แต่ทว่าในการเดินทางด้วยรถไฟหัวกระสุนในระดับความเร็ว 300 กม./ชม. จะสามารถลดเวลาการเดินทางได้เหลือแค่ 90 นาทีเท่านั้น

แชนเนลนิวส์เอเชียรายงานต่อว่า และโดยเฉพาะในระยะการเดินทางระหว่างสิงคโปร์ และยะโฮร์บาห์รู คาดว่าจะใช้เวลาเพียงแค่ 10-15 นาทีเท่านั้น ส่วนด่านการตรวจค้นเข้าเมืองและศุลกากร คาดว่าจะมีการตั้งจุดตรวจที่สิงคโปร์ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และยะโฮร์บาห์รูเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับการเดินทางของผู้โดยสาร

และในด้านจำนวนของตู้รถไฟฟ้าหัวกระสุน สื่อเอเชียรายงานต่อว่า แต่ละขบวนจะมีตู้โดยสารจำนวน 10 ตู้ ที่คาดว่าน่าจะสามารถให้บริการผู้โดยสารได้จำนวนมากถึง 100 คนต่อตู้ ซึ่งเท่ากับว่าจะสามารถขนผู้โดยสารได้มากถึงพันคนต่อเที่ยวในเวลาเพียงแค่ 90 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ในส่วนค่าโดยสารรถไฟ มีรายงานว่าจะเป็นไปตามการกำหนดของบริษัทผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการเดินรถ แต่ทว่าแชนเนลนิวส์เอเชียชี้ว่า ค่าโดยสารน่าจะมีราคาต่ำกว่าราคาของตั๋วเครื่องบินเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการให้มีจำนวนมากขึ้น แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สิงคโปร์ให้ความเห็น ส่วนในที่ตั้งของโรงจอดรถไฟและที่ซ่อมบำรุงจะตั้งอยู่ในมาเลเซีย

แชนเนลนิวส์เอเชียรายงานอีกว่า และในส่วนความรับผิดชอบการก่อสร้างโครงการนี้ พบว่ารัฐบาลของทั้งสองชาติตกลงที่จะรับผิดชอบก่อสร้าง รวมไปถึงการบำรุงรักษาโปรเจกต์รถไฟฟ้าความเร็วสูง HSR เฉพาะในส่วนที่ตั้งอยู่ในดินแดนของตัวเอง โดยบริษัท MyHSR คอร์โปเรชัน รับผิดชอบในส่วนที่ตั้งอยู่ในมาเลเซีย และสำนักงานขนส่งภาคพื้นแห่งสิงคโปร์เป็นผู้รับผิดชอบจัดการในส่วนที่อยู่บนเกาะสิงคโปร์ รวมไปถึง จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมสองชาติรับผิดชอบโปรเจกต์ระดับข้ามชาตินี้ที่อาจมีผลกระทบเรื่องปัญหาการให้บริการข้ามพรมแดน

และในการแถลงข่าวในวันลงนามความเข้าใจข้อตกลง MOU ทั้งนายกฯสิงคโปร์และมาเลเซียต่างเห็นพ้องถึงความสำคัญในกระบวนการเปิดข้อเสนอการลงทุนจากต่างชาติ หรือ Tender Offer ให้มาพัฒนาโปรเจกต์รถไฟความเร็วสูง HSR นี้ว่า ต้องมีความยุติธรรมและโปร่งใสเป็นหลัก เพราะโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ และมีหลายประเทศต่างให้ความสนใจขอเข้าร่วม เช่น จีน ญี่ปุ่น และบางชาติในยุโรป

แต่อย่างไรก็ตามในส่วนรายละเอียดในสัดส่วนการแบ่งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในโปรเจกต์นี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อับดุล ราห์มัน ดาห์ลัน(Abdul Rahman Dahlan)ได้ปฎิเสธที่จะเปิดเผยในรายละเอียดกับแชนเนลนิวส์เอเชีย โดยอ้างว่าต้องการให้ข้อตกลงต่างๆเสร็จสิ้นเสียก่อน






ภาพการจราจรแออัดบนสะพานเชื่อมระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2014








กำลังโหลดความคิดเห็น