xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-พม่าทำยุทธศาสตร์แม่สอด-เมียวดี ขยายการค้าการลงทุนสองประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไทย-พม่าตกลงใช้ “แม่สอด-เมียวดีโมเดล” ขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ระหว่างกัน “อภิรดี” รับลูก เตรียมจัดมหกรรมการค้าชายแดนแม่สอด พร้อมขอพม่าแก้ปัญหาตรวจใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าล่าช้า และพิจารณาให้ไทยเปิดสาขาธนาคารได้เพิ่มขึ้น

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-พม่า ครั้งที่ 7 กับ ดร.ทัน มินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่า ทั้งสองประเทศได้เห็นชอบในการผลักดันยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยใช้แม่สอด-เมียวดีโมเดล ในการขยายความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างกันซึ่งทั้งสองประเทศได้กำหนดแผนที่จะดำเนินการ รวมถึงการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นเพื่อผลักดันให้ยุทธศาสตร์เกิดผลโดยเร็ว

ทั้งนี้ ในการดำเนินการตามแม่สอด-เมียวดีโมเดล ได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนแม่สอด-เมียวดีอีกหนึ่งเท่าตัว การจัดตั้งสภาธุรกิจระดับท้องถิ่น การตั้งคณะกรรมการร่วมการค้าชายแดนไทย-พม่า การพัฒนาระบบลอจิสติกส์ชายแดน การพัฒนาศูนย์กลางการให้บริการด้านค้าปลีก ค้าส่ง และธุรกิจบริการ (สุขภาพ ท่องเที่ยว และการศึกษา) ในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด-เมียวดี การจัดตั้งกลไกเพื่อส่งเสริมการลงทุนและบริหารจัดการสินค้าเกษตรตามแนวชายแดน การอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายแรงงาน การส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะกิจกรรมท่องเที่ยวทางถนน การสถาปนาความสัมพันธ์เมืองคู่มิตร (Sister City) ระหว่างแม่สอดและเมียวดี

“ทั้งสองประเทศจะเร่งการปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ตกลงกันไว้โดยเร็ว เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความร่วมมือในด้านต่างๆ ซึ่งในส่วนของไทย กระทรวงพาณิชย์จะจัดมหกรรมการค้าชายแดนแม่สอด ครั้งที่ 2 ภายในปีนี้ เพื่อกระตุ้นการค้าบริเวณชายแดนไทยกับพม่า และเพื่อเป็นการเริ่มดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว” นางอภิรดีกล่าว

สำหรับการค้าในภาพรวมระหว่างไทย-พม่า ทั้งสองประเทศได้ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเป็น 10,000-12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560

นางอภิรดีกล่าวว่า ในด้านการแก้ไขปัญหาการค้าชายแดน พม่าได้รับจะปรับปรุงขั้นตอนการตรวจสอบใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ ATIGA Form D ณ ด่านชายแดน เพื่อให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปพม่าภายใต้กรอบอาเซียนสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีได้รวดเร็วขึ้น และพม่าจะให้ความสำคัญต่อธนาคารไทยเป็นลำดับแรกในกรณีที่จะมีการออกใบอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติเปิดสาขาธนาคารในพม่าได้เพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังตอบรับจะจัดให้มี Thai Desk เพื่อให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทยในพม่า รวมทั้งกำลังปรับปรุงกฎหมายการลงทุนเพื่อให้สิทธินักลงทุนต่างชาติเท่าเทียมกับนักลงทุนพม่า และปรับปรุงกฎหมายการจัดตั้งธุรกิจซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้

ขณะเดียวกัน ไทยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ CLMVT ในการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนที่สามารถเชื่อมต่อไปยังจีน อินเดีย และตลาดโลก ซึ่งจะมีการจัดตั้ง CLMVT Business Council และการพัฒนา Knowledge Tank เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเศรษฐกิจที่ทันสมัยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ในการหารือครั้งนี้พม่าได้แสดงความชื่นชมต่อโครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ YEN-D ที่ทำให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้รู้จักคุ้นเคยและนำไปสู่การขยายโอกาสทางธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งไทยได้แจ้งพม่าว่าพร้อมที่จะช่วยพัฒนาบุคลากรในสาขาที่พม่าสนใจ โดยล่าสุดเอกชนได้เชิญชวนให้พม่าส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการของพม่าเข้าร่วมหลักสูตรความร่วมมือผู้บริหารตลาดทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องตลาดทุนและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น