xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯไทย-ลาว ถกต่อยอดความร่วมมือทุกสาขา พร้อมลงนาม MOU ด้านแรงงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกฯ ลาว นำผู้แทน 13 กระทรวงเยือนไทย หารือ “ประยุทธ์” ปูทางความร่วมมือก่อนประชม JC-JCR เห็นพ้องผู้นำ 2 ชาติ คุยกันโดยตรง ลดความระแวง ใช้เป็นเส้นเขตแดนความร่วมมือ ศึกษาบริหารจัดการน้ำแม่โขง เล็งสร้างจุดเชื่อมโยง ศก. ให้ความสำคัญ CLMVT เน้นทางเชื่อมโยงชาติอื่น ๆ ขอบคุณลาวนำ ศก. พอเพียง ไปปฏิบัติ เชื่อ ลาวมีบทบาทนำอาเซียนเป็นสมาคมแท้จริง ก่อนลงนาม MOU ความร่วมมือแรงงาน

วันนี้ (6 ก.ค.) นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หารือข้อราชการกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล เพื่อแนะนำตัวในฐานะนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียน ที่นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เยือนอย่างเป็นทางการ ภายหลังจากเข้ารับตำแหน่ง และเป็นการเยือนไทยครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี

ในการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้นำคณะผู้แทนระดับรัฐมนตรีจาก 13 กระทรวงสำคัญที่กำกับดูแลงานด้านการต่างประเทศ สังคม วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว แรงงาน ความมั่นคง การค้าและการลงทุน พลังงาน การศึกษา และการคมนาคมขนส่ง ร่วมคณะ อันแสดงให้เห็นว่า ลาวให้ความสำคัญกับการเยือนไทยครั้งนี้

ภายหลังการหารือ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปการหารือดังนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และคณะรัฐมนตรีลาว ซึ่งนายกรัฐมนตรีลาว แสดงความรู้สึกเป็นเกียรติและขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

ด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ลาว กับไทย มีความใกล้ชิดกันมายาวนาน ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ มีความแน่นแฟ้นและลึกซึ้งในทุกมิติและทุกระดับ โดย นายกรัฐมนตรีลาว เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกันในช่วงปัจจุบันอยู่ในระดับที่ดีมาก และนับว่า มีความใกล้ชิดกันสูงสุด โดยเชื่อว่า การหารือในวันนี้จะเป็นการปูทางความร่วมมือระหว่างกัน ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ (JC) ไทย - ลาว ครั้งที่ 21 และการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (JCR) ไทย - ลาว ครั้งที่ 3 ที่ฝ่ายลาวจะเป็นเจ้าภาพ

ด้านการเมืองและความมั่นคง นายกรัฐมนตรี เห็นว่า มีความก้าวหน้าในหลายประเด็น และเห็นพ้องที่จะเปิดช่องทางให้ผู้นำสองประเทศสามารถพูดคุยระหว่างกันโดยตรง เพื่อสร้างความใกล้ชิด และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสองประเทศ ลดความหวาดระแวงในเรื่องที่เป็นอุปสรรคระหว่างกัน อาทิ เรื่องเขตแดน ซึ่งไทยสนับสนุนให้ใช้กลไกระดับทวิภาคีที่มีอยู่ เพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดน โดยย้ำว่า ไทยมีนโยบายที่มิให้นำเรื่องเขตแดนมาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา แต่ให้เป็นเส้นเขตแดนแห่งความร่วมมือ โดยในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ผลการดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย - ลาว มีความคืบหน้า และมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เสนอให้เริ่มทำการปักปันเขตแดนในจุดที่สองประเทศตกลงกันได้แล้ว เพื่อช่วยส่งเสริมการไปมาหาสู่ระดับประชาชนให้มากขึ้น

นอกจากนี้ มีการหารือเกี่ยวกับการเปิดจุดผ่านแดน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ศึกษาจุดผ่านแดนที่สองฝ่ายเห็นว่ามีศักยภาพก่อน ตามลำดับความสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อม

ความร่วมมือแรงงาน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวขอบคุณที่รัฐบาลไทยให้การดูแลแรงงานลาวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นอย่างดี ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แรงงานลาว ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสองประเทศ ปัจจุบันรัฐบาลไทยกำลังเร่งจัดระเบียบแรงงานให้เป็นระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ามาทำงานของแรงงานจากลาว ทั้งรูปแบบแรงงานรายวัน รายปี และแรงงานตามฤดูกาล ทั้งนี้ เพื่อให้แรงงานดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง และได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ทางการฝ่ายลาว เพิ่มจุดพิสูจน์สัญชาติ เพื่อการป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างด้วย

ทั้งนี้ สองฝ่ายยินดีที่วันนี้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานฉบับใหม่ ซึ่งจะเป็นแนวทางการเสริมสร้างประสิทธิภาพในความร่วมมือด้านแรงงานต่อไป โดยเห็นพ้องให้เร่งเจรจาเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลง (Agreement) ว่าด้วยการจ้างงานให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

ด้านพลังงาน นายกรัฐมนตรีชื่นชมนโยบาย “แบตเตอรีแห่งเอเชีย” ของลาว ซึ่งจะช่วยในการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้ไทย และสนับสนุนความเชื่อมโยงด้านพลังงานกับลาว รวมถึงการลงทุนด้านพลังงานของภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนไทยในลาว

ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ ไทย และลาว ในฐานะประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เห็นพ้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสองประเทศไปศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง และนำมารายงานแก่รัฐบาลของสองประเทศ เพื่อจะได้นำไปหารือแนวทางการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบกับประเทศที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

ด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยและลาว ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในบริเวณพื้นที่ที่สองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสร้างจุดเชื่อมโยง (land link) ในภูมิภาค โดยเห็นว่า ไทยและลาวควรร่วมมือกันส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ ทั้ง hardware และ software connectivity

นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญกับ CLMVT ซึ่งการเดินทางเยือนประเทศต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พบว่า หลายประเทศให้ความสำคัญกับ CLMVT ในฐานะ supply chain ของอาเซียน ไทยจึงเห็นว่า กลุ่มประเทศ CLMVT ควรมีการทำยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในอนุภูมิภาคนี้ โดยเน้นการสร้างความเชื่อมโยงทั้งทางถนน สะพาน และรถไฟ ตลอดจน ทางเดินอากาศ เพื่อเชื่อมสู่ประเทศอื่น ๆ ทั้งในอาเซียน และนอกอาเซียน อาทิ จีน และ อินเดีย

ด้านการท่องเที่ยว ไทยได้ย้ำถึงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามแดนแบบ Thailand + 1 ในลักษณะ joint tourism package และ 2 countries 1 destination ซึ่งสามารถใช้รูปแบบการพัฒนานี้เป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่ชายแดนอื่นไปพร้อม ๆ กันได้ ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าหมายให้แผนแม่บทดังกล่าวแล้วเสร็จก่อนการประชุม JC ไทย - ลาว ครั้งที่ 21

ด้านการค้า การลงทุน ทางฝ่ายลาว ได้แสดงความประสงค์ให้ไทยเข้าไปลงทุนในลาวมากขึ้น โดยเฉพาะการทำการเกษตรอินทรีย์ ที่รัฐบาลลาวให้ความสำคัญกับการเพาะปลูกโดยปราศจากสารพิษ ซึ่งไทยพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด

ด้านการศึกษา รัฐบาลลาวแสดงความขอบคุณไทยที่ได้มอบทุนการศึกษาและการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกล่าวชื่นชมโครงการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือที่ช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนลาวอย่างแท้จริง

ด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา นายกรัฐมนตรีถือโอกาสนี้ ขอบคุณที่ทางการลาว น้อมนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปปฏิบัติ และช่วยเผยแพร่หลักการดังกล่าวอย่างแพร่หลาย พร้อมยึดมั่นนโยบายการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับลาวต่อไป

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวยินดีกับการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของลาว โดยไทยเชื่อมั่นว่า ลาวจะมีบทบาทที่เข้มแข็งในการนำพาสมาชิกอาเซียนไปสู่การเป็นประชาคมอย่างแท้จริง พร้อมย้ำคำเชิญนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เข้าร่วมการประชุมสุดยอด Asia Cooperation Dialogue (ACD) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 9 - 10 ตุลาคม 2559 ที่กรุงเทพฯ

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือข้อราชการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชิญนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อนเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน

















กำลังโหลดความคิดเห็น