กรมอนามัย ชี้ เด็กไทย “เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ” ไม่เพียงพอทดแทนคนรุ่นพ่อแม่ เหตุคนโสดมากขึ้น แต่งงานช้า ส่วนเด็กพัฒนาการล่าช้า ไม่สมส่วน กินนมแม่น้อย เร่งดันยุทธศาสตร์อนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับ 2 เข้า ครม. ใน ก.ย. นี้ หวังแก้ปัญหา เพิ่มสวัสดิการสังคมเอื้อคนไทยปั๊มลูก บำรุงเลือดเด็กหญิงตั้งแต่มีประจำเดือน
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเผชิญปัญหาจำนวนประชากรไม่เพียงพอ และไม่มีคุณภาพ หรือที่เรียกว่า “เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ” ซึ่งในส่วนของประชากรไม่เพียงพอวิเคราะห์ได้จากจำนวนเด็กเกิดใหม่นั้นไม่เพียงพอกับการทดแทนที่เสียไป ซึ่งอัตราการเจริญพันธุ์รวมต่อการทดแทนเฉลี่ยต้องอยู่ที่ 2.1 คือ แทนพ่อ 1 แทนแม่ 1 และอีก จุด 1 คือ ทดแทนการสูญเสียจากความพิการและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 1.6 เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่ากลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม ซึ่งอัตราอยู่ที่เกิน 2 ทั้งสิ้น นอกจากนี้ อัตราการเกิดใหม่ต่อปียังลดลงเรื่อย ๆ โดยปี 2558 อยู่ที่ 7 แสนคน ขณะที่ปี 2559 นี้ คาดว่า จะต่ำกว่า 7 แสนคน สาเหตุมาจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป คนเป็นโสดมากขึ้น แต่งงานกันน้อยลง แต่งงานช้าลง รวมไปถึงสวัสดิการที่ไม่เอื้อต่อการมีบุตร เป็นต้น
นพ.วชิระ กล่าวว่า สำหรับในเรื่องของคุณภาพเด็กเกิดใหม่นั้น แม้ว่าประเทศไทยจะทำได้ดีในเรื่องของการลดอัตราการเสียชีวิตของทารกหลังคลอด คือ ต่ำกว่า 10 ต่อแสนการเกิดมีชีพ หรือตายไม่ถึง 1% แต่ในเรื่องคุณภาพนั้นยังไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากน้ำหนักทารกแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ 2,500 กรัม ร้อยละ 10.4 การกินนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน มีเพียงร้อยละ 23.9 พัฒนาการล่าช้า ปี 2555 พบถึงร้อยละ 30 และปัญหาการเจริญเติบโตที่พบปัญหา ผอม เตี้ย และอ้วน จากภาวะโภชนาการและการขาดการออกกำลังกาย สิ่งที่น่าห่วงคือ เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเข้าสู่วัยแรงงานก็ย่อมมีจำนวนน้อยลง และเป็นแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ ที่สำคัญ ยังต้องแบกรับดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก และต้องดูแลเด็กรุ่นใหม่อีก เรียกได้ว่า ปริมาณและคุณภาพไม่เพียงพอเลย ก็จะยิ่งกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยได้
นพ.วชิระ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 - 2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยตั้งเป้าว่า อัตราเจริญพันธุ์รวมต้องไม่ต่ำกว่า 1.6 มีการวางแผนการตั้งครรภ์ ลดอัตราการตายมารดาและทารกแรกเกิด เด็กอายุ 0 - 5 ปี มีพัฒนาการสมวัยสูงดีสมส่วน เป็นต้น โดยมาตรการสำคัญ คือ พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ระยะก่อนสมรส ก่อนมีบุตร ตั้งครรภ์ คลอด และหลังคลอด เช่น หญิงวัยเจริญพันธุ์ต้องแก้มแดงไม่ซีด คือ มีการให้เหล็กและโฟลิกนักเรียนหญิงตั้งแต่มีประจำเดือน โดยให้ครูเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้ เป็นต้น
“การให้เหล็กและโฟลิกแก่นักเรียนหญิงที่เริ่มมีประจำเดือนมา ไทยเริ่มทำมาแล้วประมาณ 2 ปี แต่คนไม่ค่อยทราบ และนักเรียนไม่ค่อยกิน เพราะคิดว่ามันเป็นยา อย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีการใส่โฟลิกลงในขนมปัง ทำให้ทุกคนได้กินทั้งหมด อัตราความผิดปกติของทารกแต่แรกเกิดจึงน้อยมาก ขณะนี้ไทยกำลังหาอยู่ว่าจะใส่โฟลิกลงในอาหารประเภทใด เพราะหากใส่ลงในข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยก็พบว่าทำให้มีรสชาติที่แปลกไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังจะเดินหน้าเรื่องการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อเอื้อให้คู่สมรสตัดสินใจมีบุตรและเลี้ยงดูบุตร เช่น สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย มาตรการทางภาษี เงินช่วยเหลือ การมีสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรงนี้ก็ต้องไปปรับปรุงกฎหมายรองรับ รวมไปถึงการผลักดันสิทธิลาคลอดให้เหมาะสมทั้งแม่และพ่อ ซึ่งขณะนี้ร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว โดยตั้งเป้าว่าจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน ก.ย. นี้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่