xs
xsm
sm
md
lg

เด็กขาดไอโอดีนทำไอคิวลด 10-15 จุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. ชี้ เด็กในครรภ์ - ปฐมวัยขาด “ไอโอดีน” ทำให้ไอคิวลดลง 10 - 15 จุด เร่งบูรณาการ 4 กระทรวง ขับเคลื่อนการผลิต กระจาย บริโภคเกลือเสริมไอโอดีน ขจัดโรคขาดสารไอโอดีนใน 20 ปี

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า สภานานาชาติเพื่อการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน (International Council for Control of Iodine Deficiency Disorders) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทอง ICCIDD แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2540 จากพระมหากรุณาธิคุณในการวินิจฉัยปัญหา และพระราชทานแนวทางการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 25 มิ.ย. ของทุกปี เป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นองค์ประธานคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2534 ส่งผลให้โรคขาดสารไอโอดีนลดลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม โรคนี้ยังคงเป็นปัญหาในหลายพื้นที่ แม้ว่าแนวโน้มความครอบคลุมการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือนจะดีขึ้น แต่ค่ามัธยฐานไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีความต้องการไอโอดีนมากกว่าปกติ ยังคงมีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 150 ไมโครกรัมต่อลิตร โดยสถานการณ์ปี พ.ศ. 2558 พบ 143.7 ไมโครกรัมต่อลิตร ไอโอดีนมีความสำคัญในการผลิตธัยรอยด์ฮอร์โมนซึ่งมีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกายโดยเฉพาะเซลล์สมองของทารกตั้งแต่ในครรภ์จนถึงอายุ 2 - 3 ปี หากขาดสารไอโอดีนจะทำให้สมองเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ลดความเฉลียวฉลาด (ไอคิว) หรือระดับสติปัญญาของเด็กได้ถึง 10 - 15 จุด ผลการสำรวจระดับไอคิวของเด็กไทยโดยกรมสุขภาพจิต พบว่า ปี 2554 เด็กประถมศึกษาปีที่ 1 มีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 94 จุด และในปี พ.ศ. 2557 อยู่ที่ 93.1 จุด ลดลง 0.9 จุด

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินโครงการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการหลัก คือ การใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน ประชาชนบริโภควันละไม่เกิน 1 ช้อนชา ก็จะได้ไอโอดีน 150 ไมโครกรัม ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการต่อวัน มาตรการเสริม ได้แก่ 1. การจ่ายยาเม็ดเสริมไอโอดีน เหล็กและกรดโฟลิกแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกรายตลอดการตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด 6 เดือนที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 2. มาตรการเสริมไอโอดีนในน้ำดื่ม ในโรงเรียน 733 แห่ง ในพื้นที่ห่างไกลยากแก่การเข้าถึงเกลือเสริมไอโอดีน ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

และมาตรการสู่ความยั่งยืน ด้วยการพัฒนาระบบเกลือเสริมไอโอดีนอย่างยั่งยืนโดยการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ 3 ส่วน คือ การผลิตที่เพียงพอ ทั่วถึงครอบคลุม และมีคุณภาพ การกระจายที่ต้องมีระบบการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังเกลือที่กระจายไปสู่ร้านค้า ชุมชน ต้องเป็นเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ประชาชนต้องมีความรู้ และเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญกับการได้รับสารไอโอดีนจากการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อเชื่อมต่อระบบการผลิต การกระจายและการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนให้ขับเคลื่อนไปอย่างเป็นระบบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ โดยความร่วมมือของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขจัดโรคขาดสารไอโอดีนในประชาชนให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน สู่เป้าหมายชาติ20ปี มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น