xs
xsm
sm
md
lg

พบเด็กแรกเกิด 3 ราย “หัวเล็ก” คาดสัปดาห์หน้ารู้ผลเกิดจาก “ซิกา” หรือไม่ ชี้โอกาสเกิด 1-30%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.อำนวย กาจีนะ
กรมควบคุมโรค เผย พบเด็กทารกแรกเกิดศีรษะเล็ก 3 ราย ในครรภ์อีก 1 ราย รอผลตรวจเกิดจาก “ซิกา” จริงหรือไม่ “หมอประเสริฐ” คาดได้ข้อสรุปสัปดาห์หน้า ชี้ หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิกา เด็กในครรภ์เสี่ยงหัวเล็ก 1 - 30% ราชวิทยาลัยสูติฯ ออกไกด์ไลน์วินิจฉัยหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิกาแล้ว

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังโรคไวรัสซิกาในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่พบการระบาดจำนวน 33 ราย โดยมี 1 ราย อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ แพทย์อัลตราซาวนด์พบอาจมีความผิดปกติ ทารกในครรภ์มีโอกาสศีรษะเล็กได้ แต่ต้องรอทางสูตินรีแพทย์และกุมารแพทย์ตรวจวินิจฉัยยืนยันอีกครั้ง จึงจะบอกได้ว่าเด็กจะศีรษะเล็กหรือไม่ ซึ่ง คร. ได้ทำการเฝ้าระวัง นอกจากนี้ นอกพื้นที่การเฝ้าระวัง ไม่พบผู้ป่วยซิกา มีหญิงตั้งครรภ์ 3 ราย คลอดทารกออกมามีศีรษะเล็ก ซึ่งได้ติดตามและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่า เด็กที่คลอดออกมาศีรษะเล็ก เพราะเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการ ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค เป็นประธาน โดยจะประชุมในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาถึงเคสทั้ง 4 ราย ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และควรติดตามอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ คร. ได้ร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จัดทำแนวทางปฏิบัติการวินิจัยโรคไวรัสซิกาว่าต้องมีอะไรบ้าง ในกลุ่มใด โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจัดทำร่างแนวทางเสร็จแล้ว และเผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางสำหรับแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย ติดตาม และเฝ้าระวัง ต่อไป

“ย้ำว่าทารกแรกเกิดที่มีศีรษะเล็กเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ใช่แค่จากเชื้อซิกา โดยประเทศไทยมีอัตราการเกิดของเด็กและมีอาการศีรษะเล็ก 4.36 ต่อประชากรแสนคน หรือเฉลี่ยพบได้ 200 - 300 รายต่อปี เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อในกลุ่ม STORCH ซึ่งเป็นกลุ่มโรคติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียและปรสิตบางชนิดที่สามารถติดเชื้อได้ในคนทั่วไป และมีความสำคัญที่ทำให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ หรือทารกแรกเกิด ได้รับสารเคมีบางชนิดขณะตั้งครรภ์ เช่น สารโลหะหนัก เป็นต้น มีความผิดปกติของยีนตั้งแต่กำเนิด และภาวะการขาดสารอาหารอย่างรุนแรงในขณะตั้งครรภ์” อธิบดี คร. กล่าว

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าทีมผู้เชี่ยวชาญและแพทย์อยู่ระหว่างติดตาม ตรวจสอบเด็กที่คลอดออกมา และมีภาวะศีรษะเล็ก ว่า มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสซิกาจากแม่หรือไม่ คาดว่า จะได้ข้อสรุปสัปดาห์หน้า และทางคณะกรรมการวิชาการก็จะมีการประชุมหารือในวันที่ 30 ก.ย. นี้ เพื่อรวบรวมข้อมูล และสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้แตกตื่น เพราะต้องยอมรับว่า เชื้อซิกาอยู่กับประเทศไทยมานานแล้ว ซึ่งจากข้อมูลในต่างประเทศมีการรวบรวมกว้าง ๆ ว่า หากมารดาติดเชื้อไวรัสซิกา จะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงเกิดภาวะศีรษะเล็กได้ ตั้งแต่ร้อยละ 1 - 30 ยกตัวอย่าง สธ. ติดตามแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ประมาณ 30 คน หากมีภาวะติดเชื้อซิกาจริง หากส่งผลให้เด็กมีภาวะหัวเล็กจริง ก็ประมาณ 3 - 4 คน ใน 30 คน ถือว่ายังอยู่ในอัตราความเสี่ยงที่เป็นไปตามความคาดหมาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะอย่างสหรัฐอเมริกายังพบเป็น 10 ราย บราซิลพบเป็นพัน ๆ ราย แต่ทั้งหมดขอให้รอผลการยืนยันจากห้องปฏิบัติการก่อน

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และคณะทำงานด้านโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ และราชวิทยาลัยสูติฯ ได้หารือร่วมกันและออกแนวปฏิบัติในการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ที่มารดาติดเชื้อไวรัสซิกาแล้ว โดยหากพบว่าหญิงตั้งครรภ์รายใดที่มีอาการป่วยจะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการว่าติดเชื้อเชื้อไวรัสซิกาจริงหรือไม่ หากพบเชื้อก็จะมีการติดตามอัลตราซาวนด์ วัดขนาดศีรษะทารกในครรภ์ว่าเล็กกว่าเกณฑ์ปกติหรือไม่ และตรวจว่ามีหินปูนเกาะที่สมองทารกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แต่ในการตรวจกว่าจะเจอความผิดปกติก็เมื่ออายุครรภ์มาก และไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้แล้ว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดความคิดเห็น