xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพบป่วย “ซิกา” ประปราย โต้ “ยุโรป” จัดเป็นประเทศระบาดกว้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค แจง “ยุโรป” จัดไทยโซนแดงโรคซิกา ข้อมูลไม่สมบูรณ์ ขอประชาชนอย่าตระหนก ยึดตามเกณฑ์ WHO ยันชัดไทยพบประปราย เผย ตลอดปีพบ 16 จังหวัด เหลือเฝ้าระวัง 6 จังหวัด จ่อพ้นระยะเฝ้าระวัง 2 จังหวัด วันที่ 30 - 31 ส.ค. เร่งติดตามเด็กพิการหัวเล็กแต่กำเนิด เผย มะกัน - ยุโรป เร่งทำวัคซีนแล้ว

วันนี้ (30 ส.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป (European Center for Disease Prevention and Control : ECDC) ได้จัดให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิการะดับสีแดง เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา คือ มีการแพร่กระจายของโรคอย่างกว้างขวางในช่วง 3 เดือน เรื่องนี้ กรมฯ ขอชี้แจงว่า การจำแนกของอีซีดีซีต่างจากการจำแนกขององค์การอนามัยโลก (WHO) อีกทั้งเป็นข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจาก คร. ไม่เคยส่งข้อมูลอย่างเป็นทางการให้กับอีซีดีซี จึงเข้าใจว่าข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลที่ปรากฏผ่านสื่อต่าง ๆ และใช้การนับจำนวนผู้ป่วยเท่านั้น จึงอยากให้ใช้ข้อมูลการจำแนกพื้นที่ระบาดของ WHO เป็นหลัก เพราะหลักเกณฑ์การจำแนกเป็นมาตรฐาน

นพ.อำนวย กล่าวว่า การจำแนกพื้นที่การระบาดโรคซิกาทั่วโลกของ WHO แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1. พื้นที่ที่มีการระบาดระดับกว้างขวาง อาทิ บราซิล อาร์เจนตินา ประเทศแถบอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา 2. พื้นที่ที่มีการระบาดประปราย คือ พบผู้ป่วยในบางพื้นที่ของประเทศ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์ และ 3. พื้นที่ที่เคยมีการระบาดแต่ในปี 2559 ไม่มีรายงานผู้ป่วย ซึ่งส่วนนี้อาจแปลได้ว่าระบบการเฝ้าระวัง ควบคุม ดูแลและตอบโต้สถานการณ์ไม่ไวพอที่จะรายงานต่อสาธารณะ

“ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมทั้งปีจำนวนหนึ่ง โดยพบใน 16 จังหวัด ซึ่งขณะนี้เหลือเพียง 6 จังหวัด ที่อยู่ในช่วงการเฝ้าระวังให้ครบ 28 วัน ตามระยะฟักตัวของโรค หากไม่พบผู้ป่วยรายใหม่จึงถือว่าพ้นระยะการเฝ้าระวัง ซึ่ง จ.สมุทรปราการ จะพ้นระยะการเฝ้าระวังวันที่ 30 ส.ค. และ จ.หนองคาย จะพ้นระยะเฝ้าระวังในวันที่ 31 ส.ค. จึงเหลือแค่ 4 จังหวัด ที่ยังต้องเฝ้าระวังอีก 2 สัปดาห์ คือ เชียงใหม่ จันทบุรี เพชรบูรณ์ และ บึงกาฬ” อธิบดี คร. กล่าวและว่า ส่วนกรณีกระทรวงมหาดไทย (มท.) ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้สนับสนุนการควบคุมป้องกันโรคซิกานั้น เพราะกรมฯ ได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือไป ซึ่งการจะควบคุมโรคต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น เจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่น อุตสาหกรรม พาณิชย์ สถานศึกษา เป็นต้น รวมถึงประชาชน สำหรับมาตรการเฝ้าระวังโรคซิกามี 4 ด้าน คือ 1. การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 2. การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา 3. เฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีความพิการศีรษะเล็กแต่กำเนิด และ 4. เฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท

ผู้สื่อข่าวถามถึงการติดตามทารกที่มีศีรษะเล็กแต่กำเนิด นพ.อำนวย กล่าวว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลในเรื่องนี้ เพื่อศึกษาทั้งในปัจจุบันและย้อนหลังว่า การที่ทารกมีศีรษะเล็กแต่กำเนิดเกี่ยวข้องกับซิกามากน้อยเพียงใด เพราะความพิการดังกล่าวยังเกิดจากยา สุรา ยาสูบได้ด้วย ซึ่งจะมีการจำแนกประเด็นและเสนอรายงานเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกา 20 ราย คลอดแล้ว 6 ราย โดยทารกเป็นปกติทุกราย สำหรับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสซิกา ขณะนี้ทราบว่าในสหรัฐอเมริกาและยุโรปอยู่ระหว่างการศึกษา โดยอยู่ในขั้นการทดลองในมนุษย์ คาดว่า น่าจะสำเร็จใน 2 - 3 ปีข้างหน้า และจะนำมาใช้ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น