xs
xsm
sm
md
lg

“ไวรัสซิกา” ระบาดหนักในฟลอริดา ทางการขยายพื้นที่เตือนภัยเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากรอยเตอร์
เอเจนซีส์ / MGR online - ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐฯ (ซีดีซี) ออกคำเตือนในวันอาทิตย์ (21 ส.ค.) ให้สตรีที่กำลังตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปยังพื้นที่หาดไมอามี มลรัฐฟลอริดา หลังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกาในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมดังกล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ (19 ส.ค.) เพิ่งออกคำเตือนอีกฉบับที่ระบุให้สตรีที่กำลังตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปยังพื้นที่เขตปกครองไมอามี-เดด เคาน์ตี ทางตอนใต้ของมลรัฐฟลอริดาเช่นเดียวกัน

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกาที่มีต้นตอมาจากประเทศบราซิลในทวีปอเมริกาใต้กำลังคุกคามอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมลรัฐฟลอริดาที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลว่า เชื้อไวรัสนี้ ซึ่งถูกพบครั้งแรกในฟลอริดาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อาจลุกลามแพร่กระจายไปยังพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกาในไม่ช้า

ด้านริค สก็อตต์ ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา แถลงยืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วอย่างน้อย 5 รายในพื้นที่เขตชายหาดไมอามี

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 12 ส.ค. กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ เพิ่งประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพในเปอร์โตริโกที่เป็นดินแดนในปกครองของสหรัฐฯ กลางทะเลแคริบเบียน หลังพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาเกือบ 10,000 รายที่นั่นซึ่งรวมถึงสตรีที่กำลังตั้งครรภ์จำนวน 1,035 ราย

แต่ไหนแต่ไรมาเชื้อไวรัสซึ่งมีพาหะเป็นยุงสายพันธุ์ “Aedes aegypti” ถูกพบว่ามีการติดต่อสู่มนุษย์ในวงแคบๆ นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมาตามประเทศเขตร้อน ทั้งในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย ก่อนที่จะมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ที่ดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิก อย่างเฟรนช์ โปลิเนเซีย (French Polynesia) เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2014

อย่างไรก็ดี การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสซิการะลอกล่าสุดที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคละตินอเมริกาได้สร้างความตื่นตะลึงแก่แวดวงสาธารณสุขทั่วโลกมากที่สุด จากการลุกลามที่ทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ออกมายอมรับในเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า การลุกลามของไวรัสซิกานี้ถึงขั้น “แพร่ระบาด” แล้ว

ข้อมูลของ WHO นับถึงช่วงสิ้นเดือน ม.ค.ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วอย่างน้อย 3,174 ราย ใน 21 ประเทศทั่วภูมิภาคละตินอเมริกา และหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กทารกได้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 38 ราย

เป็นที่น่าสังเกตว่า การแพร่ระบาดของไวรัสซิกาที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกาเพิ่งเข้าสู่ “ช่วงพีก” ในเดือนมกราคมนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วทางองค์การอนามัยโลกออกมายอมรับว่าตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ในละตินอเมริกาเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนเมษายนของปีที่แล้วทางภาคตะวันออกของบราซิล

จนถึงขณะนี้ทางผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา และบรรดากูรูด้านโรคเขตร้อนของ WHO กำลังเร่งทำงานแข่งกับเวลาในการหาทางรับมือและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา ตลอดจนการประสานงานกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในละตินอเมริกาที่กำลังเผชิญภัยคุกคามจากไวรัสนี้ ที่ทาง WHO ยอมรับแล้วว่า อาจ “ควบคุมการระบาดไม่อยู่” และเชื้อไวรัสมรณะนี้อาจแพร่กระจายครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาทั้งอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ภายในสิ้นปี 2016 นี้

ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกมายังระบุว่า จนถึงขณะนี้วงการสาธารณสุขและวงการแพทย์ทั่วโลกยังไม่สามารถคิดค้นวัคซีนสำหรับรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ ซึ่งยิ่งทำให้การติดเชื้อไวรัสซิกากลายเป็นเรื่องที่มีอันตรายอย่างยิ่งยวด

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสซิกามีระยะฟักตัว 4-7 วัน จากนั้นผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะรุนแรง มีผื่นแบบ Maculopapular หรือจะมีรอยโรคที่เป็นตุ่มนูนและรอยแดงผสมกันที่บริเวณลำตัว แขน และขา มีอาการวิงเวียน เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดตามข้อ และอาจมีต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง

ยิ่งไปกว่านั้น ไวรัสซิกามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายระบบประสาทของทารกในระหว่างอยู่ในครรภ์ ทำให้เด็กทารกเมื่อแรกคลอดป่วยเป็นโรคศีรษะเล็ก (Microcephaly) ซึ่งเป็นความพิการแต่กำเนิด ส่งผลทำให้เด็กมีพัฒนาการช้าในทุกด้าน ตัวเตี้ย ใบหน้าผิดรูป มีภาวะปัญญาอ่อน และอาจมีอาการชัก
ภาพจากรอยเตอร์
ภาพจากรอยเตอร์

กำลังโหลดความคิดเห็น