xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แจงอียูจัดไทยเป็นพื้นที่แดงโรค"ซิกา"เพราะมีข้อมูลพร้อมกว่า ปท.อื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรณีที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรปจำแนกให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่แดงที่มีการแพร่กระจายโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เช่นเดียวกับประเทศในแถบอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดของโรค เช่น บราซิล ปารากวัย เปรู โคลัมเบีย เอกวาดอร์ โบลิเวีย เป็นต้น ถือเป็นสถานการณ์น่ากังวลที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย อยู่ในระดับสีเหลือง ที่มีผู้ป่วยประปรายในรอบ 3 เดือน ส่วนประเทศลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และกัมพูชา อยู่ในระดับสีฟ้า ที่ไม่พบผู้ป่วยในรอบ 3 เดือน และพม่าอยู่ในระดับสีเทาอ่อน

ทั้งนี้ การจำแนกสถานการณ์ไม่ได้ดูจากจำนวนผู้ป่วย แต่ดูหลายปัจจัย เช่น มีข้อมูลรายงานหรือไม่ โดยในมุมมองคนทำงานด้านสุขภาพ มองว่าการที่ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยมากกว่าทุกปี และพบมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เป็นเพราะประเทศไทยมีระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ดีกว่าหลายประเทศ ขณะที่ประเทศเทศซึ่งไม่ได้รายงานผู้ป่วย อาจเป็นเพราะไม่มีข้อมูลยืนยันทางห้องปฏิบัติการ จึงอยากให้ยึดรายงานขององค์การอนามัยโลกเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ประกาศให้ประเทศใดห้ามเดินทางท่องเที่ยวเนื่องจากโรคซิการะบาด

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า สถานการณ์โรคของไทยไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยปี 2559 พบผู้ป่วยมากกว่าทุกปีจากเดิมที่พบป่วย 1-2 ราย ซึ่งเป็นผลมาจากการเฝ้าระวังโรคที่ให้มีการสอบสวนโรคทุกครั้ง ทุกกรณีที่มีผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยเป็นโรคจนครบกระบวนการทางระบาดวิทยา รวมถึงการตรวจและติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยด้วย แม้ค่าส่งตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติทางฯ จะมีราคาแพงประมาณ 2,000 บาทต่อราย  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้ศึกษาย้อนหลัง 5 ปีจากสิ่งส่งตรงของผู้ป่วยซิกาเดิมที่มีการเก็บไว้ในคลัง เพื่อศึกษาดูว่าสถานการณ์ของโรคเป็นอย่างไร สำหรับกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น โดยติดตามหญิงตั้งครรภ์ทุกรายที่อยู่ในพื้นที่พบโรค แต่ยังไม่พบความผิดปกติ ส่วนกรณีที่พบเด็กทารกศีรษะเล็กนั้น แต่อาจไม่ได้มีสาเหตุจากโรคซิกาเท่านั้น ขณะนี้กำลังศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาความเชื่อมโยงกับโรคดังกล่าวว่ามีเหตุโยงกันหรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และร่วมมือกับศูนย์ควบคุมป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา ในการศึกษาเจาะลึกเรื่องนี้ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพิ่มเติมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น