xs
xsm
sm
md
lg

ไทยโซนแดงโรคซิกา คร.แจงเฝ้าระวังเข้ม ส่งตรวจแล็บ พบผู้ป่วยมากกว่าเพื่อนบ้านอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ยุโรปจัดไทยพื้นที่สีแดงโรคซิกา กรมควบคุมโรค แจง ระบบเฝ้าระวังดี ส่งตรวจห้องแล็บมาก จึงมีข้อมูลรายงานมาก ชี้ เพื่อนบ้านพบน้อย อาจเพราะไม่มีข้อมูล ยันสถานการณ์ไม่ต่างจากเพื่อนบ้านอาเซียน ตั้ง คกก. ศึกษาเชิงลึกหาความเชื่อมโยงเด็กแรกคลอดศีรษะเล็ก

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรปจำแนกสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยไทยอยู่ในระดับสีแดง หมายถึงมีการแพร่กระจายในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เช่นเดียวกับประเทศในแถบอเมริกาใต้ นับเป็นประเทศที่น่ากังวลที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ว่า การจำแนกสถานการณ์ของโรคพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น มีข้อมูลรายงานหรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่เฉพาะจำนวนผู้ป่วยที่พบเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์ของโรคซิกาในไทยจากมุมมองของคนที่ทำงานด้านสุขภาพ ระบุว่า การที่ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยมากกว่าทุกปี และพบมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เนื่องจากไทยมีระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ดีกว่าหลาย ๆ ประเทศ ทำให้สามารถรายงานกรณีพบผู้ป่วยได้มากกว่าประเทศอื่น ซึ่งอาจจะไม่ได้รายงานการพบผู้ป่วย หรือไม่มีข้อมูล เพราะไม่ได้มีการตรวจยืนยันทางห้องแล็บ จึงอยากให้ยึดรายงานขององค์การอนามัยโลกเป็นหลัก ซึ่งยังไม่ได้ประกาศให้ประเทศใดห้ามเดินทางท่องเที่ยวเนื่องจากการระบาดของโรคซิกา

“สถานการณ์โรคของไทยไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปีก่อน ๆ ไทยพบเฉลี่ย 1 - 2 รายต่อปี แต่ปีนี้พบมากกว่าทุกปี เป็นผลจากนโยบายในการเฝ้าระวังโรค ที่ให้มีการสอบสวนโรคทุกครั้ง ทุกกรณีที่มีผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัย จะดำเนินการจนครบกระบวนการทางระบาดวิทยา โดยหากมีรายงานผู้ป่วยจะส่งทีมนักระบาดวิทยาลงพื้นที่ทันที เพื่อตรวจและสอบสวนโรค ที่สำคัญ ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยก็จะส่งห้องแล็บเพื่อตรวจหาเชื้อด้วย แม้ค่าส่งตรวจจะแพงราว 2,000 บาทต่อราย” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.อำนวย กล่าวว่า จากการศึกษาย้อนหลัง 5 ปี จากสิ่งส่งตรงของผู้ป่วยซิกาเดิมที่มีการเก็บไว้ในคลังจากที่พบผู้ป่วยในไทยเฉลี่ยปีละ 1 - 2 ราย ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าน่าจะมีผู้ป่วยมากกว่าที่มีรายงานผู้ป่วย เพื่อศึกษาดูว่าสถานการณ์ของโรคเป็นอย่างไร สำหรับกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น โดยติดตามหญิงตั้งครรภ์ทุกรายที่อยู่ในพื้นที่พบโรค แต่ยังไม่พบว่าหญิงท้องที่อยู่ในพื้นที่เจอโรคมีการคลอดทารกที่มีศีรษะเล็กจากโรคซิกา แต่มีรายงานพบเด็กศีรษะเล็ก แต่อาจจะไม่ได้มีสาเหตุจากโรคซิกาเพียงอย่างเดียว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาความเชื่อมโยงกับโรคซิกาว่า มีเหตุโยงกันหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ กรมได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และร่วมมือกับศูนย์ควบคุม ป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา ในการศึกษาเจาะลึกเรื่องนี้ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพิ่มเติมต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น