ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสและโรคอุบัติใหม่ระดมให้ความรู้เรื่อง “ไวรัสซิกา” โรคจากยุงลาย ระบุงานวิจัยไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ก่อโรคไข้เลือดออกจะมีภูมิคุ้มกันที่ชักนำเชื้อเข้าสู่ร่างกาย แต่ยังต้องศึกษาต่อว่ากรณีไวรัสซิกาที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกันนั้นจะส่งผลเหมือนกันหรือไม่ และคำถามใหญ่คือพบการเชื้อซิกาในไทยมานานกว่า 50 ปี แต่ทำไมไม่ระบาดใหญ่
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ คลัสเตอร์สุขภาพและการแพทย์ จัดเสวนา “Zika ไวรัสร้าย ภัยเงียบสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์” เมื่อวันที่ 6 ก.ย.59 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดการเสวนา
นพ.ยงเจือ เหล่าศิริถาวร สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ผู้ร่วมเสวนาให้ข้อมูลพื้นฐานว่า ไวรัสซิกาก่อให้เกิดโรคติดเชื้อ ซึ่งมีระยะฟัวตัว 4-7 วันก่อนแสดงอาการ แต่มีระยะเร็วสุด 3 วัน หรือยาวนานสุด 12 วัน โดยอาการที่เห็นจะเป็นผืนแดง มีไข้ ตาแดง แต่มีส่วนน้อยที่มีอาการข้างเคียงอื่น อย่างอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ท้องร่วง แต่พบได้น้อย บางคนมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วย แต่พบน้อยลงไปอีก ทว่าผู้ได้รับเชื้อไวรัสซิกาส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ
ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับเชื้อซิกานั้น นพ.ยงเจือกล่าวว่า ส่วนใหญ่ก็ไม่มีอาการแสดงออกเช่นเดียวกับผู้ได้รับเชื้อทั่วไป แต่ก็มีมารดาส่วนน้อยที่ถ่ายทอดเชื้อไปสู่ลูกได้ แต่เมื่อถ่ายทอดเชื้อสู่ลูกแล้วก็มีส่วนน้อยที่จะทำให้ทารกในครรภ์มีภาวะ “สมองเล็ก” ซึ่งโรคติดเชื้อจากไวรัสซิกานี้เกิดมานานแล้ว โดยเกิดขึ้นครั้งแรกที่อูกานดาและแทนซาเนีย ส่วนเมืองไทยพบผู้ป่วยติดโรคครั้งเมื่อปี 1960 อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการตรวจโรคที่ดีขึ้นทำให้รายงานการพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ก่อนหน้านั้นในปี 2555 ไทยยังต้องส่งตัวอย่างไปตรวจที่ต่างประเทศ แต่ในปี 2559 สามารถตรวจได้ในห้องปฏิบัติการที่เมืองไทย
ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดต่ออุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านการค้นคว้าและอบรมโรคติดต่อเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน กล่าวว่าเราเพิ่งทราบถึงอันตรายของไวรัสซิกาในปี 2559 นี้ โดยในเด็กทารกจะทำให้เกิดภาวะสมองเล็ก แต่ในผู้ใหญ่จะทำให้เกิดอาการทางสมองหรือประสาท
ศ.นพ.ธีระวัฒน์บอกว่า ไวรัสซิกาชอบเด็กในครรภ์มากเป็นพิเศษ เมื่อเข้าสู่ร่างกายผู้หญิงตั้งครรภ์แล้วจะใช้รกหรือสมองเด็กเป็นบ้านเพื่อปล่อยไวรัสต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำให้เด็กตาย ซึ่งเป็นความฉลาดของไวรัส เพราะสามารถอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ต่างจากไวรัสอื่นที่ฆ่าเจ้าบ้านให้ตาย พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการระบาดของไวรัสซิกาในเมืองไทยมานานแล้ว และเทคโนโลยีการตรวจที่ดีขึ้นอาจทำให้ “ยิ่งตรวจยิ่งเจอ”
ด้าน นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพแห่ชาติ (ไบโอเทค) สวทช.กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า น่าจะมีไวรัสซิกาในไทยมานานแล้ว ซึ่งไวรัสซิกานี้มีพันธุกรรมใกล้ชิดมากกับเชื้อไวรัสเด็งกี่ที่มียุงลายเป็นพาหะ แต่การที่เราอยู่กับเชื้อเด็งกี่มานานจะเป็นบทเรียนสอนว่าเราจะอยู่กับเชื้อไวรัสซิกาอย่างไร
“เป็นเจ้ากรรมที่เมื่อได้รับเชื้อเด็งกี่ถึงเราจะมีภูมิคุ้มกัน แต่ไม่สามารถฆ่ามันได้ แต่กลับดึงไว้ เหมือนชักศึกเข้าบ้าน ซึ่งความรู้นี้จะนำไปใช้ศึกษากับซิกาต่อ ข่าวดีคือเรามีเทคโนโลยีบางอย่างที่ใช้เพียงเซลล์เดียวจากภูมิคุ้มกันมาศึกษาว่า ภูมิคุ้มกันไวรัสเด็งกี่จะฆ่าหรือชักนำไวรัสซิกา ซึ่งเรากำลังจะมีความรู้ชุดใหม่นี้ที่เมื่อ 10 ปีที่แล้วเราทำไม่ได้” นพ.ปรีดากล่าว
ส่วน ผศ.ดร.ชรินทร์ โหมดซัง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์พยากรณ์อนาคตของการระบาดซิกาในไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยระบุว่าหากไม่ทำอะไรเลยและปล่อยให้เกิดการระบาดจะมีคนติดโรค 73.2-99.9% โดยคิดเป็นกรณีเลวร้าย เช่น เด็กหัวลีบ ผู้ใหญ่เป็นอัมพฤกษ์ -อัมพาตประมาณ 6,800 คน
ผศ.ดร.ชรินทร์ กล่าวว่า ความยากในการสร้างแบบจำลองพยากรณ์การระบาดของไวรัสซิกาคือ มีข้อมูลสำหรับสร้างแบบจำลองน้อย โดยขาดข้อมูลจำนวนผู้ป่วยในแต่ละสัปดาห์ หรือข้อมูลจำนวนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันว่ามีอยู่เท่าไร เนื่องจากพบการติดเชื้อไวรัสนี้มาตั้งแต่ปี 1960 อย่างไรก็ตาม หากเกิดการระบาดใหญ่ทีเดียวจะทำให้คนทั้งประเทศมีภูมิคุ้มกันและไม่เกิดการระบาดอีก
ด้าน ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ประธานคลัสเตอร์สุขภาพและการแพทย์ สวทช.กล่าวสรุปว่า สำหรับคนทั่วไปไวรัสซิกามีความเสี่ยงน้อยกว่าไวรัสเด็งกี่ ซึ่งปกติเราต้องระวังไข้เลือดออกอยู่แล้ว อีกทั้งการระบาดยังไม่รุนแรงพอให้ผู้หญิงชะลอการตั้งครรภ์ แต่หากมีการระบาดใหญ่เกิดขึ้น ผู้หญิงที่จะตั้งครรภ์ต้องดูแลตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด แต่เกิดหากเกิดการระบาดใหญ่ก็จะทำให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกัน เนื่องจากมีเชื้อตัวเดียวไม่เหมือนเด็งกี่ที่มีถึง 4 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าในเชิงกลยุทธ์อาจปล่อยให้มีการระบาดในทีเดียว และให้ผู้หญิงชะลอการตั้งครรภ์ในช่วงที่มีการระบาดหรือป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด แต่ยังมีคำถามที่ยังตอบไม่ได้ว่า เหตุใดจึงไม่เกิดการระบาดใหญ่ทั้งที่พบเชื้อในไทยมานานแล้ว