xs
xsm
sm
md
lg

เฝ้าระวังเข้ม 4 จังหวัด พบป่วยซิกาเพิ่ม วอนช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เฝ้าระวัง 4 จังหวัด หลังพบผู้ป่วย “ซิกา” เพิ่ม ยันไม่ร้ายแรง ไม่ทำให้ตาย แต่กระทบหญิงท้อง เสี่ยงทารกศีรษะเล็ก วอนช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลาย ป้องกันตนเอง เผยยังไม่มีข้อมูลสายพันธุ์เอเชียรุนแรงน้อยกว่าละตินอเมริกา

วันนี้ (5 ก.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เรื่องโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ว่า ขณะนี้ยังมี 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ บึงกาฬ เพชรบูรณ์ และ จันทบุรี ที่ยังต้องเฝ้าระวัง โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยรายใหม่ใน 4 จังหวัดดังกล่าว จำนวน 20 คน ซึ่งการตรวจพบได้เยอะ เพราะเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้เพ่งเล็งที่ตัวเลขผู้ป่วยมาก เพราะไม่อยากให้เกิดความตื่นตระหนก เพราะพบผู้ป่วยประปราย และพบมานานตั้งแต่ปี 2555 สำหรับการประชุมดังกล่าวเพื่อทบทวนมาตรการไม่ให้ประมาท เนื่องจากพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างสิงคโปร์ และมาเลเซีย พร้อมกันนี้ อยากขอความร่วมมือจากประชาชนและชุมชนดำเนินมาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้าน เก็บขยะรอบบ้าน และเก็บน้ำ เพื่อช่วยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งตอนนี้พบว่าหลังจากพ้นช่วงรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลาย ทำให้มีปริมาณลูกน้ำยุงลายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 60

“อยากจะขอความร่วมมือกันในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งจะป้องกันได้ ทั้งโรคซิกา ชิคุนกุนยา และไข้เลือดออก นอกจากนี้ ขอให้นอนกางมุ้ง และหมั่นทายากันยุง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหญิงวัยเจริญพันธุ์และตั้งครรภ์ เพราะแม้ไวรัสซิกาจะไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ทำให้เสียชีวิต แต่มีผลต่อหญิงตั้งครรภ์ ทำให้ทารกเกิดมามีความพิการ ศีรษะเล็ก ส่งผลถึงพัฒนาการของเด็ก และมีผลต่อผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องเฝ้าระวังทารกในครรภ์อาจมีความผิดปกติศีรษะเล็กจากเชื้อไวรัสซิกา 30 คน ในจำนวนนี้คลอดแล้ว 6 ราย เป็นเป็นปกติทุกราย” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า สธ. ได้ขอให้กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ทำคู่มือสำรวจและขึ้นทะเบียนทารกพิการแต่กำเนิดจากทุกสาเหตุ รวมถึงการติดเชื้อไวรัสซิกาด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ในจำนวนเด็กศีรษะเล็กแต่กำเนิดในประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 200 - 300 รายนั้น ยังไม่พบจากการติดเชื้อไวรัสซิกาแต่อย่างใด เบื้องต้นยังไม่ได้กำหนดต้องทำทั้งประเทศ แต่จะเน้นพื้นที่ที่พบผู้ป่วยเป็นหลักก่อน โดยอาการป่วยจะมีอยู่ 4 - 5 วัน ปวดศีรษะ เยื่อบุตาอักเสบ มีไข้อ่อนเพลีย มีผื่นแดง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ต้องรักษาตามอาการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไวรัสซิกาสายพันธุ์เอเชียกับสายพันธุ์ละตินอเมริกามีความรุนแรงต่างกันหรือไม่ เพราะไทยมีการระบาดมานานแต่ไม่มีเด็กศีรษะเล็กจากเชื้อนี้ แตกต่างจากทางละตินอเมริกา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลตรงนี้ คงต้องมีการศึกษาต่อไป ไม่ใช่แค่รอข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกอย่างเดียว แต่ประเทศไทยก็ต้องศึกษาเรื่องนี้เองด้วย ส่วนกรณีการจัดพื้นที่การระบาดของโรคนั้นจะยึดตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกเท่านั้น และในส่วนของประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่พบผู้ป่วยประปราย ไม่ใช่พื้นที่สีแดงตามที่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป (อีซีดีซี) ระบุ

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่พบการระบาดในไทย แต่หากอยู่ในสถานการณ์ที่มีการระบาดอาจมีผู้ติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 73  ประมาณร้อยละ 18 ของผู้ติดเชื้อแสดงอาการ อาการที่มักพบบ่อย คือ ไข้ผื่น ปวดข้อ ตาแดง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและปวดศีรษะ อาการป่วยมักจะปรากฏอยู่เพียง 4 - 5 วัน และมักจะมีอาการไม่เกิน 1 สัปดาห์  อาการรุนแรงถึงขั้นต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลพบน้อย พบผู้ป่วยเสียชีวิตน้อยมาก


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น