xs
xsm
sm
md
lg

กทม.แจงพบผู้ป่วย “ซิกา” 22 ราย คุมสถานการณ์อยู่ เฝ้าระวังเข้ม 4 กลุ่มเสี่ยง ขอ ปชช.อย่าตระหนก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม. แจงเคสหญิงตั้งครรภ์เขตสาทร ป่วย “ซิกา” สืบสวนโรครัศมี 100 เมตร พบติดเชื้อเพิ่มอีก 21 ราย รอผลแล็บเพิ่มอีก 30 ราย ติดเชื้อหรือไม่ ยันคุมสถานการณ์ได้ พร้อมเฝ้าระวังเข้ม 4 กลุ่มเสี่ยง ชี้ บ้านหญิงตั้งครรภ์ดัชนีลูกน้ำสูง ขอ ปชช. ร่วมกำจัดลูกน้ำยุงลาย

วันนี้ (12 ก.ย.) พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงข่าวกรณีพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ป่วยอีก 21 รายในพื้นที่ กทม. ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2559 กทม. พบผู้ป่วยไวรัสซิกามาแล้ว 7 ราย ซึ่งมีการสอบสวนโรคและปิดเคสไปแล้วเรียบร้อย แต่ล่าสุด รายที่ 8 พบที่เขตสาทร เป็นหญิงตั้งครรภ์ คาดว่า ติดเชื้อมาจากสามีเดินทางมาจากสิงคโปร์ หลังจากทราบได้มีการสอบสวนโรคและตรวจหาเชื้อ ซึ่งผลแล็บยืนยันว่า มีผู้ติดเชื้ออีก 21 ราย ซึ่งมาจาก 1. เป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิด และ 2. อยู่ในบริเวณรัศมีรอบบ้านผู้ป่วย 100 เมตร และมีอาการบ่งชี้ด้วยอาการไข้ออกผื่น ปวดข้อ ตาแดง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรวม 22 คน ไม่ได้อยู่แค่เขตสาทร แต่มีการกระจายไปยังเขตอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ ไม่ขอเปิดเผยว่าอยู่เขตใดบ้าง เนื่องจากขณะนี้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบในเรื่องของจิตใจ ซึ่งอยากวอนสื่อในการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วย เพราะอาจมีเรื่องของการละเมิดสิทธิผู้ป่วยด้วย

“ส่วนรายอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างรอผลตรวจเชื้อจากแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีอยู่อีก 30 ราย คาดว่า ผลน่าจะออกในเร็ว ๆ นี้ แต่หากพบว่ามีการติดเชื้อก็จะดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคต่อไปเหมือนกรณีนี้ โดยรายล่าสุดซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่เขตสาทรนั้น เราทราบข้อมูลและลงพื้นที่ในวันที่ 2 ก.ย. ก็พบว่า มีผู้ป่วย 2 ราย จากนั้นวันที่ 3 ก.ย. พบอีก 5 ราย วันที่ 5 ก.ย. พบอีก 6 ราย วันที่ 6 ก.ย. พบอีก 7 ราย และวันที่ 7 ก.ย. พบอีก 2 ราย รวมเป็น 22 ราย ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระบบการเฝ้าระวังทั้งสิ้น ทั้งนี้ ใน 21 คนดังกล่าว พบมีหญิงตั้งครรภ์หนึ่งคน มีอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าไม่มีเชื้อแล้ว แต่ยังต้องอัตราซาวนด์อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามทารกในครรภ์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ แต่โดยปกติแล้วหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องระวัง คือ ช่วงตั้งครรภ์ประมาณ 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังสร้างอวัยวะต่าง ๆ” พญ.วันทนีย์ กล่าว



ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปสถานการณ์ กทม. ถือว่ามีการระบาดของซิกาหรือไม่  พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า เรียกว่า เป็นการระบาดในบางพื้นที่ ไม่ใช่ระบาดเป็นวงกว้าง และไม่น่าวิตกกังวล ไม่อยากให้ตื่นตระหนก แต่ขอให้ตระหนัก เพราะ กทม. ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการเฝ้าระวังและควบคุมโรค โดยกลุ่มเสี่ยงมีอยู่ 4 กลุ่ม คือ 1. หญิงตั้งครรภ์ ที่ฝากครรภ์ในสถานพยาบาลทุกสังกัด สูตินรีแพทย์จะมีการตรวจ หากมีอาการไข้ออกผื่น ปวดข้อ ตาแดง ก็จะส่งตรวจเชื้อ  2. ทารกที่คลอดออกมามีศีรษะเล็กกว่าปกติ หากพบแพทย์จะซักประวัติและเจาะเลือดเพื่อตรวจสอบและเข้าสู่ระบบการติดตามต่อไป  3. ผู้ป่วยโรคปลายประสาทอักเสบ ซึ่งมีรายงานวิชาการว่าอาจมาจากไวรัสซิกาได้  และ 4. กลุ่มที่มีอาการไข้ออกผื่น ปวดข้อ และตาแดง  แต่ทั้งหมดขอย้ำว่ายังไม่พบว่ามีผู้ป่วยซิการายใดที่เสียชีวิต

เมื่อถามว่า หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อจากสามีที่เดินทางมาจากสิงคโปร์ เพราะการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่  พญ.วันทนีย์ กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์ดังกล่าวมีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์แล้ว ไม่แน่ใจว่าจะติดจากการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ แต่ก็มีข้อมูลรายงานว่าสามารถติดเชื้อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ แต่เท่าที่สอบสวนโรคพบว่าที่บ้านของหญิงตั้งครรภ์รายนี้มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงมาก

นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า สำนักฯ ได้ให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยทุกคนในการดูแลตนเองและป้องกันไม่ให้แพร่กระจายเชื้อ จากการที่ยุงลายมากัดตน และอาจนำเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์แรกและช่วงที่มีไข้ และเชื้อยังอยู่ในกระแสเลือด จึงต้องมีการระมัดระวัง แต่คงไม่ได้ห้ามออกนอกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มีการเฝ้าระวังตามเกณฑ์ของ สธ. คือ 28 วันหากไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ ถือว่าเป็นพื้นที่ปลอดเชื้อ ทั้งนี้ ช่วงที่พบผู้ป่วยซิกาที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ในเขตสาทร จากการสอบสวนโรคพบว่ามีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงมาก แต่หลังจากเข้าไปมีการควบคุมโรคก็พบว่าค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายลดลง ดังนั้น จึงขอรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ตนอยู่ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีฝนตกยิ่งเพิ่มโอกาสการแพร่พันธุ์ของยุงลาย ซึ่งไม่เพียงแต่ป้องกันได้แค่ซิกา แต่ยังป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยาด้วย

นพ.อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต ผู้ช่วย ผอ.สำนักงานควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาสะสม 97 รายจากทั่วประเทศ แต่อยู่ในภาวะควบคุมได้ ทั้งนี้ มีอยู่เพียง 12 อำเภอ ใน 6 จังหวัด ที่มีรายงานผู้ป่วย และอยู่ในระยะของการควบคุมโรค โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยใหม่ก็ดำเนินการอย่างเข้มข้น ไม่ให้เจอผู้ป่วยเพิ่มเติม

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดความคิดเห็น