สธ. แจงเอาผิด “บ้าน” เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ ชี้ มี พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 กำหนดชัด ตรวจเจอลูกน้ำยุงลายต้องเร่งแก้ไข หากไม่ทำเอาผิดได้ทั้งจำคุกไม่เกิน 1 เดือน - ปรับไม่เกิน 2,000 บาท เผย มี 250 ท้องถิ่น ออกข้อกำหนดโทษสูงกว่าปรับถึง 5,000 บาท ชี้ สิงคโปร์โทษแรงกว่าปรับ 200 เหรียญ หากเจอครั้งที่ 3 ส่งฟ้องศาล
จากกรณี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแนวคิดใช้กฎหมายเอาผิดคนที่ปล่อยให้บ้านเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งอาจก่อโรคต่อผู้อื่น จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์นั้น
วันนี้ (15 ก.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวมาตรการควบคุมลูกน้ำยุงลายให้ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออก และ ซิกา ว่า ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับยุงลายว่า เป็นพาหะนำโรคสู่คนไทย ต้องมีการกำจัดเพื่อควบคุมโรค แต่ผ่านมา 20 ปี โรคไข้เลือดออกก็ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขไทย ขณะนี้ยังนำโรคติดเชื้อซิกาอีก ทุกคนจึงต้องช่วยกันกำจัดยุงลายให้หมดไป ซึ่ง สธ. และรัฐบาลประกาศให้ช่วยกันกำจัดยุงลายด้วยมาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บขยะ เก็บบ้าน เก็บน้ำ ขณะเดียวกัน ก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปควบคุมยุงลายรอบแหล่งระบาดรัศมี 100 เมตร แต่ก็ยังป้องกันไม่ได้ ดังนั้น ทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน โดยดูแลบ้านของเราเองไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ยิ่ง กทม. เจ้าหน้าที่ยิ่งเข้าไปดูแลค่อนข้างยาก ก็ต้องช่วยกันดู ส่วนพื้นที่สาธารณะ วัด ก็ต้องช่วยกันด้วย
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับการใช้กฎหมายเอาผิดหากปล่อยให้ที่บ้านเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนั้น จริง ๆ มีกฎหมายมานานแล้ว คือ พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นเหตุรำคาญ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายแล้วไม่แก้ไขตามที่กำหนด ถือว่าไม่ปฏิบัติตามก็จะมีความผิด จะเห็นได้ว่าไม่ได้เพิ่งมีกฎหมาย แต่มีมาก่อนแล้ว เพียงแต่ไม่มีการนำมาใช้ แต่เมื่อจะนำมาใช้ก็มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างรุนแรง ซึ่งก็ไม่ช่วยให้ยุงลายลดลง
“ใจจริงไม่ได้ต้องการนำมาตรการในเชิงลบมาใช้ แต่ก็ต้องป้องปราม อยากให้ทุกคนช่วยกันมากที่สุด ในการดูแลบ้านของเราเอง และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่คนอื่น ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงประชาชนมาร่วมมือกัน ตามแนวประชารัฐ ซึ่งหากทุกคนร่วมมือกันอย่างเต็ม ที่อะไรที่ไม่เคยทำได้ก็จะสามารถทำได้ ที่สำคัญ จะช่วยลดทั้ง 3 โรค คือ ซิกา ไข้เลือดออก และ ชิคุนกุนยา ที่เห็นได้ชัดคือ เขตสาทร ที่พบผู้ป่วยซิกาแรก ๆ ไปตรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายพบเกินร้อยละ 50 แต่เมื่อร่วมกันดูแลตอนนี้ก็เหลือศูนย์” รมว.สธ. กล่าว
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับโรคซิกานั้น จากการหารือกับรัฐมนตรี สธ. สิงคโปร์ พม่า และ ลาว ทำให้ทราบว่า ซิกาเป็นโรคประจำถิ่น ความรุนแรงน้อยกว่าไข้เลือดออก โดยซิกาอาการจะมีไข้ผื่น หายเองได้ประมาณ 7 วัน ที่ต้องกังวลคือ มีภาวะแทรกซ้อนต่อหญิงตั้งครรภ์ และสัมพันธ์กับอาการทางประสาท สมอง ซึ่งน้อยมาก ยืนยันว่า สธ. ไม่เคยปิดข้อมูล เพราะหลังจากมีข่าวจากบราซิล ไทยก็เริ่มเก็บข้อมูล พบว่า มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปี ถึงปัจจุบัน 279 ราย และเป็นเพียงแค่ 7 วันก็หาย ขณะนี้ที่ได้รับรายงานว่า พบในผู้ป่วยเพียง 23 ราย และจะหายใน 7 วัน ไม่จำเป็นต้องกักตัว เพราะเชื้ออยู่ในร่างกายเพียง 2 - 3 วัน แค่ต้องระวังอย่าให้ยุงกัดเพราะจะแพร่เชื้อต่อ ทั้งนี้ วันที่ 19 ก.ย. จะมีการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับรัฐมนตรี สธ. อาเซียน และจะออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์ซิกาของอาเซียน ทั้งนี้ ซิกาในภูมิภาคอาเซียนมีความแตกต่างจากสายพันธุ์ละตินอเมริกา
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า กฎกระทรวงมีอยู่แล้ว โดยกำหนดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นเหตุรำคาญ หากเจ้าหน้าที่มาตรวจและพบลูกน้ำยุงลายก็จะสั่งให้ดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 7 วัน จากนั้นอีก 1 เดือน จะมาตรวจสอบ หากไม่ปฏิบัติตามหรือไม่ดีขึ้นก็จะถือว่ามีโทษ ซึ่งตามมาตรา 74 ของ พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท อย่างไรก็ตาม มีท้องถิ่นหลายแห่ง ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล นำเอาหลักการดังกล่าวไปออกเป็นเทศบัญญัติ หรือข้อกำหนดในท้องถิ่นเพื่อควบคุมโรค ซึ่งหากมีก็ให้ใช้ข้อกำหนดของท้องถิ่นแทน ซึ่งพบว่ามีโทษปรับสูงสุดถึง 5,000 บาท โดยขณะนี้มีท้องถิ่นที่ออกข้อกำหนดแล้ว 250 แห่งใน 11 จังหวัด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สิงคโปร์ก็มีกฎหมายเช่นนี้ หากพบลูกน้ำยุงลาย ครั้งแรก ปรับ 200 เหรียญสิงคโปร์ หากเจอครั้งที่ 2 ปรับ 400 เหรียญ แต่หากเจอครั้งที่ 3 ก็ส่งฟ้องศาล อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย คร. ได้ร่วมกับท้องถิ่น มีการตรวจลูกน้ำยุงลายทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งหากตรวจพบก็จะมีการแจ้งเตือนให้ดำเนินการตามมาตรา 3 เก็บ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่