สธ. เผยพบผู้ป่วย “ซิกา” รายใหม่สัปดาห์ละ 20 ราย สถานการณ์คงตัว ขออย่าตระหนกจำนวนผู้ป่วยสะสม 200 กว่าราย ตั้งแต่ต้นปี เหตุหายป่วยได้เองใน 1 สัปดาห์ เล็งปรับการรายงานผู้ป่วยจากจังหวัดเป็นพื้นที่ ห่วงไข้เลือดออกระบาดสูงกว่า 100 เท่า
วันนี้ (13 ก.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา พบผู้ป่วยซิกาสะสมประมาณ 200 กว่าราย แต่หายดีหมดแล้ว เนื่องจากโรคนี้สามารถหายป่วยได้เองภายใน 1 สัปดาห์ จึงไม่อยากให้ประชาชนตระหนกกับตัวเลขผู้ป่วยสะสม เพราะไม่ได้มีนัยยะอะไรต่อการระบาด เพราะอยากให้มองที่จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ต่อสัปดาห์มากกว่า ซึ่งจะสะท้อนว่าสามารถควบคุมโรคได้ดีหรือไม่ โดยในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยรายใหม่เริ่มทรงตัว คือ ประมาณ 20 กว่ารายต่อสัปดาห์ ถือว่าดำเนินการควบคุมโรคได้ดีระดับหนึ่งแล้ว เพราะช่วงนี้ก็มีฝนตกและยุงลายมีจำนวนมาก และขณะนี้พบเพียง 3 - 4 จังหวัดเท่านั้น
“ที่สำคัญ การพบการติดเชื้อก็เป็นเพียงบางจุด บางพื้นที่ ไม่ได้ระบาดทั้งจังหวัด และไม่ได้ระบาดทุกอำเภอ ตำบล ดังนั้น การรายงานผู้ป่วยจากเดิมที่รายงานเป็นจังหวัด ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวที่ไม่อยากเข้าไปในพื้นที่ กรมควบคุมโรค (คร.) จึงกำลังปรับให้เป็นการเป็นระดับอำเภอ หรือตำบล เป็นพื้นที่ที่ไป สำหรับผู้ป่วยใน กทม. ก็มีการติดตามเป็นระยะ ส่วนอีก 30 ราย ที่ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า รอผลทางห้องแล็บ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล แต่ยังไม่พบการระบาดเพิ่มแต่อย่างใด” รองปลัด สธ. กล่าวและว่า ขอให้ประชาชนร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งไม่ได้ป้องกันแค่ซิกาเท่านั้น ยังรวมทั้งโรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยาด้วย โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกที่ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันพบผู้ป่วย 38,000 ราย เสียชีวิต 31 ราย
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยเจอซิกามาแล้วระยะเวลาหนึ่ง และถือเป็นโรคที่พบได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากผู้ป่วยในมาเลเซีย และ สิงคโปร์ ก็ไม่ได้มีประวัติการเดินทาง แสดงว่า เป็นโรคที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ และประเทศที่ไม่พบผู้ป่วย ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มี เพียงแต่อาจไม่ได้มีระบบการตรวจที่ดีพอ ส่วนที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยมาก เนื่องจากมีการตรวจเข้มโรคซิกามากขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 100 เท่า เพราะมีข้อมูลว่าซิกาสัมพันธ์กับเด็กทารกแรกเกิดที่มีสมองเล็ก จึงต้องมีการตรวจเข้มมากขึ้น ส่วนพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังมี 4 จังหวัด คือ บึงกาฬ เพชรบูรณ์ จันทบุรี และ เชียงใหม่ สำหรับการเฝ้าระวังหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ที่พบโรคมีประมาณ 33 ราย คลอดแล้ว 8 ราย เด็กปลอดภัยดี ไม่มีภาวะสมองเล็ก แต่ต้องติดตามเฝ้าดูอย่างต่อเนื่อง ส่วนอีก 25 รายก็ต้องติดตามต่อ
นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า มาตรการป้องกันโรคที่สำคัญ คือ การกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งจะมีการประเมินดัชนีลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ทุก 2 สัปดาห์ โดยหากเป็นพื้นที่ที่ไม่พบผู้ป่วย ต้องควบคุมดัชนีลูกน้ำยุงลายให้ไม่เกิน 5% แต่หากเป็นพื้นที่พบผู้ป่วยต้องลดดัชนีลูกน้ำยุงลายให้เป็น 0 ภายใน 5 วัน ซึ่งการกำจัดลูกน้ำยุงลายไม่ใช่แค่ป้องกันซิกา แต่ยังรวมถึงไข้เลือดออก ซึ่งตัวเลขผู้ป่วยมากกว่า โดยในรอบสัปดาห์พบสูงถึง 2,000 คน ขณะที่ซิกาพบ 20 คน จึงต้องคุมเข้มทั้งหมด ที่น่าห่วงคือ ช่วงนี้หน้าฝนปริมาณลูกน้ำยุงลายเพิ่มขึ้น เห็นได้จากดัชนีลูกน้ำยุงลายที่วัดได้ภายในบ้านเฉลี่ย 20 - 30% โรงเรียนสูงถึง 30 - 40%
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า รมว.สธ. มีความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์โรคระบาดในแถบอาเซียน จึงเตรียมพร้อมในการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนวาระพิเศษเรื่องไวรัสซิกา คาดว่า จะมีการประชุมภายในสัปดาห์หน้า เกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสซิกาในแต่ละประเทศ การเตรียมความพร้อม และการช่วยเหลือในแง่การตรวจยืนยันเชื้อ
พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์ต้องเฝ้าระวังช่วง 1 - 6 เดือนแรก เพราะเป็นช่วงที่ทารกสร้างอวัยวะและพัฒนาการต่าง ๆ ส่วนหลังจาก 6 เดือนเป็นต้นไปยังไม่มีข้อมูลวิชาการยืนยัน อย่างไรก็ตาม การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากใครกังวลว่าทาครีมกันยุงจะมีผลต่อทารกก็ให้ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น ตะไคร้ ส่วนหญิงที่คลอดลูกแล้วแต่ป่วยซิกา ช่วงป่วยไม่ควรให้นมบุตร ซึ่งเหมือนการป่วยโดยทั่วไปที่ต้องเว้นการให้นมลูกไปก่อน แต่เมื่อหายป่วยแล้วก็สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ ซึ่งการให้นมลูกกรณีหายป่วยแล้วจะเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ลูกด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่