ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ที่ผ่านมา “คณะกรรมการกฤษฎีกา”เสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ให้รัฐบาลพิจารณา โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม พ.ศ. ... หลังจาก ครม. เห็นชอบเพื่อส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตราเป็นกฎหมาย
ร่างฉบับนี้ ถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญ โดยจะช่วยให้เกษตรกรทั้งระบบได้รับความเป็นธรรมจากการทำเกษตรแบบมีพันธสัญญา (คอนแทรค ฟาร์มมิ่ง) หลังจากที่ผ่านมาเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมจากความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจ ทำให้ถูกเอาเปรียบจากคู่สัญญาที่มีอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า โดยพบว่า เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากถูกเอาเปรียบจากบริษัทขนาดใหญ่ หรือขนาดกลาง โดย ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลงใน 5 ด้าน ประกอบด้วย
1. มีคำนิยามของ เกษตรพันธสัญญา คือ การดำเนินระบบผลิต ผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่เกิดขึ้น จากการมีสัญญาระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตรและบุคคลที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป ซึ่งเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดา สหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชน ทำให้เกิดความชัดเจนว่าสิ่งที่จะเข้าข่ายกฎหมายฉบับนี้
2.กำหนดกลไกการดำเนินงาน โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา มีหน้าที่ในการจัดทำแผน ตรวจสอบสัญญา และกำหนดรูปแบบสัญญากลาง
3.กำหนดกฎเกณฑ์เรื่องการจดแจ้ง โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจเกษตรพันธสัญญา ต้องจดแจ้งประกอบธุรกิจกับสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทำระบบทะเบียนเพื่อให้เกษตรกรตรวจสอบที่มาที่ไปและ มีโอกาสหลอกลวงหรือไม่
4.กำหนดให้บริษัททำหนังสือชี้ชวนก่อนทำสัญญากับเกษตรกร เพื่อให้ทราบเงื่อนไขล่วงหน้าและส่งหนังสือชี้ชวนให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรตรวจสอบความเป็นธรรมด้วย
5.กำหนดมาตรการคุ้มครอง โดยระหว่างกรณีพิพาท บริษัทไม่สามารถทำการที่นำไปสู่ความเสียหายแก่เกษตรกรได้ เช่น ไม่ส่งตัววัตถุดิบ อาหารสัตว์ หรือไม่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต่อเนื่องมาจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม พ.ศ. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ลงนามเมื่อ วันที่ 7 มี.ค.59
โดยมีหลักการว่า ในปัจจุบันได้มีการนำสัญญาจ้างผลิตและรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา “สมาชิกคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่ง”มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย ซึ่งแม้จะช่วยพัฒนาระบบการทำเกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่โดยที่สัญญาดังกล่าวมีลักษณะผสมผสานระหว่างสัญญาจ้างทำของ สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาซื้อขาย ซึ่งมีความซับซ้อนและยุ่งยากในการวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าและต้นทุนในการดำเนินการส่งผลให้เกษตรกรต้องรับภาระความเสี่ยงในการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา และก่อให้เกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่างคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับเกษตรกร อันส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตสินค้าทางการเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศ
หลังจากนั้น มีการตั้ง “คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม”เพื่อรวบรวมข้อมูลและสภาพปัญหาเกี่ยวกับการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา และเสนอแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม มีรมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ มีรมว.ยุติธรรม เป็นรองประธาน และยังมี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินสิบคน จากการแต่งตั้งของรัฐมนตรี มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี
คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ เสนอแนะรูปแบบสัญญาที่เป็นธรรมต่อหน่วยงานรัฐ ต่าง ๆตราหรือแก้ไขกฎหมาย ติดตาม ประสานงาน หรือเร่งรัด รวมไปถึงกำหนดแนวทางหรือมาตรการโดยต้องคำนึงถึงอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ
อย่างไรก็ตาม พบว่าในช่วงที่ “สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.”ทำข้อเสนอ “ร่างกฎหมายฯ”มายังรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) “ตีพิมพ์ใน วาระปฏิรูปพิเศษ 9 : การปฏิรูประบบเกษตรพันธสัญญาให้เป็นธรรม ของสํานักการพิมพ์ สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สิงหาคม 2558) กำหนดว่า “ระบบเกษตรพันธสัญญา”หมายความว่า “ระบบการผลิตสินค้าและบริการทางการเกษตร ทั้งในด้านการปศุสัตว์ประมง และในการผลิตพืช ผัก ผลไม้ ที่มีสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับเกษตรกร ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม”เห็นควรให้จัดตั้ง “คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม”
ในหมวด 3 กำหนดให้มีการจดแจ้งและการเปิดเผยข้อมูล โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาหรือเลิกการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาต้องจดแจ้งการประกอบธุรกิจหรือการเลิกประกอบธุรกิจต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร และเปิดเผยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้ ยังพบว่า ตามหมวด 4 ว่าด้วย “การคุ้มครองคู่สัญญาในระหว่างไกล่เกลี่ยข้อพิพาท”มาตรา 18 ในกรณีที่มีปัญหาหรือเกิดข้อพิพาทในระบบเกษตรพันธสัญญา ให้คู่สัญญาหรือผู้มีส่วนได้เสียเข้าสู่กระบวนการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและกรอบเวลาที่คณะกรรมการกำหนดก่อน จึงจะมีสิทธิฟ้องร้องต่อศาล มาตรา 19 ในระหว่างกระบวนการตามมาตรา 18 ห้ามมิให้กระทำการ ดังต่อไปนี้
(1.) ชะลอ ระงับหรือยุติการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย เว้นแต่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะปฏิเสธไม่ยอมรับ (2.) กระทำการใดๆ ที่เป็นการเสียหายแก่คู่สัญญาทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ การหยุดนำส่งปัจจัยการผลิต เป็นต้น (3.) ตกลงเพิ่มเติมหรือแก้ไขเพื่อให้คู่สัญญาอีกฝ่ายเป็นผู้รับความเสี่ยงภัย รับภาระ หรือมีหน้าที่เพิ่มเติมแต่เพียงลำพัง โดยไม่มีค่าตอบแทนในระดับที่เทียบเท่ากันได้ในทางเศรษฐกิจ โดยข้อตกลงเพิ่มเติมนั้นให้ถือว่าเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ และไม่มีผลผูกพันกัน
สุดท้าย หมวด 5 บทกำหนดโทษ มาตรา 20 ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งหรือหนังสือเรียก ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และปรับอีกวันละไม่เกินห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
มาตรา 21 ผู้ใดใช้เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือข้อความใดที่ตีความได้ว่าได้รับการรับรองการจดแจ้ง โดยมิชอบ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 22 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการ หรือการกระทำของบุคคลใด หรือไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นด้วย
มาตรา 23 บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี ให้คณะกรรมการมีอำนาจเปรียบเทียบได้
ในการใช้อำนาจดังกล่าวคณะกรรมการอาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการ เลขานุการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำการแทนได้ เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
อย่างไรก็ตาม พบว่า “บทกำหนดโทษ”ในส่วนของข้อเสนอขอ “กฤษฎีกา”กลับรุนแรงกว่า เช่น มีการกำหนดโทษปรับไม่เกินสามแสนบาทสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรซึ่งไม่แจ้งการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา ไม่แจ้งการยกเลิกการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา หรือไม่จัดทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนก่อนการทำสัญญา
กำหนดโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน สำหรับคู่สัญญาซึ่งชะลอ ระงับ หรือยุติการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายในระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่สัญญาสิ้น
สุดลงแล้วในระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
กำหนดโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท สำหรับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร ซึ่งดำเนินการใดๆ เพื่อให้การทำสัญญาไม่เข้าลักษณะของสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา
ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องมือ ให้ภาครัฐใช้เป็นกฎหมายควบคุม “กลุ่มธุรกิจด้านการเกษตร”ที่มีผลประผลประโยชน์จากเกษตรเป็นหลัก
แม้กลุ่มธุรกิจ ผู้ประกอบการ ขนาดใหญ่ เคยให้คำนิยมของ “เกษตรพันธสัญญา”ว่า ไม่ใช่ระบบที่ทำลายเกษตรกร ไม่ได้เป็นสัญญาทาส หากแต่ต้องเป็นการทำงานที่สอดประสานกันระหว่างบริษัทกับเกษตรกร ที่ต้องแบ่งหน้าที่กัน และช่วยเหลือกันเพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนในอาชีพ โดยมีกฎ กติกา มาตรฐาน และคุณภาพของสินค้า เพื่อให้เกษตรกรที่จะเข้าร่วมเป็น “สมาชิกคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่ง”ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย.