xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” หวัง นศ.ใช้พลังบวกนำชาติก้าวหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
เสวนาสานพลังนักศึกษาเพื่อปฏิรูปประเทศไทย อดีตแกนนำ 14 ตุลา หวังให้ใช้พลังบวกนำก้าวเดินข้างหน้า เชื่อพลังของอนาคต ขอให้รู้จักคิด วิเคราะห์ด้วยตัวเองมากกว่ายึดติดครู

วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของโครงการเสวนาเรื่อง สานพลังนักศึกษาเพื่อปฏิรูปประเทศไทย โดยในช่วงเช้า เป็นการอภิปรายเพื่อทบทวนกติกา และมอบโจทย์การเสวนาให้แก่กลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วมเวทีประชาเสวนา เพื่อมองอดีตเป็นบทเรียน โดยมี นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตย รวมถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยที่ควรปฏิรูป ให้แก่กลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ก่อนที่จะแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดในประเด็นภาพที่พึงปรารถนาของประเทศไทยในอนาคต แล้วเราในฐานะเป็นกลุ่มพลังนักศึกษาจะช่วยกันทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงได้อย่างไร และจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปอย่างไร เพื่อประเทศไทยเป็นแบบในฝันมีภาพอนาคตในแบบที่ทุกคนต้องการ

จากนั้น นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และอดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงเหตุการณ์ตุลาคม 2516 ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการประชาเสวนาในครั้งนี้ว่า นิสิต นักศึกษาที่ได้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้เป็นผู้นำนักศึกษา นักกิจกรรมต่างๆ และเป็นผู้ที่ทำงานเพื่อส่วนรวมการใช้กระบวนการประชาเสวนานั้น เพื่อให้นิสิต นักศึกษาใช้พลังบวก และใช้ศักยภาพของตน มองภาพอนาคตของประเทศไทย ซึ่งนิสิต นักศึกษาจะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการร่วมปฏิรูปประเทศไทย ให้ก้าวเดินไปข้างหน้า

ทั้งนี้ นายประสาร ได้กล่าวถึงความคาดหวังในครั้งนี้ว่า หลังจากที่นักศึกษาได้ร่วมโครงการนี้แล้วจะนำความรู้ที่ได้ไปขยายผลในองค์กรต่อไป เพื่อหารือ วิเคราะห์ และสรุป เมื่อได้ข้อยุติ จะส่งกลับมายัง สปช.ต่อไป ทั้งนี้ พลังของนิสิต นักศึกษาจะเป็นพลังของอนาคตที่ทุกคนมีความรู้สึก และมีส่วนร่วม อยากเห็นการเรียนรู้ของกลุ่มนิสิต นักศึกษาที่ดีกว่านี้ นิสิต นักศึกษาต้องรู้จักคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ด้วยตนเองมากกว่ายึดติดที่ตัวครูผู้สอน เวทีประชาเสวนาในครั้งนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้นิสิต นักศึกษามีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นในการปฏิรูปประเทศไทย และจะจัดเวทีเช่นนี้ในทุกภาคเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

ส่วนการเสวนาในช่วงบ่าย เป็นการนำเสนอผลการเสวนากลุ่มย่อย ในประเด็นระบบการศึกษาที่ดี ซึ่งแต่ละกลุ่มเสนอประเด็นสำคัญดังนี้ 1. ปรับปรุงระบบคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น มีมาตรฐานการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐานเพื่อให้นำมาใช้ได้ในชีวิตจริง 2. มีการสอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นมากกว่าท่องจำ รวมทั้งสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเด็ก ทำให้นักเรียนนักศึกษาได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมครอบคลุมทั้งผู้ยากจนและผู้ด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา 3. ปรับปรุงมาตรฐานรร.รัฐบาลให้เทียบเท่าเอกชน ปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีมาตรฐานเดียวกัน 4. จัดสรรงบประมาณในส่วนการเรียนการสอนให้มากขึ้น จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนท้องถิ่นให้เข้ากับภูมิภาคนั้นๆ

5. ส่วนของการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา พัฒนาครูผู้สอนให้มีคุณภาพ ต้องมีการประเมินเพื่อปรับปรุงแก้ไข โดยเน้นการประเมินด้านจรรยาบรรณครู รวมทั้งปรับเงินเดือนครู เพื่อสร้างแรงจูงใจ 6. สถาบันการศึกษาต้องปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง 7. จัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนาระบบการศึกษา มีระบบที่ตรวจสอบมาตรฐานระบบการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด 8. ควรกำหนดนโยบายการเรียนฟรีให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาทุกระดับชั้นตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา ควรทำให้เป็นนโยบายการเรียนฟรีอย่างแท้จริง 9. เพิ่มทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษา ให้นำไปใช้ได้จริง ส่วนประเด็นด้านพลเมืองที่ดี เสนอประเด็น มีปัญญาความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม โดยสร้างจิตสำนึกให้แก่ตนเอง รวมทั้งเผยแพร่คุณธรรม จริยธรรมด้วย

ส่วนประเด็นด้านการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น มีดังนี้ 1. สร้างกฎหมายที่สามารถใช้ในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นได้อย่างแท้จริง
2. ควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ 3. จัดตั้งองค์การนักศึกษาเพื่อต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม 4. ปรับโครงสร้างระดับภาครัฐและภาคเอกชนให้เข้มแข็ง ปรับโครงสร้างการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมและทั่วถึง 5. ทุกคนมีหน้าที่ในการตรวจสอบทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ การตรวจสอบเป็นหน้าที่ของทุกคน

ส่วนประเด็นระบบการเมืองและนักการเมืองที่ดี เสนอประเด็นดังนี้ 1. ระบบการเมืองต้องปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น 2. จัดตั้งองค์กรนศ.เพื่อตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น 3. จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ร่วมกับภาคประชาชน ในการใช้งบประมาณของรัฐ 4. จัดตั้งชมรมต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นในระดับเยาวชน 5. ต้องมีภาวะความเป็นผู้นำ มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมและจริยธรรม เป็นนักการเมืองอย่างมืออาชีพ 6. นักการเมืองควรมาจากประชาชนทั่วไป 7. ควรจัดเวทีเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 8. ไม่ควรกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนักการเมือง มีบทลงโทษนักการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม 9. ใช้หลักทศพิธราชธรรมในการปกครองบ้านเมือง 10. จัดทำ MOU ทางสังคม กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง 11. ควรจัดทำกระบวนการสรรหา เพื่อค้นหานักการเมืองที่ดี 12. นักการเมืองต้องทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ต่อมาภายหลังพิธีมอบเกียรติบัตร นางสาวทัศนา บุญทอง รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่สอง ในฐานะประธานคณะอำนวยการจัดโครงการเวทีประชาเสวนา กล่าวปาฐกถาปิดโครงการเวทีประชาเสวนา ใจความสำคัญของการกล่าวปาฐกถาปิดเวทีประชาเสวนา "สานพลังนักศึกษาเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย" คือ เยาวชนเป็นกำลังสำคัญของชาติ โดยเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น ถือว่าเป็น ปัญญาชน ที่จะเติบโตไปเป็นพลังของชาติในทุกด้านในวันข้างหน้า การวางอนาคตของชาติในวันนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับฟังจากกลุ่มเยาวชนด้วย เพราะเยาวชนเหล่านี้ เป็นผู้ที่ต้องอยู่เผชิญกับประเทศชาติในวันข้างหน้า

โดยตลอดระยะเวลา 2 วันของโครงการ ทุกคนได้พูดถึงภาพประเทศไทยที่อยากเห็นในแต่ละด้าน ซึ่งเป็นภาพที่สวยสดงดงาม เช่นเดียวกับภาพที่พวกผู้อาวุโสวาดไว้เช่นเดียวกัน การที่จะทำให้ภาพของประเทศไทยเป็นไปอย่างที่เราฝันไว้ ทุกคนต้องช่วยกัน สำหรับความเห็นและข้อเสนอแนะจากโครงการเสวนาในครั้งนี้ จะนำส่งไปยังประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ เพื่อนำประเทศไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ทุกคนถือว่ามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศในครั้งนี้ และมีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเป็นสมบัติของทุกคนด้วย ดังนั้นทุกคนมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

ในตอนท้ายของการปาฐกถา ได้กล่าวขอบคุณ ตัวแทนนิสิต นักศึกษา รวมถึงบุคลากรทุกภาคส่วน ตลอดจนสื่อมวลชนทุกท่าน ที่ได้มีส่วนร่วมในการเสวนาในครั้งนี้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และบรรลุผลตามที่ได้มุ่งหวังทุกประการ


กำลังโหลดความคิดเห็น