xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสืบทอดพระราชกรณียกิจ “รักษาฐานทรัพยากร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจาก พระราชดำริฯ ที่มีกิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช กิจกรรมปลูก รักษาพันธุกรรมพืช กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช กิจกรรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช กิจกรรม วางแผนพัฒนาพันธุกรรมพืช กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และกิจกรรมพิเศษสนับสนุน การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535
พรชัย จุฑามาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิชาการเกษตรทรงคุณวุฒิ สำนักพระราชวัง รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(อพ.สธ) ให้สัมภาษณ์ทีมงาน Green Innovation & CSR+

ธนาคารพืชพรรณเป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้น ที่ต่อมาไม่ใช่แค่เรื่องของเมล็ดพันธุ์อย่างเดียว แต่เป็นทรัพยากรทุกด้าน สายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านของสิ่งแวดล้อม
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระองค์ทรงใช้ทศพิธราชธรรมในการปกครอง
ในเรื่องประโยชน์นั้นจะเห็นว่าจะมีโครงการต่างๆในพระราชดำริมากมาย มีมากกว่า 4000 โครงการ พระราชดำริที่พระองค์ท่านพระราชทานทานก็คือ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นั้นคือให้ประชาชนของท่านอยู่ได้อย่างมีความสุขด้วยหลักความพอประมาน ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไขของความรู้ และคุณธรรม ที่นำไปสู่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมที่สมดุลพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมาร ทรงมาสืบทอดพระราชภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการรักษาฐานทรัพยากรของประเทศที่นำไปสู่หลักเศรษฐกิจพอเพียง ในการที่จะพึ่งตัวเองได้เราต้องมีฐานทรัพยากรที่เป็นทั้งกายภาพ ชีวภาพ และวัฒนธรรมภูมิปัญญา เนื่องจากภูมิปัญญากำกับทรัพยากรในเรื่องอาหาร เครื่องหุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค
เราจะทำอย่างไรให้ 3 ฐานนี้เห็นชัด ทั้ง กายภาพ ชีวภาพ วัฒนธรรมภูมิปัญญา ปัจจุบันนี้โลกเปิดกว้าง คนประเทศอื่นเข้ามาเอาทรัพยากรของบ้านเราไปพัฒนาแล้วก็นำกลับเข้ามา ยกตัวอย่างพืชสมุนไพร มีต่างประเทศเข้ามาขอซื้อสมุนไพรบ้านเรา แล้วก็ไปผลิตเอากลับมาขายที่บ้านเรา เช่น อาหารเสริมจากสมุนไพรบ้านเรามาตั้งราคาแพง
โครงการเกี่ยวกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงทำทุกเรื่อง คนส่วนใหญ่มักคิดว่าพระราชกรณียกิจเป็นเพียงพัฒนาแต่ชนบท แต่แท้ที่จริงแล้วทรงให้ความสำคัญในเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นกุญแจนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้มีรับสั่งในงานการประชุมสิ่งแวดล้อมโลกที่ประเทศสเปน ที่ปรากฎอยู่ในแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ระยะ 5 ปี (ตุลาคม 2554-กันยายน 2559) ในเรื่องของพระราชดำริไปด้วย พระองค์ท่านก็ยังรับสั่งในเรื่องต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เรื่อง ต้นยางนา ที่ทรงอนุรักษ์ต้นยางนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 ก่อนที่ใครจะพูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพ แล้วยังมีเรื่องป่าไม้ สิ่งแวดล้อม เรื่องของดิน น้ำ
การที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงสืบทอดพระราชภารกิจของพระเจ้าอยู่หัวในการรักษาฐานทรัพยากรของประเทศ แล้วก็นำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง นี่เป็นการที่เราจะรู้เท่า และรู้ทัน เพราะตัวอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ สนธิสัญญาระหว่างประเทศ เป็นพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร เป็นการเข้าถึงทรัพยากรในถิ่นกำเนิดและนอกถิ่นกำเนิด ในการเข้าสู่ยุคประชาคมอาเซียน แต่ถ้าเราเปิดบ้านในขณะที่เรายังไม่ได้ขึ้นทะเบียนทรัพย์สิน อันนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องอันตราย เราก็จะสำรวจว่าทรัพยากรบ้านเรามีอะไรบ้าง ทำเป็นงานวิจัย แล้วก็ทำลายพิมพ์ DNAเพื่อรักษาสิทธิ์ของบ้านเรา

4 ยุทธศาสตร์ ทางอพ.สธ. มี 8 กิจกรรม ได้แก่
1.กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช เป็นการรักษาป่าธรรมชาติดั้งเดิมให้มีทั่วประเทศ รักษาทรัพยากรที่อยู่ในป่า
2.กิจกรรมสำรวจเก็บพันธุกรรมพืช ดำเนินสำรวจเก็บรวบรวมในพื้นที่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงพัฒนา เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ ถนน โรงงาน บ้านจัดสรร ทรัพยากรในส่วนนั้นจะสูญไป
3.กิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรมพืช ปลูกต้นไม้ที่มีชีวิต ปลูกไว้ในที่จัดเตรียมไว้ ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เก็บรักษาในรูปของเมล็ดพันธุ์ เมล็ดแห้ง เช่น ข้าว ถั่ว และมะม่วงจะเก็บเป็นเมล็ดไม่ได้ก็จะเก็บในรูปเนื้อเยื่อ และการเก็บรักษา DNA เพื่อขยายพืชพันธุ์ต่อไปในลักษณะการอนุรักษ์
4.กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช ทำการศึกษาประเมินในด้านต่างๆ เช่น ด้านชีววิทยา สรีระวิทยา องค์ประกอบ โอสถสาร คุณสมบัติ สรรพคุณ เพื่อพัฒนานำไปสู่การใช้ประโยชน์ และการศึกษาด้านชีวโมเลกุลเพื่อการรักษาสิทธิ
5.กิจกรรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช โดยนำข้อมูลจากกิจกรรมที่1-4 บันทึก เก็บไว้ในศูนย์ข้อมูล
6.กิจกรรมวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช
7.กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
8.กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
ในการดำเนินกิจกรรมของโครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีหน่วยงานที่สนองพระราชดำริ 40 หน่วยงานจากทั่วประเทศ ได้แก่
กลุ่มความมั่นคงทางทรัพยากร
กองทัพเรือ
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา
กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
กองทัพอากาศ
กลุ่มสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรม
กระทรวงศึกษาธิการ
สำนักงานสภาการศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน
สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและเกษตร
สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ(องค์กรมหาชน)
องค์การพิพิธภัรฑ์วิทยาฯศศาสตร์แห่งชาติ
กลุ่มส่วนราชการที่เกี่ยวกับทรัพยากร
กรมป่าไม้
กรมอุทยานแห่งชาต สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
กรมวิชาการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมประมง
กรมชลประทาน
กรมพัฒนาที่ดิน
กรมทรัพยากรธรณี
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
กรมทรัพยากรน้ำ
กรมการข้าว
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมป์
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
องค์การสวนพฤกศาสตร์
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
กลุ่มอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากร
กลุ่มมหาวิทยาลัยที่ร่วมสนองพระราชดำริ
กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฎและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
กลุมนโยบายในเรื่องของทรัพยากร
กลุ่มจังหวัดที่ร่วมสนองพระราชดำริ
กลุ่มหน่วยงานสนับสนุน
กลุ่มศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการอนุรักษ์พันธุ์พืช ดังนี้

พ.ศ. 2503 ทรงพยายามปกปักยางนา
ในฤดูร้อนเกือบทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐาน ไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระยะแรกเสด็จ พระราชดำเนินโดยรถไฟ ต่อมาเสด็จฯ โดยรถยนต์ เมื่อเสด็จฯ ผ่านอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี สองข้างทางมีต้นยางขนาดใหญ่ขึ้นอยู่มาก ทรงมีพระราชดำริที่จะ สงวนป่าต้นยางนี้ไว้เป็นสวนสาธารณะ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แต่ไม่ สามารถจัดถวายได้ตามพระราชประสงค์ เพราะมีราษฎรเข้ามาทำไร่ทำสวนใน บริเวณนั้นมาก จะต้องจ่ายเงินทดแทนในการหาที่ใหม่ในอัตราที่ไม่สามารถจัดได้

พ.ศ. 2504 ป่าสาธิตทดลอง
เมื่อไม่สามารถดำเนินการปกปักต้นยางนาที่อำเภอท่ายางได้ จึงทรง ทดลองปลูกต้นยางเอง โดยทรงเพาะเมล็ดยางที่เก็บจากต้นยางนาในเขตอำเภอ ท่ายาง ในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกต้น ยางนาเหล่านั้นในแปลงทดลองใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา พร้อมข้าราช- บริพาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2504 จำนวน 1,250 ต้นแม้ต้นยางที่ท่ายางสูญสิ้น แต่พันธุกรรมของยางนาเหล่านั้นยังอนุรักษ์ ไว้ได้ที่สวนจิตรลดา
ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพรรณไม้จากภาคต่างๆ ทั่ว ประเทศ มาปลูกในบริเวณที่ประทับ สวนจิตรลดา เพื่อให้เป็นที่ศึกษาพรรณไม้ ของนิสิตนักศึกษาแทนที่จะต้องเดินทางไปทั่วประเทศ
พ.ศ. 2528 ทรงใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออนุรักษ์พืช
ในวันพืชมงคล วันที่ 9 พฤษภาคม 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราช ดำเนินไปทรงเปิดอาคารห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชที่โครงการส่วน พระองค์ฯ สวนจิตรลดา และทรงมีพระราชกระแสให้อนุรักษ์ต้นขนุนหลังพระตำหนัก ไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง
ความสำเร็จของการใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชขยายพันธุ์ขนุนไพศาล ทักษิณ นำไปสู่การขยายพันธุ์ต้นไม้ที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ พระราชวังต่างๆ แล้วอนุรักษ์พันธุ์ไม้อีกหลายชนิด ได้แก่พุดสวน มณฑา ยี่หุบ ที่อยู่ในพระบรมมหาราชวัง และสมอไทยในพระที่นั่งอัมพรสถานมงคล ในขณะเดียวกันก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาพันธุกรรมของพืชเอกลักษณ์ใน สภาวะปลอดเชื้อในอุณหภูมิต่ำ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต จนทำให้เก็บรักษาเนื้อเยื่อขนุนที่อุณหภูมิ -196องศาเซลเซียส ในไนโตรเจนเหลว มีเนื้อเยื่อขนุนที่รอดชีวิตอยู่ได้ 23 เปอร์เซ็นต์

พ.ศ. 2529 ทรงให้อนุรักษ์พันธุกรรมหวาย
ทรงมีพระราชดำริให้อนุรักษ์และขยายพันธุ์หวายชนิดต่างๆ โดยการ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเตรียมการแก้ปัญหาการขาดแคลนหวายในอนาคต หวายที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและเป็นเป้าหมาย คือหวายข้อดำ หวายน้ำผึ้ง หวายตะค้าทอง หวายหอม หวายแดง หวายโป่ง หวายกำพวน หวายงวย และหวายขี้เสี้ยน เมื่อขยายพันธุ์ได้ต้นที่สมบูรณ์ของหวายข้อดำและหวาย ตะค้าทองแล้ว ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทำการทดลองปลูกต้นหวาย เหล่านั้นในป่ายางนาใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา และมีพระราชดำริให้ ทดลองปลูกที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศึกษา การพัฒนาภูพานฯ จังหวัดสกลนครอีกด้วย
การดำเนินการเกี่ยวกับหวายได้มีการขยายผลไปสู่ความร่วมมือระหว่างโครงการ ส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา สำนักพระราชวัง กับส่วนราชการจังหวัดตรัง จัดทำแปลงขยายพันธุ์หวายขึ้นในพื้นที่ 1,000 ไร่ ที่ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เมื่อปี พ.ศ. 2532 และได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นสวนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่อนุรักษ์พันธุ์หวายชนิด ต่างๆ ของประเทศไทยแล้วยังได้ใช้เป็นสถานศึกษาวิจัยและขยายพันธุ์หวาย เศรษฐกิจเพื่อให้ผลประโยชน์ถึงประชาชนอย่างกว้างขวางด้วย

พ.ศ. 2529 สวนพืชสมุนไพร
ในปี พ.ศ. 2529 นอกจากมีพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์พันธุ์หวายแล้ว ยังได้จัดทำสวนพืชสมุนไพรขึ้นใ โครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา เพื่อรวบรวม พืชสมุนไพรมาปลูกเป็นแปลงสาธิต และรวบรวมข้อมูลสรรพคุณ ตลอดจนการนำไป ใช้ประโยชน์กับทั้งให้มีการศึกษาการขยายพันธุ์พืชสมุนไพร โดยการเพาะเลี้ยง เนื้อเยื่อ และเผยแพร่ความรู้ที่ได้สู่ประชาชน
เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริกับนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา ให้อนุรักษ์พืชพรรณของประเทศและดำเนินการเป็นธนาคารพืชพรรณ
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้เริ่มดำเนินการ โดยฝ่ายวิชาการโครงการส่วนพระองค์ฯ สำหรับงบประมาณดำเนินงานนั้นสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้สนับสนุนให้กับโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยจัดสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้นในปี ๒๕๓๖ สำหรับเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่เป็นเมล็ดและเนื้อเยื่อ และสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานทุกกิจกรรมของโครงการ พ.ศ ๒๕๓๖ จนถึงปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น