สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
ดังได้กล่าวแล้วเป็นลำดับมาเกี่ยวกับจิตตนคร ปรากฏว่า “นครสามี” คือผู้ครองนคร ได้ไว้วางใจสมุทัยเป็นอันมากให้ดำเนินการต่างๆในจิตตนคร และก็เมื่อได้ไว้วางใจมอบหมายให้สมุทัยดำเนินการแล้ว ก็ได้เริ่มสังเกตเห็นความไม่ปกติต่างๆที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังจับต้นเหตุไม่ได้
สมุทัยเข้าใจหลบซ่อนการกระทำของตนและพวกพ้อง เข้าใจแสดงออกให้เป็นที่เข้าใจว่าดีต่างๆ เจ้าเมืองเองก็เข้าใจว่าสมุทัยดีมาก
อันที่จริงสมุทัยและพวกพ้อง มิใช่เป็นชาวจิตตนครมาแต่เดิม แต่เป็นผู้ที่อพยพมาจากถิ่นที่อื่น มาจับตั้งหลักฐานอยู่ในจิตตนคร และชักชวนพวกพ้องให้พากันยกเข้ามายึดถิ่นฐานต่างๆ แผ่กระจายกันออกไป จนถึงวางพวกไว้ควบคุมทั่วไปหมด
สมุทัยเองได้ตั้งหลักฐานอยู่กับนครสามีทีเดียว เป็นผู้สำเร็จสรรพกิจในจิตตนคร และแต่งตั้งบรรดาหัวโจกทั้ง ๓ พรรคพวกทั้ง ๑๖ กิเลส ๑,๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘ ให้เป็นหัวหน้าและประจำหน่วยต่าง ๆ เกณฑ์ใช้ชาวจิตตนครเป็นทาสกรรมกรทำสิ่งต่างๆ ตามแต่สมุทัยจะประสงค์ นครสามีก็เพลิดเพลินอยู่กับภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ที่สมุทัยสร้าง อันเรียกด้วยภาษาของจิตตนครว่า “อารมณ์” ดังที่กล่าวแล้ว
เดิมนครสามีมีกายผุดผ่อง ดังจะกล่าวว่ามีรัศมีก็น่าจะได้ มีปัญญาเฉียบแหลม รู้อะไรถูกต้องฉับพลัน แต่เมื่อคบกับสมุทัยมากเข้า กายที่เคยผุดผ่องก็กลายเป็นเศร้าหมอง ที่เคยมีรัศมีมีแสงก็อับแสง ที่เคยมีปัญญาเฉียบแหลมรู้อะไรถูกต้อง ก็กลายเป็นผู้มีปัญญาอ่อน รู้อะไรมักผิดพลาด ที่เคยสงบเยือกเย็นก็กลับไม่สงบและร้อนรนกระวนกระวาย หิวกระหายในอารมณ์ยิ่งๆขึ้นไปอยู่เสมอ
นครสามีได้มีพฤติการณ์ทั้งปวงเปลี่ยนไปจากปกติแต่เดิมอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เดชะกุศลของนครสามีคือเจ้าเมืองแห่งจิตตนครนี้ยังมีอยู่ กล่าวคือ คู่บารมีของเจ้าเมืองเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติทั้งปวง ตรงกันข้ามกับสมุทัย ได้เข้ามาตักเตือนเจ้าเมืองว่า
เจ้าเมืองได้มองเห็นหรือไม่ว่า เวลานี้จิตตนครได้ยุ่งเหยิงสับสนมากขึ้นเพียงไร โจรผู้ร้ายหลายก๊กหลายเหล่า ที่ขึ้นชื่อลือนามว่า “กายทุจริต” “วจีทุจริต” หรือ “มโนทุจริต” หรือ “คอรัปชั่น” เกิดขึ้นทั่วไป โดยมีหัวโจกใหญ่ที่รู้ๆกันว่า “โลโภ” “โทโส” “โมโห” ยุยงส่งเสริม และยังมีอย่างอื่นอีกมากมายหลายอย่าง
เจ้าเมืองได้รับคำตักเตือนจากคู่บารมี ก็เริ่มเฉลียวใจมองเห็นความยุ่งเหยิงต่างๆดังกล่าว โดยปกติสมุทัยได้เข้าประชิดคุมเจ้าเมืองแจ ไม่ยอมถอยห่าง สมุทัยไม่เกรงกลัวใคร แม้แต่เจ้าเมืองเอง สมุทัยก็หาเกรงกลัวไม่ มีอยู่เพียงคนเดียวที่สมุทัยเกรงมาก ก็คือคู่บารมีของเจ้าเมือง
เมื่อคู่บารมีเดินเข้ามา สมุทัยจะถอยห่างออกไป ไม่กล้าอยู่เผชิญหน้ากับคู่บารมี คำตักเตือนของคู่บารมีได้ผล ทำให้เจ้าเมืองได้คิดขึ้นทันทีว่า จิตตนครกำลังยุ่งเหยิงสับสนจริง เพราะเมื่อได้อยู่กับคู่บารมี สมุทัยถอยห่างออกไป กายของเจ้าเมืองก็กลับผุดผ่องมีแสง มีปัญญารู้ถูกต้องขึ้น สงบเยือกเย็นขึ้น และความร้อนกระวนกระวายก็ระงับด้วยการดับหาย ภาพยนตร์ต่างๆที่เป็นมายาของสมุทัยก็หายไป ภาพแห่งสัจจะปรากฏขึ้นแทน คือผลที่ยุ่งเหยิงต่างๆ แต่ยังจับเหตุไม่ถูก
การฟังธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนเจ้าเมืองฟังคำตักเตือนของคู่บารมี ทำให้มีโอกาสเห็นผิดชอบชั่วดีได้ตามความเป็นจริง ไม่หลงอยู่ตลอดไป ดังนั้น การฟังธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นหนทางที่จะนำให้ผู้ผิดพ้นผิด ผู้หลงพ้นหลง กล่าวอีกอย่างก็คือ พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทำให้ผู้มีความทุกข์ได้รับความสุขนั่นแล
• ธรรมสำหรับผู้ปกครอง
เมื่อคนเราอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ จำต้องมีผู้ปกครองตามลำดับชั้น เมื่อรวมกันเป็นประเทศชาติ ก็ต้องมีผู้ปกครองประเทศ และเมื่อรวมกันเป็นโลก ถึงจะไม่มีผู้ปกครองโลกทั้งหมด ก็ต้องมีผู้แทนของชาติทั้งหลายมาประชุมปรึกษาวินิจฉัยเรื่องระหว่างชาติ คล้ายกับเป็นคณะผู้ปกครองโลกบางส่วนหรือทั้งหมด เครื่องมือในการปกครองย่อมมีอยู่หลายอย่าง แต่ที่ขาดไม่ได้นั้นคือ ธรรมของผู้ปกครอง เพราะถ้าไม่มีธรรมส่วนนี้เสียแล้ว จะปกครองให้เกิดความสุขความเจริญหาได้ไม่
ธรรมของผู้ปกครองนี้ท่านเรียกว่า “ราชธรรม” แม้ตามศัพท์จะแปลว่า “ธรรมสำหรับพระราชา” แต่ความมุ่งหมายก็คือ ธรรมสำหรับผู้ปกครองทั่วไป และสำหรับผู้อยู่ในปกครองด้วย ท่านแสดงไว้ ๑๐ ประการเรียกว่า “ทศพิธราชธรรม” จะกล่าวเฉพาะข้อ ๖ คือ ตปะหรือตบะ มีอธิบายตามพระธรรมเทศนาทศพิธราชธรรม ที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ทรงถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ว่า
ตปะ หรือ ตบะ โดยพยัญชนะแปลว่า “แผดเผา” โดยมากท่านใช้เป็นชื่อของความเพียร จึงแปลว่า ความเพียรเป็นเครื่องแผดเผา (ความเกียจคร้าน) ใช้เป็นชื่อธรรมอื่นอีกบ้าง ทางลัทธิพราหมณ์แสดงว่า ตบะของพราหมณ์คือการเล่าเรียนพระเวทที่ศักดิ์สิทธิ์ ตบะของกษัตริย์คือการคุ้มครองไพร่ฟ้าประชาชน ตบะของเวสสะหรือไวสยะคือการทำบุญให้ทานแก่พราหมณ์ ตบะของศูทรคือการรับใช้ ตบะของฤษีคือการกินอาหารที่เป็นผัก มีคำเป็นคาถาหนึ่งแสดงว่า “อาทิตย์มีตบะคือส่องแสงสว่างในกลางวัน จันทร์มีตบะในกลางคืน”
ตามนัยเหล่านี้ ตบะหมายถึงการตั้งใจกำจัดความเกียจคร้านหรือการทำผิดหน้าที่ มุ่งทำกิจอันเป็นหน้าที่ที่พึงทำ อันเป็นกิจดีกิจชอบให้สมํ่าเสมอ และให้ยิ่งขึ้น ผู้บำเพ็ญตบะให้บรรลุถึงความสำเร็จ ย่อมเป็นผู้มีตบะ ปรากฏเป็นผู้มีสง่า เป็นที่ยำเกรง ดังที่พูดกันว่า “มีตบะเดชะ”
คนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ต้องมีตบะ คือใครมีหน้าที่ฐานะอย่างใด ก็ปฏิบัติไปอย่างนั้น ให้ดีให้เหมาะให้สมแก่หน้าที่ฐานะ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ผู้ปกครอง ก็ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปกครองให้ดีให้บริบูรณ์ เมื่อเป็นผู้อยู่ในปกครอง ก็ปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในปกครองให้ดีให้บริบูรณ์
เมื่อปฏิบัติดีอยู่ด้วยกัน ก็เป็นผู้มีตบะอยู่ด้วยกัน เป็นที่ยำเกรงของกันและกัน แต่ถ้าตรงกันข้าม คือผู้มีหน้าที่ปกครอง ไม่ปกครองให้ดี ก็เป็นที่ดูหมิ่นของผู้อยู่ในปกครอง รวมความว่า ผู้มีหน้าที่ฐานะอย่างใด ไม่ปฏิบัติให้สมกับหน้าที่ฐานะอย่างนั้น ย่อมเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลน หมดความนับถือ ต้องเสื่อมจากเกียรติที่ดี จนถึงต้องตกจากฐานะของตน
มีคำกล่าวไว้ในสุตโสมชาดกว่า “พระราชาผู้เอาชนะบุคคลที่ไม่ควรชนะ ไม่ชื่อว่าพระราชา เพื่อนผู้เอาชนะเพื่อน ไม่ชื่อว่าเพื่อน ภริยาผู้ไม่ยำเกรงสามี ไม่ชื่อว่าภริยา บุตรผู้ไม่เลี้ยงมารดาบิดาผู้แก่เฒ่า ไม่ชื่อว่าบุตร สภาที่ไม่มีสัตบุรุษ (คนดี) ไม่ชื่อว่าสภา ผู้พูดไม่เป็นธรรม ไม่ชื่อว่าสัตบุรุษ ผู้ละหรือสงบราคะโทสะโมหะพูดเป็นธรรม ชื่อว่าสัตบุรุษ”
กล่าวโดยเฉพาะ ข้อที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทรงตั้งพระราชหฤทัยกำจัดความเกียจคร้านและทำการผิดหน้าที่ ทรงตั้งพระราชอุตสาหะวิริยภาพ ปฏิบัติพระราชกรณียะให้เป็นไปด้วยดียิ่งๆขึ้น มีพระตบะเดชะเป็นที่ยำเกรงแห่งบุคคลทั่วไป ตลอดถึงทรงสมาทานกุศลวัตรเผาผลาญกำจัดอกุศลวิตกบาปธรรมให้เสื่อมสูญ ไม่ตั้งอยู่ได้ดังนี้ จัดเป็นตบะบทที่ ๖
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 167 พฤศจิกายน 2557 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)