ศูนย์ข่าวศรีราชา - มมร.สธ.ศูนย์การศึกษาชลบุรี จัดงานใหญ่วันสถาปนาครบรอบ 10 ปี พร้อมเชิญ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บรรยายพิเศษเรื่อง “ทางเลือกทางรอดประเทศไทย”
วันนี้ (26 ก.ค.) เนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนาครบ 1 ทศวรรษ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ ศูนย์การศึกษาชลบุรี ได้จัดงานเฉลิมฉลองขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ 1.เพื่อบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ท่านผู้ก่อตั้ง และผู้มีอุปการคุณ 2.เพื่อให้บริการวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนาแก่สังคม ชุมชน และท้องถิ่นตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย 3.เพื่อประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น
โดยกำหนดให้วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม เวลา 08.00-11.00 น. นักเรียนแข่งขันตอบปัญหาวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนา และทางด้านรัฐศาสตร์ เวลา 13.00 น. มอบรางวัล และโล่แก่ผู้ชนะการแข่งขัน โดยนายสนธยา คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เวลา 14.00 น. บรรยายพิเศษเรื่อง “ทางเลือกทางรอดประเทศไทย” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เวลา 16.30 น. วางศิลาฤกษ์อาคารเฉลิมพระเกียรติพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และวันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม เวลา 13.00 น. มีพิธีบำเพ็ญทักษิณานุปทาน เจริญพระพุทธมนต์
ดร.สุเมธ แสดงปาฐกถาพิเศษ “ทางเลือกทางรอดประเทศไทย” ว่าปัญหาของประเทศที่เกิดขึ้นวันนี้ เกิดจากประชาชนคนในชาติมีความขัดแย้งกัน จนเกิดความวุ่นวาย สร้างความเสียหายต่อประเทศ และเศรษฐกิจ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทุกคนมีความคิดต่างกันได้ แต่ไม่ใช่ตะแบง จนเกิดการทะเลาะ และตีกันขึ้น และเมื่อคนไทยต้องลุกขึ้นมาตีกันเอง เราก็เจ็บเอง และสร้างความบอบช้ำให้แก่ประเทศ แล้วลูกหลานที่เกิดมาจะอยู่กันได้อย่างไร เมื่อผู้ใหญ่ยังทะเลาะกันอยู่เช่นนี้
สำหรับทางรอดของประเทศไทยมีทางเดียว คือ คนไทยต้องร่วมมือร่วมใจกัน ทำให้ประเทศไทยมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงดังเดิม นอกจากนั้นปัญหาการคอร์รัปชัน ซึ่งเกิดจากตัวบุคคลที่ทำให้เกิดขึ้น ดั้งนั้น ควรจะต้องแก้ที่ตัวบุคคล คือ ทำตัวให้เป็นคนดี มีธรรมาภิบาล และยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อนำพาประเทศชาติให้เกิดความแข็งแกร่ง มั่นคงและเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน”
ดร.สุเมธ กล่าวว่า หลักการปฏิบัตินั้นควรเดินตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงใช้หลักธรรมาภิบาลในการครองแผ่นดิน คือ “ทศพิธราชธรรม” โดยไม่ใช่พระเจ้าอยู่หัวจะเป็นผู้ปฎิบัติผู้เดียว โดยทุกคนจะต้องมี เช่น ทาน คือ การให้ การช่วยเหลือ บริจาค คือ การช่วยเหลือสิ่งของที่จำเป็น อาชวะ คือ ห้ามทุจริต หรือ รับสินบน มัททวะ คือ การอ่อนน้อมถ่อมตน อวิพิงสา คือ การอย่าทำร้ายกัน ฆ่ากัน ซึ่งหากยึดหลักดังกล่าวได้ ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
นอกจากนั้น ทางรอดของประเทศไทยไม่ต้องไปเดินแนวทางการพัฒนาจากต่างประเทศให้เป็นภาคอุตสาหกรรม เพราะประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญทางด้านการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารการกินที่สำคัญของโลก ดังนั้น ควรจะยึดแนวทางดังกล่าวตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ประเทศไทยก็จะอยู่รอดอย่างแน่นอน