xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กฎหมายชะลอฟ้องอาญา ผลงานชิ้นโบแดง คสช.?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาหัวคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักงานประธานศาลฎีกา เป็นตัวแทนประธานศาลฎีกา ยื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมายชะลอการฟ้องคดีอาญา ต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เมื่อ 22 มี.ค.
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เวลาการอยู่ในอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใกล้งวดเข้ามาทุกขณะ แต่ดูเหมือนว่าภาระกิจสำคัญในการปฏิรูปประเทศ ตามที่ได้ประกาศเป็นสัญญาประชาคม หลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น ยังไม่ได้มีความคืบหน้าเท่าใดนัก

มิหนำซ้ำ การปฏิรูปในหลายๆ ด้าน กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าถอยหลังลงคลอง หรือมีเนื้อหาที่ล้าหลังยิ่งกว่าเดิม

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ก็เป็นอีกด้านหนึ่ง ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. … หรือเรียกง่ายๆ ว่า กฎหมายชะลอการฟ้องคดีอาญา ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว อยู่ระหว่างการนำเข้าสู่ ครม.อีกครั้ง เพื่อส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาเป็นขั้นตอนต่อไป

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่า การที่ ครม.มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.นี้ ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากมีความพยายามเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้มาตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน ในสมัยรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่ไม่มีใครกล้าหยิบยกขึ้นมา เพราะยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างอัยการและตำรวจ

พล.ต.สรรเสริญแถลงว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีขึ้นมาเพื่อลดภาระของศาลในการพิจารณาคดีอาญาที่เป็นความผิดลหุโทษ หรือคดีที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี โดยถ้ามีคดีในลักษณะนี้ ผู้เสียหายและผู้ต้องหาสามารถไกล่เกลี่ยกันได้ในชั้นของพนักงานสอบสวน มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่มีหน้าที่ไกล่เกลี่ยระหว่างผู้เสียหายกับผู้ต้องหา เมื่อได้ความชัดเจนแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเสนอเรื่องให้อัยการเพื่อให้พนักงานอัยการสั่งยุติคดี และเมื่อมาถึงขั้นตอนของพนักงานอัยการก็ยังสามารถไกล่เกลี่ยได้อีกโดยเรียกว่าการชะลอการฟ้อง และท้ายที่สุดอัยการก็จะพิจารณาสั่งยุติคดี

ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมร่วม คสช.และ ครม. เมื่อวันที่ 1 มีนาคมเช่นกัน ว่า กฎหมายนี้เป็นคุณต่อประเทศ เราใช้เวลากว่า 40 ปีที่จะนำมาใช้ ซึ่งมีความพยายามหลายครั้ง เช่นในสมัยรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่เห็นว่าบางคดีไม่ควรจะฟ้อง ให้ดูความประพฤติของผู้ต้องหา เมื่อเห็นว่าพอที่จะกลับเนื้อกลับตัวได้ ก็ไม่ฟ้องให้เสียเวลา ให้สั่งชะลอไว้ก่อน และเมื่อพ้นเวลาที่กำหนด ก็ฟ้องไม่ได้อีกแล้วในชาตินี้(สิทธิการนำคดีมาฟ้องอีกเป็นอันระงับ) แต่สมัยนั้นกฎหมายไม่ผ่าน วันนี้ ครม.รับหลักการและให้ส่ง สนช.พิจารณา

นายวิษณุอธิบายเพิ่มเติมว่า กระบวนการชะลอฟ้อง ตาม พ.ร.บ.นี้ จะให้มีมาตรการไกล่เกลี่ยในชั้นตำรวจก่อนฟ้อง โดยโจทก์และจำเลยต้องยอมทั้งคู่ เมื่อไปถึงอัยการก็ชะลอการฟ้องและดูความประพฤติ คล้ายกับการรอลงอาญา แต่นี่คือการรอฟ้อง ถ้าความผิดนั้นไม่ใหญ่โต กระทำโดยประมาท มีโทษไม่สูง จำคุกไม่เกิน 5 ปี ข้อหาอะไรก็ชะลอได้ ซึ่งหลักเกณฑ์ทั้งหมดทางอัยการจะเป็นผู้พิจารณา

นายวิษณุยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีผลทางการเมืองใด ๆ มาผลักดัน เพราะที่ผ่านมาทุกรัฐบาลมีความพยายามที่จะออกฎหมายฉบับนี้อยู่แล้ว เพราะเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ ป้องกันคนล้นคุก และกันไม่ให้ผู้ที่มีความผิดเล็กน้อยเข้าไปอยู่ในคุก แต่ที่กฎหมายนี้ล่าช้าส่วนหนึ่งเพราะเกิดความขัดแย้งในส่วนราชการ ตำรวจ อัยการ ศาล ต่างไปทำกฎหมายมาคนละฉบับ แต่วันนี้เราร่วมมาเป็นอันเดียวกัน อย่างไรก็ตามที่ยังไม่ส่งเข้า สนช.วันนี้ เพราะตนให้ไปดูในข้อที่ระบุว่า ให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งวันนี้ยุบพนักงานสอบสวนไปแล้ว จึงให้ไปดูว่าหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเป็นของใคร แต่ถ้าคิดว่าไม่เป็นไรก็ให้ปล่อยไป

นายวิษณุยังบอกอีกว่า คดีการชุมนุมในอดีตสามารถเข้าเกณฑ์ของกฎหมายฉบับนี้ได้ ถ้ามีโทษไม่มาก และไม่ว่าใครที่อยู่ในข่ายก็ได้รับอานิสงส์ทั้งหมด ส่วนคดีของนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น ต้องดูที่ข้อหาความผิดในข้อหาใหม่ ส่วนข้อหาเก่าใช้กฎหมายนี้ไม่ได้เพราะตัดสินฟ้องไปแล้ว

หากฟังจากคำแถลงชี้แจงของนายวิษณุและ พล.ต.สรรเสริญแล้ว ก็อาจคล้อยตามว่า กฎหมายชะลอการฟ้องคดีอาญาฉบับนี้ เป็นกฎหายที่มีประโยชน์ ช่วยไม่ให้คดีเล็กคดีน้อยขึ้นไปรกโรงรกศาล และไม่ให้ผู้ต้องหาคดีที่มีโทษไม่มากต้องไปแออัดอยู่ในคุก

แต่มุมมองของนักการฎหมาย รวมทั้งผู้พิพากษากลับเห็นช่องโหว่ของร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่หลายประเด็น และเห็นว่าจะส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อระบบยุติธรรมของประเทศ หากร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านออกมามีผลบังคับใช้

ประเด็นสำคัญคือ ศาลยุติธรรมได้คัดค้านร่างกฎหมายนี้มาตลอด เพราะเห็นว่า การออกกฎหมายให้อัยการมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งชะลอการฟ้องผู้ต้องหาที่กระทำความผิดในคดีอาญา โดยปราศจากการตรวจสอบจากศาลยุติธรรมหรือองค์กรอื่นใดซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือของสังคมนั้น จะเกิดความไม่โปร่งใสได้ง่าย และก่อให้เกิดการปฏิบัติต่อผู้เสียหายและผู้ต้องหาในการให้ความเป็นธรรมที่ไม่เท่าเทียมกัน

ข้ออ้างที่ว่า กฎหมายฉบับนี้มีประโยชน์ ช่วยป้องกันคนล้นคุกนั้น ก็ไม่ถูกต้อง เนื่องจากแม้ไม่มีมาตรการชะลอการฟ้อง ตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม กรณีที่พนักงานอัยการเห็นว่ามีเหตุผลสมควรที่จะให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาที่กระทำผิดได้กลับตนเป็นพลเมืองดี ก็สามารถแถลงพฤติการณ์แห่งคดีตามสำนวนการสอบสวนประกอบกับความเห็นของพนักงานอัยการให้ศาลทราบ เพื่อใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ทันที

ปัญหาในอดีตที่ผ่านมานั้น ไม่พบว่าอัยการได้แถลงต่อศาลถึงเหตุผลที่จำเลยสมควรได้รับความปราณีตามพฤติการณ์แห่งคดีเลย มีแต่จะขอให้ลงโทษสถานหนักเท่านั้น

นอกจากนี้ กฎหมายชะลอการฟ้องคดีอาญา ยังจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ที่มีฐานะทางสังคมต่างกัน ผู้ต้องหาที่มีฐานะดีหรือมีอิทธิพลอาจใช้ทรัพย์สินเงินทองชดใช้ค่าเสียหาย หรือบีบบังคับให้ผู้เสียหายจำต้องยินยอมตกลงไม่เอาความแก่ผู้ต้องหา เพื่อให้มีการสั่งยุติคดี

รวมทั้ง จะกระทบต่อระบบการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่มีการแบ่งแยกอำนาจและตรวจสอบอำนาจกันอย่างชัดเจนและโปร่งใส ระหว่างอำนาจฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ กับอำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดี

เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาหัวคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักงานประธานศาลฎีกา จึงได้เป็นตัวแทนของนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้ายื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เพื่อเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญาฯ โดยนายชาญณรงค์กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ และหลักสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นการให้อำนาจอัยการสั่งคุมประพฤติ และสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีอาญาที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีได้โดยที่ไม่ผ่านการพิจารณาของศาลเลย และปราศจากกระบวนการพิสูจน์ความผิดของบุคคล

หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศใช้จะเป็นการตัดสิทธิของผู้เสียหาย เนื่องจากมีบทบัญญัติที่ตัดสิทธิของผู้เสียหายที่ประสงค์จะใช้สิทธิทางศาล และมีบทบัญญัติห้ามไม่ให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อไป แม้กระทั่งในกรณีที่ผู้เสียหายประสงค์จะใช้สิทธิทางศาล และนำคดีมาฟ้องต่อศาลแล้วก็ตาม ขณะที่ ระยะเวลาและอายุความในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีอาญาอาจขยายไปได้ จนแทบไม่มีข้อจำกัดหากมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแทนการฟ้อง อันจะทำให้พยานหลักฐานที่สำคัญสูญหายไปจนไม่สามารถพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาได้

ส่วนนายพรเพชรได้กล่าวภายหลังการรับหนังสือว่า ในเมื่อคนระดับประธานศาลฎีกาส่งสัญญาณมาถึงตนก็ต้องรับฟัง ตัวแทนของศาลฎีกาก็ได้ไปยื่นเรื่องนี้ให้รัฐบาลแล้ว เพราะร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม.อยู่ การมายื่นที่ สนช.ก็เพื่อเป็นการดักคอไว้ก่อนที่จะถูกส่งมาให้ สนช.พิจารณา เพราะร่างนี้ผ่านเป็นกฎหมาย คดีรถเบนซ์ก็อาจจะไม่ต้องถึงศาลก็ได้

ก็เป็นอันว่า ทั้งระดับประธานศาลฎีกา และประธาน สนช.ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า หากกฎหมายชะลอการฟ้องคดีอาญามีผลบังคับใช้ จะก่อให้เกิดปัญหาต่อกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างแน่นอน ร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงไม่น่าจะใช่ผลงานชิ้นโบแดง อย่างที่ พล.ต.สรรเสริญแถลง และไม่ใช่กฎหมายที่นายวิษณุจะมาอวดอ้างอย่างภาคภูมิใจว่าทำได้สำเร็จ หลังจากพยายามมา 40 ปี

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา และตัดไฟแต่ต้นลม รัฐบาลควรจะเก็บร่างกฎหมายชะลอการฟ้องคดีอาญาฉบับนี้ เข้าลิ้นชักไว้ก่อน



กำลังโหลดความคิดเห็น