xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผย “บิ๊กตู่” รับได้ข้อเสนอ กรธ. ชี้ประชามติล่มต้องแก้ รธน.ชั่วคราว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ แจง กม.ชะลอฟ้อง ปัดให้ใช้เงินฟาดหัว มีเงื่อนไขแบบรอลงอาญา ชี้ทำให้คดีไม่ล้นศาล ศาลยังค้านพร้อมเชิญถก จ่อส่ง สนช. เผยนายกฯ พอรับได้ กรธ.เสนอ ไม่ชงอะไรเพิ่มรอร่างสุดท้าย รับประชามติสะดุดต้องแก้ รธน.ชั่วคราวหาทางออก ใช้ ม.44 ไม่ได้ เร็วไปถามถึง กก.สรรหา ส.ว. พ้อ รบ.พูดอะไรก็ผิด ปลุก กรธ.แสดงฝีมือแจง รธน. ย้ำ ส.ว.มีปัญหาทุกแบบ มีดีและเสีย เผย กรธ.แจง ปชช.เข้าใจจึงไม่เลือกตั้ง 2 ใบ

วันนี้ (25 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้ากฎหมายชะลอการฟ้องว่า กฎหมายนี้คิดกันนานแล้วตั้งแต่สมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ผ่านรัฐสภา จนกระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาเห็นว่ากระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เสนอกฎหมายเข้ามา รวมทั้งมีข้อเสนอแนะจากศาลยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด ในประเด็นเดียวกัน คือ การชะลอการฟ้องสำหรับคดีลหุโทษที่ยอมความกันได้ มีโทษจำคุกไม่กี่ปี แต่ต้องตกลงพร้อมใจกันทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด โดยเจ้าหน้าที่ต้องเห็นชอบ ไม่ใช่เอาเงินไปฟาดแล้วจบ และมีเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติ เช่นเดียวกับการรอลงอาญา แต่ไม่ต้องเข้าไปถึงชั้นศาล ทำให้ไม่มีประวัติอาชญากรรม เพื่อให้คนที่กระทำผิดมีโอกาสไปทำอย่างอื่นทำให้คดีไม่ล้นศาล จึงรวบรวมเป็นกฎหมายเป็นฉบับเดียวโดยใช้ฉบับกระทรวงยุติธรรมเป็นหลัก ให้ทุกอย่างส่งไปที่อัยการเพื่อพิจารณาว่าจะชะลอฟ้องหรือไม่

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ทราบว่าสำนักงานศาลยุติธรรมได้ยื่นเรื่องไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทักท้วงให้ทุกอย่างไปจบที่ศาล เพราะศาลเป็นหน่วยงานที่สังคมไว้เนื้อเชื่อใจมากที่สุด ประกอบกับเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่จะมีปัญหาเรื่องเวลาที่คดีจะยืดยาว ขณะนี้กฎหมายยังไม่อยู่ที่ สนช. ยังอยู่ที่รัฐบาล แต่ไม่รู้ว่าเขาได้ยื่นหนังสือมาถึงรัฐบาลหรือไม่ หากเรื่องมาถึงตนก็จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ ว่าจะทำอย่างไรกัน ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ที่รัฐบาล เตรียมนำเข้าสู่คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันจันทร์ที่ 28 มี.ค.นี้ หากไม่มีอะไรก็จะส่งไปยัง สนช. แต่เมื่อมีประเด็นนี้ขึ้นมาต้องดูว่าจะทำอย่างไร จะปรับแก้ก่อน หรือเสนอไปแก้ในสภาทีเดียว

นายวิษณุยังกล่าวถึงความพอใจต่อร่างรัฐธรรมนูญตามที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมาว่า จากภาพรวมเท่าที่ตนได้รับทราบมาถือว่ารับได้จึงไม่ต้องมีอะไรพูดหรือเสนออะไรกันอีกต่อไป โดยช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ตนได้ประชุมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็บอกในที่ประชุมว่าข้อเสนอที่ออกมาของ กรธ. ถึงไม่ได้ตรงกับที่ ครม.เสนอไปทั้งหมด แต่เมื่อได้ฟังเหตุผลของ กรธ.แล้วก็คิดว่าพอรับได้ จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการอะไรต่อไป นอกจาก กรธ.จะใช้โอกาสต่อไปในการอธิบายเรื่องอื่น ทั้งนี้ นายกฯ ไม่ต้องการเสนอหรือผลักดันอะไรเพิ่มเติมเพียงรอดูร่างสุดท้ายวันที่ 29 มีนาคมเท่านั้น

นายวิษณุกล่าวถึงการแถลงที่ผิดพลาดของ กรธ.กรณีใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภาเลือกนายกฯ นอกบัญชีรายชื่อว่า ความต่างระหว่างเสียงของสภา 3 ใน 5 กับ 2 ใน 3 นั้นต่างกัน เพราะ ส.ส.มี 500 คน ส.ว.มี 250 คน รวมเป็น 750 คน หากมีการโหวตตัวเลขก็จะต่างกัน หากเป็น 2 ใน 3 ตัวเลขจะออกมาประมาณ 500 เสียง ซึ่งต้องอาศัยเสียงส่วนใหญ่ การที่จะได้เสียงอีก 250 เสียงเพื่อโหวตเลือกนายกฯ นอกบัญชีรายชื่อไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว รัฐบาลรับได้ต่อข้อเสนอดังกล่าว หากรับได้ก็ไม่ต้องต่อล้อต่อเถียงกับใครอีก แต่หากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อยากให้เสนอทบทวนให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบก็สามารถเสนอไปยัง กรธ.เองได้เลย เพราะในส่วนรัฐบาลก็จะไม่ทำอะไรเอง ซึ่งนายกฯ เองก็ใช้คำว่าอีก 2-3 วันเรื่องก็จบแล้ว และนายกฯ กำลังจะไปปฏิบัติภารกิจที่สหรัฐอเมริกา หากเห็นรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายเมื่อใดก็จะดำเนินการแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทันทีให้เตรียมทำประชามติต่อไป

เมื่อถามว่าหากประชามติเกิดอุบัติเหตุ จำเป็นจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 อีกครั้งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า จำเป็น เพราะขณะนี้รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้บอกว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป จึงต้องมีการแก้ไขอีกครั้งเพื่อกำหนดกลไกหาทางออก ส่วนจำเป็นจะต้องใช้มาตรา 44 เพื่อหาทางออกได้หรือไม่นั้น ไม่สามารถทำได้เพราะมาตรา 44 มาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว จะนำไปล้มล้างรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเราก็จะใช้มาตรา 44 ในการล้มเลิกมาตราใดก็ได้ ซึ่งไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะมาตรา 44 ไม่ใช่กฎหมายแท้ตามรัฏฐาธิปัตย์ตามความหมายของนักรัฐศาสตร์ เพียงแต่เทียบเคียงว่ามีอำนาจมากเท่านั้น ตนจึงพยายามไม่ใช่คำว่ารัฏฐาธิปัตย์เพราะจะทำให้คนเข้าใจผิด ทั้งนี้ขณะที่คสช.เข้ามาช่วงแรกอาจจะใช่แต่หากพูดตามมาตรา 44 จริงๆ ก็ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะไม่สามารถลบล้างมาตรการทางรัฐธรรมนูญหรือเพิ่มเติมมาตรการใดมาตรการหนึ่งในรัฐธรรมนูญไม่ได้ จึงจำเป็นต้องหาทางออกโดยการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าหากรับร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่านในขั้นประชามติจะดีกว่า เพราะจะได้ไม่ต้องยุ่งยากหลายชั้น

นายวิษณุกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลต้องรายงานผลการทำงานทุก 3 เดือน ให้ ส.ว.สรรหา 250 คนรับทราบว่า ถือเป็นเรื่องปกติ อำนาจลักษณะนี้มีอยู่ทุกสมัยเพียงแต่เมื่อก่อน รัฐบาลต้องรายงานให้ ส.ว.ทราบปีละ 1 ครั้ง ครั้งนี้เปลี่ยนเป็น 3 เดือนครั้งจะได้ขับเคลื่อนงานได้รวดเร็ว และ ส.ว.จะได้เร่งรัดงานสอบถาม ครม.ได้ ส่วนผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ถ้าจะพูดถึงคงเร็วไป และคงไม่มีใครในโลกนี้คิดไว้ด้วยซ้ำไป และรัฐบาลเองยังไม่มีตุ๊กตาหรือโมเดลอะไรทั้งสิ้น ส่วนคณะกรรมการสรรหาจะเป็น คสช.หรือไม่ ตนไม่ทราบ มาถามกันอย่างนี้ ตอบไม่ถูก ทราบเพียงว่าห้ามเป็น ส.ว.เท่านั้น

เมื่อถามว่าสุดท้าย คสช.ก็ต้องเป็นคนเลือก ส.ว.ทั้งหมดอยู่ดี นายวิษณุกล่าวว่า กรธ.กำหนดแบบนั้น ส่วนจะลบล้างภาพที่ทำให้ดูว่าเป็นการสืบทอดอำนาจได้หรือไม่นั้น เขาไม่ได้ต้องการจะลบล้างหรือสร้างภาพอะไร เป็นการพูดกันตรงๆ ขอกันแบบนี้ให้ก็ให้ ไม่ให้ก็แล้วไป แต่บังเอิญ กรธ.ให้ ความจริงแล้วรัฐบาลไม่ได้ขอถึงขนาดนี้ด้วย แต่เมื่อบอกรัฐบาลพอใจ ก็หาว่าไปซูเอี๋ยกันตั้งแต่แรก มีบอกว่ารัฐบาลเสนอไปก่อนแล้วค่อยมาพบกันครึ่งทาง พูดอะไรรัฐบาลก็ผิด ฉะนั้นอย่าพูดเลยดีกว่าเพราะคนจะตีความ เราเองก็ไม่ว่ากัน

เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านฉลุยเลยหรือไม่ ตนไม่สามารถตอบแบบนั้นได้ เพราะยังไม่เห็นหน้าตาเต็มๆ ของรัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุดเมื่อถึงเวลา กรธ.ก็จะต้องแสดงฝีมือ พร้อมทำคำอธิบายสรุปย่อ ชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ตนว่าขั้นตอนนั้นที่จะทำให้คนเข้าใจร่างมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาประชาชนฟังตามสื่อจนสับสน แต่เมื่อร่างออกมาชัดเจน กรธ.พร้อมคำอธิบายของ กรธ.ที่ว่าประชาชนได้อะไรจากร่างนี้ ประเทศได้อะไรจากร่างนี้ รวมถึงเสียอะไรจากร่างนี้ สุดท้ายประชาชนจะชั่งน้ำหนักเองว่ารัฐธรรมนูญควรจะผ่านประชามติหรือไม่

เมื่อถามว่าที่บอกว่านายกฯ รับได้รวมถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มการเมืองที่จะต้องเป็นผู้ปฏิบัติตามหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คำว่ารับได้ของรัฐบาล คือ รับได้ในข้อเสนอ กรธ. คนละประเด็นกัน เพราะตนได้เรียนนายกฯ ไปว่าที่บอกว่ารับได้เพราะนายกฯ ยังไม่เห็นร่างทั้งหมด นายกฯ ตอบกลับมาว่าแต่วันนี้ประเด็น 3 ข้อยังเป็นประเด็นในสังคม คำว่ารับได้ของรัฐบาลคือรับได้ใน 3 ข้อนี้

เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายการเมืองมีความกังวลว่า ส.ว.ในอดีตที่มีปัญหา จะกลับมาได้ที่นั่งในสภาอีก นายวิษณุกล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามีปัญหากับ ส.ว.ทุกประเภท ทั้งแบบเลือกตั้ง และแต่งตั้งทั้งหมด รวมถึงผสมที่มาทั้งสองแบบ เราคิดว่าหนีปัญหานี้ก็จะเจอกับอีกปัญหาโดย ส.ว.ที่มีรูปแบบต่างกัน แม้กระทั่ง ส.ส.เองก็มีปัญหาเช่นกัน ในเรื่องนี้ก็มีข้อเสนอว่ามากมาย เช่นให้เลือกแบบเขตใหญ่ เขตย่อย หรือไม่ให้มีแบบบัญชีรายชื่อ ด้วยข้อเสนอที่หลากหลายแสดงว่าทุกวิธีมีข้อดีข้อเสียในตัว ไม่ว่าเราหยิบรูปแบบไหนขึ้นมา เมื่อมีคำถามว่าทำไมไม่คิดถึงข้อเสีย เราก็ต้องตอบว่าคิด แล้วจะให้ทำอย่างไร โดยส่วนใหญ่ผู้สื่อข่าวก็ไม่เคยบอกว่าควรทำอย่างไร ต่อให้หยิบยกข้อเสนอตามที่ได้รับมา ถึงผู้เสนอจะไม่กล่าวถึงข้อเสียของวิธีนั้นก็ต้องมีคนอื่นพูดอยู่ดี คงไม่จบง่ายๆ

เมื่อถามอีกว่าการเลือกตั้งแบบวันแมนวันโหวตดีอยู่แล้ว ทำไมถึงไม่ใช้อย่างที่เคย นายวิษณุกล่าวว่า ระบบนี้ก็เราก็เคยใช้วิธีนี้ซึ่งดี อีกทั้งวิธีที่มีในร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นแบบนั้น เพียงแต่ว่านำรายชื่อของผู้แพ้แต่ละเขตมาคิดหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อด้วยซึ่งจะทำให้พรรคที่แพ้แบบเขตมีสิทธิได้ที่นั่งในส่วนนี้ด้วย ทั้งนี้ ข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สาย ก็เป็นวันแมนวันโหวต ไม่ได้เป็นการเลือกกลุ่มใหญ่อย่างที่เข้าใจ เพราะถึงแม้ 1 เขตจะมี ส.ส.ได้ 3 คน แต่ประชาชนก็เลือกได้เพียง 1 คน แล้วนำคะแนนเรียงเพื่อหาผู้ชนะ 3 อันดับแรก ซึ่งตนเข้าใจว่าวิธีคิดแบบนี้จะไม่สามารถ เอาคะแนนแบบเขตไปคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ จึงเสนอให้เลือก 2 ใบ แต่ด้าน กรธ.ให้เหตุผลว่าหากทำแบบนี้ก็จะต้องรื้อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อีกทั้งที่ผ่านมาพวกเขาได้เดินสายอธิบายเรื่องนี้มากมายจนประชาชนเริ่มเข้าใจและพูดถึงข้อดี โดยเห็นได้จากโพลสำรวจออกมาในทำนองประชาชนให้ความพอใจซึ่งเป็นเหตุผลที่ คสช.รับได้


กำลังโหลดความคิดเห็น