รองนายกฯ มอง กรธ.พิจารณาข้อเสนอ คสช.ไร้ปัญหา รับได้ ปม ส.ว.พบกันครึ่งทาง ชี้ กก.สรรหาเป็นไปตาม กม.ลูก ผ่านหลายฝ่ายคงมีการปรับปรุง โยน กรธ.-คสช.ทำความเข้าใจ ปชช. เชื่อผ่านประชามติ เพราะ ปชช.มองสถานการณ์เรียบร้อยควรเลือกตั้ง ย้ำเลือกตั้งปีหน้าแต่อย่าคาดคั้นมีสถานการณ์จะเลื่อนไม่ได้ ถกนักธุรกิจจีน ดูลู่ทางลงทุนไทย มีตัดพ้อไทยประจานนักท่องเที่ยวจีน
วันนี้ (23 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รับข้อเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในประเด็นให้มี ส.ว.สรรหา จำนวน 200 คนที่เลือกโดยคณะกรรมการสรรหา และใช้วิธีการสรรหาแบบไขว้อีก 50 คน ตามที่ กรธ.ออกแบบไว้ ว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียดทั้งหมด ถ้าเป็นจริงตามนั้นก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ตนยังไม่เห็นรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งในวันที่ 29 มี.ค.ที่ร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายเสร็จ คงจะได้เห็น ส่วนที่ กรธ.รับเพียงข้อเสนอเดียวนั้น ต้องถาม คสช.ว่าพอใจหรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่า กรธ.มีข้อจำกัดของตัวเองอยู่ จากการเดินสายชี้แจงรายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา การที่ร่างออกมาแบบนี้ ก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะพอใจและรับได้ถือว่าใกล้เคียงสิ่งที่ คสช.ได้เสนอไป กรธ.พยายามทำดีที่สุด โดยคำนึงถึงความจำเป็นตามที่ คสช.ได้บอกไป แต่ยังคงรักษาจุดยืนในสิ่งที่เขาคิดขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว การให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อ รวมถึงวิธีสรรหา ส.ว.แบบไขว้ ซึ่งมองว่าที่ กรธ.บัญญัติวิธีได้มาซึ่ง ส.ว.สองรูปแบบนั้น เป็นการพบกันแบบครึ่งทาง เขากันบางส่วนเพื่อทดลองใช้วิธีที่คิดขึ้นมาใหม่ ตามที่ได้เดินสายอธิบายกับประชาชน ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่างให้การยอมรับ และเป็นสะพานให้โยงไปสู่บทถาวรของรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า การให้ คสช.เป็ยผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา บางฝ่ายเกรงว่าจะถูกครอบงำโดย คสช. นายวิษณุกล่าวว่า ดูจากการแถลงของ กรธ.แล้ว เป็นเหมือนการเปิดประตูไว้สำหรับออกกฎหมายลูกที่จะกำหนดคุณสมบัติคณะกรรมการสรรหาและจะใช้วิธีการคัดเลือกอย่างไร ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายลูก ไม่ใช่จะเปิดกว้างทั้งหมด ที่กลัวกันว่าใครเป็นคนเขียนกฎหมายก็จะเขียนเข้าข้างตัวเองนั้น หากร่วมกันเขียนก็จะเข้าข้างกันหลายฝ่าย และตอนจะออกกฎหมายลูกก็ต้องผ่านคนหลายฝ่ายประชาชนเมื่อได้รู้ก็คงมีการปรับปรุงกันตอนนั้น ส่วน ส.ว.จะมีเมื่อใดนั้น คงต้องรอดูในบทเฉพาะกาล รวมถึงกฎหมายลูกและการให้ ส.ว.มีส่วนร่วมลงมติเปิดช่องให้ ส.ส.สามารถเลือกคนนอกเป็นนายกฯได้ ในกรณีไม่สามารถเลือกบุคคลตามที่พรรคการเมืองมีการเสนอรายชื่อเป็นนายกฯได้นั้น ถือเป็นดาบสองเมื่อเกิดวิกฤต ตอนนั้นคนทั้งประเทศต้องรู้ว่าวิกฤตคืออะไร
เมื่อถามว่า ส.ว.สรรหาจะกลายเป็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประชาชนอาจหวาดระแวง เพราะจะกลายเป็นเกราะป้องกันให้ คสช. นายวิษณุกล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ กรธ.ต้องทำความเข้าใจ คสช.ก็เช่นเดียวกัน ก่อนประชาชนจะลงประชามติ เพราะ คสช.ยึดอำนาจมาก็มีสิทธิ์เป็นห่วงสถานการณ์ ฝ่ายความมั่นคงคงมีข้อมูลว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งจะเกิดหรือไม่ก็ได้
เมื่อถามว่า ดูแล้วร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนมองว่าน่าจะผ่าน เพราะประชาชนเห็นว่าถึงเวลาแล้วสถานการณ์เรียบร้อยจึงควรจัดให้มีการเลือกตั้ง และ คสช.ยืนยันมาตลอดว่าจะมีการเลือกตั้ง ปี 2560 ทุกอย่างชัดเจนแบบนี้แล้วก็คงมีคนจำนวนหนึ่งบอกว่า เลือกดีกว่าไม่ได้เลือก ส่วนจะทำอย่างไร ก็ให้ผ่านประชามติแล้วว่ากันต่อไป แต่หากเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นตามมา ก็จะได้รู้ว่าสิ่งที่คิดไว้แก้ปัญหาได้ เมื่อถามย้ำว่าจะมีการรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วแก้ทีหลังอีกหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทำได้ แต่คนที่รณรงค์อย่างนั้นไม่มีส่วนไปแก้การจะไปรณรงค์สามารถทำได้หลายอย่าง
เมื่อถามอีกว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ยังคงยืนยันหรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2560 นายวิษณุกล่าวว่า หัวหน้า คสช.ประกาศเช่นนั้น ตนไม่ทราบว่าท่านจะทำอย่างไร แต่ถ้าไม่แน่ใจ ท่านคงไม่ประกาศเช่นนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่พลั้งปาก ส่วนจะเปลี่ยนแปลงกำหนดดังกล่าวได้หรือไม่ แน่นอนหากมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้น แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีใครมาพูดกับตนกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ วันนี้เราบอกว่าจะเลือกตั้งปี 2560 แต่อย่ามาคาดคั้นว่าถ้ามีสถานการณ์อะไรขึ้นมาแล้วจะเลื่อนอะไรไม่ได้ วันนี้เรายังยึดแนวทางให้มีการเลือกตั้งปี 2560 อยู่
นายวิษณุยังกล่าวภายหลังนักธุรกิจสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าพบว่า เขาเป็นบริษัทที่ให้คำแนะนำ และที่ปรึกษาทางกฎหมายในการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในจีน เป็นเหมือนตัวกลางเชื่อมโยงบีโอไอ มีความรู้ด้านภาษา กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การลงทุน การเมือง ซึ่งมีลูกค้าหลายหมื่นบริษัท และนักธุรกิจไทยที่ไปทำธุรกิจที่จีนก็ต้องไปพบเขา และบริษัทในไทยก็มีความสนใจเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ไปเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญา การร่วมทุนและความร่วมมือพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมระหว่างไทยและจีน นำโดยนายหลู จิ้น ชิว ประธานสมาคมนักธุรกิจเชื้อสายจีนทั่วโลก ซึ่งเป็นคนที่มีอิทธิพลมากในประเทศจีนมีสมาชิก 150,000 บริษัทในจีน เขามาพร้อมกับนักธุรกิจชั้นนำจากมณฑลต่างๆ ในจีนกว่า 30 ราย เพื่อมาดูลู่ทางในการลงทุนที่พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สร้างคอนโดอย่างดีแล้วขายเมนเบอร์ให้กับคนจีน รวมถึงการตั้งโรงงานโซล่าเซลล์ โรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โรงงานยางมะตอย ส่วนทีมีการบ่นเรื่องนักท่องเที่ยวจีนแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่วัดร่องขุ่น จ.เชียงราย ทางการจีนได้ตัดพ้อต่อว่ามาพอสมควร ก็มีบางพวกไปทำอย่างนั้นก็จริง แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาประจาน เพราะบางทีคนไทยไปก็ไม่รู้ธรรมเนียมประเทศอื่นเหมือนกัน ส่วนที่มีการเผยแพร่ภาพนักท่องเที่ยวจีนแย่งกันตักกุ้งไปรับประทานนั้น ตรงนั้นไมว่ากัน เพราะในสังคมมีทั้งคนดีและไม่ดี