รองนายกฯ เผยเหตุ คสช.ส่งข้อเสนอ กรธ.เพราะมีสิ่งน่าวิตกหลังเลือกตั้ง ยันไม่ได้บังคับ แจงมี 250 ส.ว.เหตุไม่อยากให้บิดเบือนเสียง ไร้สิทธิเลือกนายกฯ ให้เหล่าทัพนั่งวุฒิฯ เพื่อความมั่นคง แต่เชื่อไม่นั่ง ปธ. ให้ กรธ.คิด กก.สรรหา รับพ้นช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแก้ รธน.หรือไม่ก็ต้องยอม ยันเลือกตั้งปีหน้า รับเลิกเสนอชื่อนายกฯ เปิดช่องคนนอกนั่งได้ ชี้ ส.ว.จับมือฝ่ายค้านถอดถอนได้ด้วยเสียง 375
วันนี้ (16 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ส่งไปให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ทั้งโดยเจตนาและโดยถ้อยคำในหนังสือของ คสช. เป็นการแจ้งไปให้ทราบ เป็นการบอกให้รู้ และมีเหตุมีผลมากกว่าทุกครั้งที่มีการทำข้อเสนอไป โดยเป็นการพูดให้ทราบว่ามีอะไรที่แม่น้ำ 4 สายวิตกในการประชุมเมื่อวันที่ 7 มี.ค. โดยการประชุมครั้งนั้นหารือกันถึงสถานการณ์บ้านเมืองวันนี้ถึงวันเลือกตั้ง และสถานการณ์หลังจากวันเลือกตั้งไปว่ามีอะไรที่อาจจะเกิดหรือไม่เกิด แต่จากการวิเคราะห์มีสิ่งที่น่าวิตก ดังนั้น เมื่อบอกความวิตกตรงนี้ให้ทราบแล้วจะฟังแล้วก็ช่วยกรุณารับไว้พิจารณาเพื่อดำเนินการ จึงไม่ใช่การบังคับ และบังคับไม่ได้ อย่าลืมว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.เป็นสมาชิก คสช.คนหนึ่ง ต้องพบปะกันบ่อยครั้ง ถ้าจะบังคับขู่เข็ญกันสามารถทำได้ แต่การส่งเป็นข้อเสนอครั้งนี้เพราะต้องการส่งสัญญาณไปถึง กรธ.21 คนมากกว่าว่ามีอะไรที่เราวิตกกังวล เนื่องจากอีก 20 คนไม่ได้มาเป็นคสช.ด้วย จะได้เห็นพร้อมกันทั้งหมด 21 คน ไม่เช่นนั้นนายมีชัยจะแบกภาระอยู่คนเดียว ส่วนที่นายกฯ ระบุจะส่งไปจนกว่า กรธ.จะพิจารณานั้นเป็นสไตล์ของท่าน ถ้าสื่อต่อปากมา ท่านก็ต่อคำไป ไม่ใช่การกดดัน กรธ.
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงให้มี ส.ว.จำนวนมากถึง 250 คน นายวิษณุกล่าวว่า การเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งที่ควรเคารพ แต่ไม่อยากบิดเบือนเสียงที่มาจากการเลือกตั้งไปสู่ประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้น จึงต้องให้สมาชิกสภาในระยะแต่งตั้งชุดหนึ่งจำนวนหนึ่งเข้ามามีส่วนที่จำนวนมากพอประมาณ แต่ไม่เอาเรื่องสิทธิเรื่องการเลือกนายกฯ และไม่มีการพูดนี้เรื่องนี้มาแต่ต้น เมื่อถามว่า เหตุผลที่ต้องให้มี ผบ.เหล่าทัพไปเป็น ส.ว.เป็นเพราะอะไร นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อจะต้องใช้ระบบแต่งตั้ง แทนที่จะไปแต่งตั้งใครก็ขอเอาไว้ 6 ที่ จากจำนวน 250คน เพื่ออย่างน้อยทำให้อุ่นใจเกิดความรู้สึกว่าถ้าจะปรองดองกัน จะแก้ไขสถานการณ์กันจะมีคนที่เป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติอยู่ ซึ่งเมื่อ ผบ.เหล่าทัพเกษียณก็ต้องพ้นจาก ส.ว.ไป เพราะเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง จะว่าดีหรือไม่ดีก็แล้วแต่ แต่เจตนาคือเพื่อรับประกันด้านความมั่นคง และวุฒิสภาไม่ได้มีหน้าที่ในการออกกฎหมายอย่างเดียว แต่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ป้องกันอะไรหลายอย่างที่ไม่พึงปรารถนาได้ แต่จะไม่ทำให้ใครมีอภิสิทธิ์ขึ้นมา นอกจากนี้แม้ ผบ.เหล่าทัพจะมีสิทธิ์เป็นประธานวุฒิสภา แต่คงไม่มีใครเอา เพราะเป็นข้าราชการประจำ งานต่างๆ มากมาย คงดูไม่จืด
เมื่อถามว่าจะถูกมองว่าฝ่ายความมั่นคงเข้าไปแทรกแซงงานนิติบัญญัติหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้ารัฐธรรมนูญให้สามารถทำได้ไม่ถือเป็นการแทรกแซง เมื่อถามว่า คณะกรรมการสรรหา ส.ว.จะเป็นรูปแบบใด นายวิษณุกล่าวว่า ถ้า กรธ.ยอมรับตามความคิดตรงนี้ของ คสช. กรธ.จะต้องไปกำหนดเองว่าจะคัดสรรอย่างไร เป็นใครมาจากไหน คสช.คิดให้ไม่ออกและไม่กล้าคิด
รองนายกฯ กล่าวว่า วันนี้เราไม่ได้พูดถึงเพื่อจะที่เอาคนเข้าไปออกกฎหมายให้วิเศษที่สุด เพราะตรงนั้นเป็นเรื่องหลังจากพ้นบทเฉพาะกาล แต่ในช่วงบทเฉพาะกาลทำอย่างไรให้เกิดความรู้สึกขึ้นในประเทศไทยและนานาชาติมีความสงบ มั่นคง ซึ่งมีการพูดกันในการประชุมแม่น้ำ 4 สายว่า การเลือกตั้งตามโรดแมปในปี 60 ยังเป็นสิ่งที่ยึดมั่นและจำเป็น แต่มีแนวโน้มว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาขึ้นเมื่อมีการเลือกตั้งในระยะเริ่มต้น ดังนั้นจึงมีอะไรหลายอย่างที่จำเป็นต้องดูแลรักษาสถานการณ์ความมั่นคงในช่วง 5 ปีแรก เมื่อพ้นแล้วจะไปแก้รัฐธรรมนูญ เขียนกันใหม่ก็คงต้องยอม เพราะเชื่อว่าในช่วง 5 ปีนั้นบ้านเมืองน่าจะเรียบร้อยได้แล้ว
เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ว่าข้อเสนอของ คสช.จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่มีใครพูดเรื่องนี้ เพราะที่สุดจะต้องเข้าสู่ประชามติ แต่เราอยากจะเห็นรัฐธรรมนูญผ่านโดยที่สามารถเอาไปใช้กับสถานการณ์บ้านเมืองได้โดยเรียบร้อย ถ้าจะไม่ผ่านมาตรการทั้งหมดจะไม่ได้นำมาใช้ ก็ต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่อยู่ดี และต้องเอาสิ่งอย่างเดียวกันไปคิดอยู่ดี อย่างไรก็ตาม เราจะตั้งหลักด้วยความรู้สึกว่าไม่ผ่านได้อย่างไร ต้องพูดในความรู้สึกว่ามันผ่าน ซึ่งแม่น้ำ 4 สายมีความรู้สึกว่าน่าจะผ่าน เมื่อถามว่า หากต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะไม่กระทบโรดแมปใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า อาจจะยืดไปหน่อยได้ แต่ถึงอย่างไรต้องเลือกตั้งในปี 60
เมื่อถามว่า การยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ 3 รายชื่อก่อนจะเป็นการเปิดช่องให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถหยิบจับชื่อใครก็ได้มาเป็นนายกฯหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ถูก ไม่ได้ห้ามใครเลย แต่นายกฯจะมาจากพวกที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนเลือกคือ ส.ส. ไม่เกี่ยวกับ ส.ว. ซึ่งในเมื่อ ส.ส.มี 500 คนแล้วยังจะไปเลือกข้างนอกอีกแล้วจะทำอย่างไร โดยหลักแล้วก็ควรจะเลือกคนใน เลือกคนในพรรคของคุณ ต่อข้อถามว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว อดีต คสช.และ ส.ว.ก็เป็นนายกฯ ได้ใช่หรือไม่ รองนายกฯ ย้ำว่า ใช่ เพราะไม่ได้ห้ามใครนอกจากข้าราชการประจำ แต่การไม่ได้ห้ามไม่ได้แปลว่าเชียร์ที่จะให้มาเป็น
เมื่อถามว่า ถ้านายกฯเป็นคนที่ ส.ว.ไม่ชอบก็มีสิทธิ์จะถูกถอดถอนได้ รองนายกฯ กล่าวว่า เสียงแค่นั้นเอาออกได้หรือ เพราะครึ่งหนึ่งของเสียงทั้งหมดของสภามี 750 คือ 375 แต่ ส.ว.มี 250 คน เมื่อถามย้ำว่า แต่ถ้ารวมกับฝ่ายค้านเสียงก็จะถึงครึ่งหนึ่ง รองนายกฯ กล่าวว่า ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะแค่ลำพังส.ส.ที่มี 500 คน ถ้าฝ่ายค้านมีมากก็เอาออกได้อยู่ดี ซึ่งเหมือนกัน ความเสี่ยงเกิดได้ทั้งหมด แต่ถ้ารัฐบาลดีมีธรรมาภิบาล ส.ว.จะได้ช่วยประคับประคอง แต่ถ้าเป็นรัฐบาลไม่ดี แต่ ส.ส.ปกป้อง เสียง ส.ส.ส่วนหนึ่งเอาออกไม่ได้ ส.ว.ก็อาจจะเข้ามาได้ ดังนั้นมันเกิดได้ทั้งหมดถ้าจะสมมติ