ประธาน กรธ.แจง ให้ตามข้อเสนอแม่น้ำ 4 สายไม่หมดทุกข้อ เพราะให้ตามเหตุผลที่เข้าใจได้ แย้มเล็งเขียนเงื่อนไข คกก.สรรหา ส.ว. ต้องมีความรู้การบริหารราชการแผ่นดิน ส่วน ส.ว.สรรหาครั้งแรก อาจต้องยกเลิกเงื่อนไข คสช. , ครม. , สนช. , สปท. ต้องลาออกใน 90 วัน ส่วนหลักเกณฑ์ที่มานายกฯ อาจเขียนในบทเฉพาะกาลครั้งแรก
นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมาการร่างรัฐธรรมนูญ( กรธ.) กล่าวว่าได้พูดคุยหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถึงการปรับแก้ในส่วนที่เป็นข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สายแล้ว นายวิษณุไม่ได้ว่าอะไร ส่วนนายกฯ เห็นด้วยหรือไม่ยังไม่รู้เพราะติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ ก็หวังว่าจะไม่ต้องกลับมาปรับแก้อีก
นายมีชัย กล่าวว่า กรธ. แก้ให้ตามเหตุผลที่เข้าใจได้ คือในส่วนของ ส.ว. ก็เข้าใจว่าอยากจะทำให้การปฏิรูปสำเร็จ เพราะการปฏิรูปบางเรื่องใช้ระยะเวลายาว ทางรัฐบาลก็เกรงว่าไม่มีการสานต่อ นี่เราก็เข้าใจ แต่ กรธ. ก็ขอว่าได้ทดสอบระบบของเราเองส่วนหนึ่ง 50 คน แบบสมัครแล้วเลือกกันเอง จะได้เป็นการทดสอบในตัวด้วยว่าใช้ได้หรือไม่ยังไง โดยอำนาจของ ส.ว. ไม่ได้มีอะไรมากกว่าปรกตินอกจากส่วนของกฎหมายปฏิรูป แต่ก็ไม่ได้ให้อำนาจเด็ดขาด เพียงแค่ว่าความเห็นของสภาผู้แทนฯกับวุฒิสภาไม่ตรงกันเราก็ขอให้ประชุมร่วมกัน ซึ่งเสียงของสภาผู้แทนฯ ที่มีมากกว่าจะเป็นผู้ยืนยัน
ส่วนที่ ขอ ส.ว. เลือกกันเองเพียง 50 จาก 250 คนนั้น นายมีชัย กล่าวว่า หากได้มากกว่านั้นก็คงดี แต่ กรธ.ก็คิดว่าอ่อนน้อมถ่อมตนไว้ ขอไปเท่านี้แล้วก็คงขอมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว
ส่วนที่เปิดให้ ผบ.เหล่าทัพเข้ามาเป็น ส.ว. ได้ยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้น ประธาน กรธ. กล่าวว่า กรธ. เห็นว่าเมื่อขอให้มีคนที่มาโดยตำแหน่ง 6 คน ก็ไปเขียนให้คนที่เป็นข้าราชการประจำและเป็นโดยตำแหน่งนั้นเป็นได้ไม่เกิน 2.5 เปอร์เซนต์ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมด ขึ้นกับคณะกรรมการสรรหาเห็นสมควรตั้งตำแหน่งไหน ซึ่งหากเกษียณไปเปลี่ยนคนมาอยู่ในตำแหน่งนั้นก็ให้มาเป็น ส.ว. แทน
“เราจะเขียนเงื่อนไขไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นพื้นฐาน และวางหลักเกณฑ์ว่าคณะกรรมการสรรหาจะต้องมีคุณสมบัติ เช่นความรู้ในการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นต้น แล้วให้ คสช. ตั้ง”
นายมีชัย กล่าวด้วยว่าเมื่อบทเฉพาะกาลปรับให้ ส.ว. มาจากการสรรหา ก็อาจจะต้องไปแก้เงื่อนไขที่กำหนดให้ คสช. , ครม. , สนช. และ สปท. หากต้องการเป็น ส.ว. จะต้องลาออกภายใน 90 วันหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากเดิมให้ไปสมัครเองเจ้าตัวจะรู้ว่าจะลงสมัครหรือไม่ก็สามารถลาออกได้ แต่พอเป็นการสรรหา เจ้าตัวไม่อาจรู้ล่วงหน้า จึงไม่สามารถลาออกก่อน
ส่วนกรณีที่ กรธ. ไม่เห็นด้วยกับการให้อำนาจ สว. ในการอภิปรายไม่ไว้วางในรัฐบาลนั้น นายมีชัยกล่าวว่าเมื่อ ส.ว. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตั้งนายกฯ แต่ต้น ก็ไม่ต้องการให้ ส.ว.เกี่ยวข้องกับการถูกขับออก และเมื่อว่าหลังบทเฉพาะกาลต่อไป ส.ว. จะมีความยึดโยงกับประชนมากขึ้น แต่เราก็ได้แบ่งแยกหน้าที่ให้ชัดเจนไปแล้ว
นายมีชัย ยังชี้แจงกรณีเลือกตั้ง ส.ส. แบบ MMP ที่ กรธ. ไม่ปรับตามคำขอของแม่น้ำ 4 สายว่า เพราะเรามาไกลแล้ว ได้ชี้แจงอธิบายรูปแบบการเลือกตั้งใหม่ไปจนเป็นที่เข้าใจและประชาชนเห็นดีแล้ว หากเว้น 5 ปีแล้วค่อยไปเริ่มต้นใหม่อาจจะสับสนจึงไม่ขอปรับแก้ให้
สำหรับการปรับแนวทางการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีนั้น นายมีชัยชี้แจงว่า สิ่งที่แม่น้ำ 4 สายทักมาก็มีเหตุผล เพราะหากผู้ถูกเสนอรายชื่อมีอันเป็นไปก่อนจะทำอย่างไร เพราะมันเป็นระบบใหม่ในช่วงแรกอาจจะเกิดปัญหาได้ เราก็หาทางออกให้ว่าสามารถยกเว้นไม่เอาจากบัญชีรายชื่อ ซึ่งเหมือนการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งต้องมีเสียงเห็นชอบของรัฐสภาด้วย จึงกำหนดให้ต้องให้ ส.ว. ร่วมรับรองด้วยให้ได้สองในสามของรัฐสภา แต่ถึงเวลาเลือกนายกฯ ก็ยังต้องไปเลือกกันเองในสภาผู้แทนฯ โดย ส.ว. ไม่ได้เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามหากเปิดทางให้เอารายชื่อนายกฯ นอกบัญชีแล้วยังเลือกกันไม่ได้ ถึงจุด ๆ หนึ่งก็ต้องยุบสภาไปเลือกตั้งกันใหม่
นายมีชัย กล่าวถึงการปรับหลักเกณฑ์เรื่องที่มานายกฯ ข้างต้นว่า เบื้องต้นคิดว่าจะแก้ในบทเฉพาะกาลให้ใช้ได้เพียงการเลือกตั้งครั้งแรกเท่านั้น เพราะเป็นระบบใหม่ การเตรีมการอาจจะยังไม่พร้อม แต่หวังว่าหลังจากใช้ไป 4 - 5 ปี คุ้นเคยกับวิธีการในบทถาวรแล้ว พรรคการเมืองจะสามารถปรับตัวได้