ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เผย ได้รับความคิดเห็นจาก ครม. แล้ว ปฏิเสธทำหนังสือถึงประธาน สปท. บอกไม่ทราบ ไม่รู้ใครพูด แจงข้อเสนอองคมนตรีค้านให้คนนอกนั่งคณะกรรมการตุลาการ บอกไม่มีอะไร ขอคุยบรรดาผู้พิพากษา ด้านโฆษกพรรคพลังชล แนะ กรธ. ดูที่มาขององค์กรอิสระตรวจสอบรัฐบาล หวั่นเสียของหากถูกคว่ำ
วันนี้ (17 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญมายัง กรธ. ว่า ได้รับข้อเสนอของ ครม. แล้ว แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ รอให้ที่ประชุม กรธ. เห็นก่อน ส่วนที่มาของข่าวว่า ที่ประชุม กรธ. เตรียมที่จะทำหนังสือถึง ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (สปท.) เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับความเห็นและข้อเสนอแนะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกส่งมาจาก สปท. นั้นเป็นมาอย่างไรนั้น ตนไม่ทราบ ไม่รู้ด้วยว่าใครพูด
เมื่อถามถึงข้อเสนอของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ที่ถูกส่งมายัง กรธ. นายมีชัย กล่าวว่า “เห็นแล้ว ไม่มีอะไร”
เมื่อถามว่า ข้อเสนอจะคล้ายกับเมื่อครั้งที่เคยเสนอต่อคณะกรรมการธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า “ท่านว่าอย่างนั้น”
เมื่อถามย้ำว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับการให้บุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) จะเปิดทางให้เกิดการแทรกแซงได้จริงหรือไม่ ประธาน กรธ. กล่าวว่า ไม่รู้ การที่เราเขียนไว้ก็เพื่อให้ผู้พิพากษาเลือกกันเอง แต่ถ้า นายธานินทร์ ติติงมา เราก็คงต้องไปพูดคุยกับบรรดาผู้พิพากษา และต้องไปพิจารณา ส่วนจะต้องตัดทิ้งเลยหรือไม่นั้น ตนต้องขอไปหารือก่อน
ด้าน นายสุระ เตชะทัต โฆษกพรรคพลังชล กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของภาคส่วนต่าง ๆ กรธ. ควรรับฟังแล้วนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ส่วนตัวอยากให้ กรธ. ให้ความสำคัญกับที่มาขององค์กรอิสระ ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งประชาชนเลือกมา ต้องมีมาตรฐาน และยึดโยงกับประชาชน ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการยอมรับ หาก กรธ. ไม่ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ จนร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติขึ้นมา ผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะเกิดความเสียหาย และประเทศก็จะเสียเวลา และโอกาสในการพัฒนา
นายสุระ ยังกล่าวถึงกรณีที่จะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศในระยะยาว ว่า ตนเห็นด้วย แต่ผู้ที่จะมาทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์นั้น ต้องมีความหลากหลาย ไม่ใช่เป็นเพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากำหนดยุทธศาสตร์ แล้วมีผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา เพราะหากเป็นเช่นนั้น จะถือว่าเป็นการเบี่ยงเบนเจตนารมณ์ของประชาชน