เปิดกฎหมายใหม่กำหนดคุณสมบัติของบุคคลผู้มีสิทธิสมัครเป็นผู้พิพากษาสมทบ การพ้นจากตำแหน่ง ยกเลิกข้อห้ามการดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระของผู้พิพากษาสมทบ เปลี่ยนให้ดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถและมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานเข้าสู่ระบบการคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาสมทบอย่างเหมาะสม
วันนี้ (29 ม.ค.) มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ดังนี้
“ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นปีที่ ๗๑ ในรัชกาลปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๙”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๑) ของมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ในวันยื่นใบสมัคร”
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกวรรคสามของมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓
มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๕/๑ แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓
“มาตรา ๒๕/๑ ผู้พิพากษาสมทบให้ดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งผู้ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกก็ได้ ผู้พิพากษาสมทบที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระให้คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าผู้พิพากษาสมทบคนใหม่จะเข้ารับหน้าที่ให้มีการประเมินผลงาน ความรู้และความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ และการประเมินสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาสมทบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมกำหนด”
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“มาตรา ๒๗ ผู้พิพากษาสมทบพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ออกตามวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) มีอายุครบเจ็ดสิบห้าปีบริบูรณ์
(๕) ขาดคุณสมบัติหรือเข้าลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๒๕
(๖) ขาดการปฏิบัติหน้าที่ตามเวรปฏิบัติการที่กำหนดถึงสามครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือกระทำการใด ๆ ซึ่งถ้าเป็นข้าราชการตุลาการแล้วจะต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะถูกลงโทษไล่ออก ปลดออกหรือให้ออกตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
(๗) ไม่ผ่านการประเมินผลงาน ความรู้และความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ หรือการประเมินสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๕/๑ การพ้นจากตำแหน่งตาม (๒) (๓) หรือ (๔) ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ ถ้าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตาม (๕) (๖) หรือ (๗) ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมและให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง”
มาตรา ๗ ให้ผู้พิพากษาสมทบซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ ก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๘ ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้กำหนดภารกิจของผู้พิพากษาสมทบเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากหน้าที่ในการร่วมเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี เช่น การปฏิบัติตามคำสั่งหรือการมอบหมายในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็กและเยาวชน และกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับอายุของบุคคลผู้มีสิทธิสมัครเป็นผู้พิพากษาสมทบ รวมทั้งเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบยังไม่มีความเหมาะสมส่งผลทำให้การปฏิบัติงานของผู้พิพากษาสมทบขาดความต่อเนื่องและไม่คุ้มค่าต่องบประมาณในการดำเนินงานตามภารกิจดังกล่าว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของบุคคลผู้มีสิทธิสมัครเป็นผู้พิพากษาสมทบ และแก้ไขเพิ่มเติมเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบเกี่ยวกับอายุ รวมทั้งยกเลิกข้อห้ามการดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระของผู้พิพากษาสมทบ เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถและมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานเข้าสู่ระบบการคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาสมทบอย่างเหมาะสม สามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง และคุ้มค่าต่องบประมาณในการดำเนินงานตามภารกิจดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”