xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แอร์พอร์ตลิงค์ แอร์พอร์ตเละ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพของผู้โดยสารและความโกลาหลอลหม่านที่เกิดขึ้นกับ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559.
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ความโกลาหลอลหม่านที่เกิดขึ้นกับ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ที่เกิดขัดข้องกะทันหันในช่วงเวลาเร่งด่วนของเช้าวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา บอกได้เลยว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน เพราะแอร์พอร์ตลิงค์แท้ที่จริงคือแอร์พอร์ตเละมาตั้งแต่ริเริ่มโครงการแล้ว เปรียบได้กับการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดก็ผิดเรื่อยมา และจะมีปัญหาเรื่อยไปไม่สิ้นสุดจนกว่าจะหยุดวิ่งนั่นแหละ

07.50 น.เช้าวันจันทร์ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา การจ่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)เกิดขัดข้อง และระบบไฟฟ้าสำรองของแอร์พอร์ตลิงค์ชำรุด ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟไปยังขบวนรถได้ ขบวนรถต้องหยุดวิ่งกะทันหันระหว่างสถานีหัวหมากและสถานีรามคำแหง ฝั่งมุ่งหน้าพญาไท ผู้โดยสารในขบวน 700 คน ที่แออัดและอบอ้าวอยู่ภายในตัวรถด้วยความตื่นตระหนก เป็นลมล้มพับไป 7 ราย ที่เหลือจึงรีบช่วยกันเปิดประตูฉุกเฉินหนีตายจากการขาดอากาศหายใจ

“....อะไรคือขั้นตอนในการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน อะไรคือไม่มีการสื่อสารหรือประกาศให้ผู้โดยสารทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อะไรคือไม่เปิดประตูฉุกเฉินเมื่อตัดกระแสไฟและอากาศ อะไรคือมาบอกว่าคืนค่าโดยสารให้กับทุกคน เพราะแท้จริงแล้ว ค่าโดยสารเพียงไม่กี่สิบบาท แลกไม่ได้เลยกับชีวิตของคนนับพัน ถ้าหากทุกคนต่างไม่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อาจจะมีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้น และสุดท้าย อะไรคือความรับผิดชอบของผู้บริหาร ร.ฟ.ท. และ แอร์พอร์ตเรลลิงค์” หนึ่งในเสียงสะท้อนของผู้โดยสารที่ประสบเหตุในวันดังกล่าวที่มีการแชร์ในโลกโซเชียล

ที่น่าสมเพชไปกว่านั้นก็คือ หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่เป็นแม่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ที่เป็นบริษัทลูก คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด ร.ฟ.ท.) และกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลเชิงนโยบาย รับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแอร์พอร์ตเรลลิงค์เป็นอย่างดี แต่กลับยังปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำ เล่าซ้ำซาก ไม่มีการแก้ไขโดยไม่รู้ชะตากรรมของผู้โดยสารว่าจะโชคดีที่รอดมา ได้(อีกครั้ง) หรือไม่ เพราะรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ปัจจุบันวิ่งมาแล้ว 1.6-1.7ล้านกิโลเมตร แต่ยังไม่มีการซ่อมบำรุงหนัก ทั้งที่ต้องซ่อมตั้งแต่ 1.2ล้านกิโลเมตรแล้ว

และนั่นเป็นที่มาของการที่นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับดูแล ร.ฟ.ท.ถึงกับออกโรงว้ากแสดงความไม่พอใจ พล.อ.ดรัณ ยุทธวงษ์สุข กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์
.ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม
พล.อ.ดรัณ ยุทธวงษ์สุข กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
แต่จะรวมถึง พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ด้วยหรือไม่ ไม่ทราบได้ เพียงแต่งานนี้ ทำเอา “บิ๊กเยิ้ม” เต้นเร่าๆ อยู่ไม่น้อย

“ผมสอบถาม พล.อ.ดรัณว่าไม่ได้ดูแลกันเลยหรือซึ่งพล.อ.ดรัณตอบว่าดูแล เลยถามต่อว่ารู้มานานหรือยังพล.อ.ดรันตอบว่ารู้มาตั้งแต่เดือนต.ค.58 ผมจึงไม่เข้าใจในเมื่อเขามีอำนาจในการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษในวงเงิน 25 ล้านบาทที่ทาง ร.ฟ.ท.มอบอำนาจให้หมดแล้ว และงบประมาณก็มีว่าทำไมไม่ทำ ผมกำลังตรวจสอบอยู่ว่าเมื่อรู้หมดแล้วทำไมถึงไม่จัดการ ตอนผมเป็นประธานบอร์ดร.ฟ.ท.ได้อนุมัติให้เขาทำซ่อมแซมใหญ่ (โอเวอร์ฮอล) ทั้ง 9 ขบวน แต่กลับทำพาเชียลโอเวอร์ฮอล แล้วที่ขออนุมัติไป 380 ล้านบาทเอาไปทำอะไรกัน เมื่ออนุมัติแล้วยังจะต้องให้ไปนั่งดูอีกหรือว่าได้ทำอะไรไปบ้าง อย่างนี้ก็เกินไปแบบนี้ต้องลงโทษกันบ้างแล้ว

“เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ผมก็เหนื่อยเดินไปจนถึงตัวรถที่เกิดเหตุ 2กิโลเมตรกว่า ผมถามว่าผู้บริหารคุณอยู่ไหน พล.อ.ดรัณอยู่ไหนเจ้าหน้าที่รายงานว่าพล.อ.ดรัณโทรศัพท์มาว่ารออยู่ที่ออฟฟิศ ผมเลยบอกว่าทำไมไม่เดินทางมาแก้ปัญหา เพราะเรื่องพวกนี้ผมเคยพูดกับนายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัดตอนที่เกิดปัญหากับนกแอร์ว่าการเป็นผู้บริหารสูงสุดและรับผิดชอบองค์กร เมื่อเกิดปัญหาคุณต้องมาถึงที่เกิดเหตุก่อนคนอื่น หรือคุณอยู่หัวหินแล้วบอกว่าไปถ่ายแบบก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกสามารถโทรศัพท์สั่งการได้ว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร เท่านั้นก็จบ แต่กลับไม่ทำปล่อยให้ผู้โดยสารลำบาก ผมบอกนายพาทีอย่างนี้เลย กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน แทนที่จะลงไปที่เกิดเหตุเพื่อแก้ปัญหาแต่ต้น แต่ปล่อยจนถึงขั้นผู้โดยสารทนไม่ได้ ต้องเดินตามรางออกมาท่ามกลางอากาศร้อนๆ มันไม่ได้”นายออมสิน กล่าว
 
“บิ๊กเยิ้ม” พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ประธานคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด
ขณะที่ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ประธานคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ฉายา “บิ๊กเยิ้ม”อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 องครักษ์พิทักษ์ “บิ๊กตู่”เพื่อนร่วมรุ่นเพื่อนเลิฟเพื่อนรัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และน้องรัก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าววาจาแบบมั่นมากว่ามีเขาแอร์พอร์ตลิงค์จึงวิ่งอยู่

“จริงๆ ที่ผมมานั่งมาในตำแหน่งประธานบอร์ด ร.ฟ.ท.เพราะพี่ออมสิน (นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม) ชวนมา ตอนหลังไม่รู้ไปกินผึ้งอะไรมา และความรู้สึกผม คนที่เป็นหัวหน้าไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในพื้นที่ มันต้องอยู่จุดคอนโทรล กำกับใครยังไง จะไปว่าเขาไม่ได้ ถึงไปอยู่ก็แก้ไขอะไรไม่ได้ และเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเคลียร์ใจกับ รมช.คมนาคม เป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว เจอหน้าด่ากันได้ ไม่มีปัญหา เราเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว ไม่ควรมาทะเลาะกันให้คนอื่นหัวเราะ มันน่าเกลียด และผมไม่ได้โม้ ถ้าไม่ได้ผมมา แอร์พอร์ตลิงค์หยุดวิ่งไปนานแล้ว ไม่มีอะไรสักชิ้น ทะเลาะกันหมด”

ความจริงแล้ว นับตั้งแต่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์เปิดให้บริการ ก็มีปัญหามาโดยตลอดด้วยความไม่พร้อมด้วยประการทั้งปวง เรียกได้ว่าพอเริ่มเปิดบริการก็เริ่มเดินหน้าเข้าสู่วิกฤตและฉิวเฉียดเกิดโศกนาฏกรรมอย่างที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ และยังสุ่มเสี่ยงกันต่อไป เพราะจุดเริ่มโครงการนี้คนทำไม่ได้คิด คนคิดก็อิ่มอร่อยสบายใจเฉิบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนคนที่มารับหน้าที่บริหารจัดการ คือ ร.ฟ.ท.ที่ตั้งบริษัทลูกขึ้นมารับบริหารจัดการ ก็มีสภาพเหมือนถูกโยนขี้ใส่มือเต็มๆ และที่สำคัญผู้บริหารการรถไฟกี่ยุคกี่สมัยมาแล้วที่ไม่มีใครมีฝีมือในการบริหารจัดการ ดูจากผลงานการบริหารรถไฟไทยที่ไปแทบไม่รอดลูกผีลูกคนมาตลอดนั่นชัดเจน

โครงการแอร์พอร์ตลิงค์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยาน กรุงเทพมหานคร” ใช้เงินไปเกือบ30,000 ล้านบาทในการก่อสร้าง เปิดบริการเชิงพาณิชย์ได้จริงเมื่อวันที่ 23พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ตลอดช่วงระยะเวลาเปิดให้บริการมากว่า 5 ปี เต็มไปด้วยปัญหา ในด้านการให้บริการ มีปัญหานับตั้งแต่ขบวนรถไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ใช้บริการ การไม่ตรงต่อเวลา รอนาน สถานีเข้าถึงยาก ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งเหตุที่ขบวนรถล่าช้าเพราะเหลือขบวนรถเพียง 5 ขบวนจากที่มีอยู่ 9 ขบวน อีก 4ขบวนจอดไว้เฉยๆ เพราะถึงเวลาซ่อมใหญ่ไม่มีงบประมาณ ไม่มีอะไหล่ จึงกลายเป็นรถอะไหล่สำหรับซ่อม 5 ขบวนที่ยังวิ่งอยู่

ในด้านการซ่อมบำรุง นี่นับเป็นปัญหาใหญ่ เป็นภัยเงียบและสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งในเวลานี้ คือ ทั้งระบบราง และขบวนรถของแอร์พอร์ตลิงค์ทั้งหมด เลยเวลาที่จะต้องซ่อมบำรุงแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำ ในส่วนของระบบราง ก่อนหน้านี้ ผู้เชียวชาญเรื่องระบบกาจราจรอย่างนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับทีมช่างของแอร์พอร์ตลิงค์เอง ได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพราง พบรางที่ชำรุด เสียหายหลายจุด ที่อาจเป็นอันตรายต่อการดเดินรถได้ มีการถ่ายภาพมาเป็นหลักฐาน แต่ผู้บริหารแอร์พอร์ตลิงค์ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ทั้งที่กระบวนการซ่อมบำรุงทั้งระบบราง และตู้รถไฟจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี แต่จนบัดนี้ แอร์พอร์ตลิงค์ ยังไม่ได้ทำอะไรเลย

ปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุดนั้นคือปลายยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ออกมาให้เห็นเพียงเล็กน้อย ดังที่ นายประมวล สุธีจารุวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุผ่านเฟซบุ๊ก “Assistant Professor Pramual Suteecharuwat, Ph.D.” กรณีความบกพร่องของรถไฟฟ้า “แอร์พอร์ตเรลลิงค์” หรือ SARL (Suvarnabhumi Airport Rail Link) ว่ากรณีข้อบกพร่องของ SARL เมื่อเช้าวันที่21 มีนาคมที่ผ่านมานั้น แสดงให้เห็นว่ารถไฟฟ้า แอร์พอร์ตลิงค์วิกฤติ มีปัญหารุมเร้าสารพัด ทั้งขาดแคลนอะไหล่ บุคลากรมีฝีมือทยอยออก และที่สำคัญ ปัจจุบันวิ่งมาแล้ว 1.6-1.7 ล้านกิโลเมตร แต่ยังไม่ผ่านการซ่อมบำรุงหนัก ทั้งที่ต้องซ่อมตั้งแต่ 1.2 ล้านกิโลเมตรแล้ว ซึ่งสะท้อนภาพความไม่พร้อมของการบริหารจัดการระบบรางขนาดใหญ่ของไทยในอนาคต หากรัฐบาลไม่รีบแก้ไขมีปัญหาซ้ำอีกแน่

“ปัญหาเริ่มต้นที่การไม่มีอะไหล่ ตามมาด้วยความพยายามของบอร์ดบริหารตั้งแต่ชุดแรกจนถึงชุดปัจจุบัน ต่างพยายามจะว่าจ้างบริษัทเอกชนรายอื่นให้มารับผิดชอบกิจกรรมการซ่อมบำรุง แทนการบริหารจัดการด้วยพนักงานของ ร.ฟ.ท.เอง และที่น่าตกใจคือเจ้าของเทคโนโลยีอย่าง ซีเมนส์ (Siemens) เองก็ไม่กล้ารับงานซ่อมบำรุงSARL ในขณะนี้ เพราะสภาพรถบอบช้ำเกินกว่า บริษัทจะเสี่ยงรับผิดชอบไหว” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนภาพแบบเขย่าขวัญกันเลยทีเดียว

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกภายใต้ฟ้า เมืองไทยทั้งโครงการใหญ่ในอดีตที่ผ่านมาและในอนาคตภายภาคหน้า แต่เมื่อย้อนกลับไปดูที่มาของโครงการใหญ่ระดับ 3 หมื่นล้านบาทนี้ ก็จะเข้าใจว่าทำไมแอร์พอร์ตลิงค์จึงตกอยู่ในสภาพที่อเนจอนาถดังที่เห็นในปัจจุบันนี้
 

โครงการแอร์พอร์ตลิงค์ ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2547 และใช้เวลาเพียง 3 เดือนหลังจากนั้นในการประมูลคัดเลือกผู้ก่อสร้าง ผู้ที่ได้รับงานมูลค่า 26,000 ล้านบาทไป คือ กลุ่มบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ของ นายชวรัตน์ และนายอนุทิน ชาญวีรกุล ซึ่งใกล้ชิดกับนายเนวิน ชิดชอบ ที่ขณะนั้นยังเป็นขุนพลข้างกายนายทักษิณ ได้งานโยธามูลค่า 12,000กว่าล้านบาทไป และกลุ่มบีกริม-ซีเมนส์ ได้งานระบบและจัดหาขบวนรถมูลค่า13,000 ล้านบาทไป

ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ การรถไฟฯ รับมอบงาน ผู้รับเหมาก่อสร้างรับเงินไปเรียบร้อยแล้ว ก็ถือว่า โครงการบรรลุเป้าหมายแล้ว หน้าที่ในการบริหารจัดการ เป็นของการรถไฟฯ ซึ่งตั้งบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.ขึ้นมาบริหารโครงการแบบฉุกละหุก ไม่มีทั้งบุคลากรที่มีประสบการณ์ ไม่มีเงิน โดยที่รัฐบาล ทั้งรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยของนายเนวิน คุมกระทรวงคมนาคมส่งนายโสภณ ซารัมย์ เข้าไปทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้จัดสรรงบประมาณในการดำเนินการ รวมทั้งการจัดซื้ออะไหล่ ซื้อขบวนรถเพิ่มเติม ให้การรถไฟฯ เลย จะให้ก็แต่เงินช่วยเหลือเฉพาะหน้า เมื่อแอร์พอร์ตลิงค์ เกิดปัญหาสภาพคล่อง เพราะปริมาณผู้โดยสารน้อยกว่าที่อ้างไว้ในแผนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการมาก

แอร์พอร์ตลิงค์ จึงผิดตั้งแต่กลัดกระดุมเม็ดแรกจวบจนบัดนี้ ซึ่งสถาบันอนาคตไทยศึกษา เคยศึกษาโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2556เพื่อเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตั้งท่าเดินหน้ากู้สิบทิศ โดยฉายให้เห็นการวาดฝันกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงของโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ คือ

หนึ่ง ระยะเวลาก่อสร้าง กำหนดตามสัญญา5 พฤศจิกายน 2550 แต่เอาเข้าจริงขยายเวลาออกไป 550 วัน เพราะ ร.ฟ.ท.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ตามสัญญา ที่สำคัญคือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจพบว่าตอม่อเสาในบางส่วนมีรอยร้าว

สอง เวลาในการเดินรถ ตามแผน รถไฟฟ้า Express Line ออกทุก 15 นาที มีรถ 4 ขบวน ส่วนรถไฟฟ้า City Line เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง แต่ของจริงคือ Express Line ออกได้ชั่วโมงละเที่ยวและเหลือเพียง 2 ขบวน ส่วน City Line ได้แค่ 06.00 - 24.00น. เท่านั้น เพราะปัญหาขาดการซ่อมบำรุงที่ดี แอร์พอร์ตลิงค์เคยหยุดวิ่งชั่วคราวแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2553เพราะประแจสับหลีกที่สถานีลาดกระบังเสีย ไฟแดงที่แสดงบนหน้าปัดควบคุมผิดปกติ และเกิดความขัดข้องจากการชำรุดของแปลงถ่านรับไฟฟ้า ครั้งที่สอง รถไฟฟ้า Express Line หยุดเดินรถ 3 วัน ระหว่างวันที่ 27 - 31มีนาคม 2554 เนื่องจากแปลงรับถ่านไฟฟ้าชำรุด เดือนมิถุนายน 2555 รถไฟฟ้า Express Line ขัดข้องหยุดเดินรถครึ่งชั่วโมงเพราะระบบไฟฟ้าไม่สามารถจ่ายไฟเข้ามอเตอร์ได้ และเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2557 รถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) ของแอร์พอร์ตลิงค์ขบวนที่4 เบรกเสีย เกิดควันไฟคละคลุ้งไปทั่วบริเวณสถานี ผู้โดยสารตกใจวิ่งหนีอลหม่าน เพราะกลัวจะเกิดไฟไหม้ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่เกี่ยวกับรถหมดสภาพ แค่ระบบเบรกไม่เสถียรเท่านั้น

สาม การคาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร ตามแผนคาดการณ์จะมีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 95,900 คน แต่เปิดบริการมา 5 ปี มีผู้โดยสารเฉลี่ยแค่40,811 คนต่อวัน เท่านั้น

สี่ อำนวยความสะดวกบริการเช็กอินและขนถ่ายสัมภาระผู้โดยสาร ไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ เอาเข้าจริงแล้วมีผู้โดยสารมาใช้บริการเช็กอินสัมภาระแค่ 12 คนต่อวัน (ณ เดือนกรกฎาคม 2555) จึงเหลือแค่การบินไทยที่ให้บริการเช็กอิน ปัญหาเพราะการเช็กอินและขนถ่ายสัมภาระที่สถานีมักกะสันยังคงล่าช้า ขณะที่แผนงานอื่นก็ขาดความชัดเจนทั้งแผนพัฒนาธุรกิจและแผนปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเชื่อมระหว่างสถานีมักกะสันกับสถานีรถไฟใต้ดินเพชรบุรี
แอร์พอร์ตลิงค์ ยังมีเรื่องฉาวๆ ที่ถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)เข้ามาตรวจสอบโครงการหลังเกิดรัฐประหาร 9 กันยาฯ 2549 ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ การที่ ร.ฟ.ท.จ่ายค่าธรรมเนียมการเงินสำหรับโครงการสูงถึง 7% หรือ 1,666 ล้านบาท ขณะที่โครงการอื่นจะไม่เกิน 2.5%

ผลสอบของ คตส. พบว่า เงินที่ผู้รับเหมาเบิกไป 1,666 ล้านบาทนั้น เอาไปจ่ายค่าธรรมเนียมเงินกู้ให้ธนาคารกสิกรไทยตามที่ธนาคารคิดจริงๆ แค่ 400ล้านบาทเท่านั้น อีก 1,200 ล้านบาท เข้ากระเป๋าแบบหวานหมู แถม ร.ฟ.ท. ยังแก้สัญญาจากที่ต้องชำระค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายทางการเงินพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดแก่ผู้รับเหมาภายหลังโครงการก่อสร้างทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์ มาเป็นให้ชำระเงินแก่ผู้รับเหมาทันทีเมื่อครบกำหนดสัญญา (990 วัน)โดยที่ไม่มีการระบุเงื่อนไขในการรับมอบงานที่แล้วเสร็จแต่อย่างใด

เมื่อ คตส.หมดวาระ ได้โอนเรื่องแอร์พอร์ตลิงค์มาให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สอบต่อ ซึ่งผลสอบของ ป.ป.ช.ออกมาเมื่อเดือนเมษายน 2553 ว่า นายจิตต์สันติ ธนะโสภณ ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กับพวกกว่า 10 คนมีความผิดวินัยร้ายแรงและความผิดทางอาญาฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรมว.กระทรวงคมนาคม ป.ป.ช.ให้ยกคำร้อง จากนั้น ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด เป็นผู้ส่งฟ้องคดี แต่ทุกวันนี้สำนวนยังกองอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุด เหมือนกับอีกหลายๆ คดีที่ไม่มีความคืบหน้า

พร้อมๆ กับปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดับฝันนักจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ มาเสริมขบวน City Line จำนวน7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ วงเงินรวม 4,855ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อย ใครที่กำลังฝันหวานถึงคอมมิชชั่นลืมไปก่อนได้เลยถ้ายังแก้ปัญหาไม่ได้

“เมื่อเหตุเกิดจากระบบไฟฟ้ามีปัญหา และระบบไฟฟ้าสำรองดันมาเสีย ไปดูว่าระบบไฟฟ้าสำรองมันเสียอย่างไร ให้ไปดูแล้วปรากฏว่าเสียมาหลายเดือนแล้ว และกำลังให้สอบสวนกันอยู่ ถ้าทุกคนทำงานตามหน้าที่ของตัวเอง เอาใจใส่ มันก็จบ ถ้าไม่เอาใจใส่ มันก็เป็นแบบนี้ตลอดไป มันมีผู้ปฏิบัติอยู่แล้ว ก็ต้องไปลงโทษผู้ปฏิบัติว่าจะทำอย่างไร หามาตรการอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดขึ้นอีก การลงโทษมีทั้งเบาไปหาหนัก ไม่ใช่เอาไปฆ่าทิ้ง ไปแก้ให้ถูกจุด วันนี้ให้ไปหาทางซ่อมแซมให้มีใช้ รถที่ใช้ตอนนี้มันแน่นเกินไป เพราะเป็นที่นั่งแบบบิสซิเนสหมด อาจจะต้องเอา 4 ขบวนมาปรับปรุงก่อน ภายในเวลา 4เดือน ในเรื่องของการทำให้นั่งได้มากขึ้น ยืนได้มากขึ้น มันจะได้ขนคนได้มากขึ้น เรื่องการซื้อใหม่ยังไม่ซื้อ ซื้อใหม่ตอนที่แก้ปัญหาได้หมดแล้ว และค่อยซื้อยังมีเวลาทัน ทุกคนมุ่งแต่จะซื้อ ๆ หมด ผมยังไม่ให้ทั้งหมดหรอก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นั่นแหละคือความเป็นจริงของรถไฟฟ้าสุดเละเทะที่ชื่อแอร์พอร์ตลิงค์ แอร์พอร์ตเละ ผู้โดยสารที่ใช้บริการนอกจากจะต้องระมัดระวังกระเป๋า สัมภาระ หาที่ยืนให้ได้ โปรดอย่าลืมรักษาชีวิตของท่านของตัวท่านเองด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น