จากกรณีเหตุรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรลลิงก์ ต้องหยุดกลางรางระหว่างสถานีหัวหมากไปสถานีรามคำแหง เมื่อช่วงเช้า วันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเบื้องต้นพบว่า สาเหตุมาจากกระแสไฟฟ้าที่สถานีรามคำแหงขัดข้อง
ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อมูล ความเห็นส่วนตัวผ่าน เฟซบุ๊ก “Assistant Professor Pramual Suteecharuwat, Ph.D.” กรณีความบกพร่องของรถไฟฟ้า “แอร์พอร์ต เรลลิงค์” ดังนี้
เริ่มมีสื่อมวลชนโทรศัพท์มาสอบถามผมเรื่อง Airport Rail Link (ปกติผมจะเรี ยกโครงการนี้ย่อๆ ว่า SARL ~ Suvarnabhumi Airport Rail Link) ขอให้ความเห็นไว้ตรงนี้ ตามนี้นะครับ
กรณีข้อบกพร่องของ SARL ในเช้าวันนี้ มีข้อพิจารณาที่ต้องทำความเข้าใจ และคิดต่อไปยาวๆ เพื่ออนาคต 8-9 ประเด็น
1. ภายใต้เงื่อนไขที่กระบวนการบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงของ SARL ที่แตกต่างไปจากโครงการ BTS และ MRT คือ ทาง SARL พยายามจะบริหารกิจกรรมการซ่อมบำรุงด้วยตัวเอง (ไม่ได้ outsource ให้กับเอกชน อย่างที่ BTS และ MRT จ้างบริษัท Siemens เป็นผู้ดำเนินการ) สิ่งที่ SARL ประสบปัญหาและเป็นอุปสรรคหลักจนส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงคือ ไม่สามารถจัดหาอะไหล่ได้ทันตามเวลา อันเนื่องจากกระบวนการจัดซื้อที่ผูกกับระเบียบของกระทรวงการคลัง และต้องผ่านการพิจารณาจากบอร์ดบริหาร 2 บอร์ด คือ บอร์ดของ SARL เอง (บริษัท รถไฟฟ้า รฟท จำกัด หรือ รฟฟท.) และบอร์ดของ รฟท.
แปลว่า ปัญหาใหญ่สุดของ SARL แท้ที่จริงไม่ใช่แค่เรื่องเหตุสุดวิสัยอย่างที่เกิด แต่เป็นเรื่องวิธีบริหารจัดการ และ business model ที่จะต้องได้รับการแก้ไขผ่านการปฏิรูปองค์กร
ถ้าไม่มีใครทำอะไร อีกไม่นานปัญหาแบบวันนี้ก็จะวนกลับมาอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
2. กระบวนการซ่อมบำรุงโดยพนักงานของ รฟฟท. ได้ผ่านการเรียนรู้มาแล้วนับตั้งแต่เปิดดำเนินการในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2553 จวบจนถึงปัจจุบัน ก็ให้บริการมาแล้ว 5-6 ปี ในระหว่างนี้ก็ผ่านวิกฤติมาแล้วหลายครั้ง เรียกได้ว่าพนักงานซ๋อมบำรุงของ รฟฟท. ได้ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์มาพอสมควร และมีขีดความสามารถที่รับมือได้
ทว่าปัญหาอันเกิดจากการขาดแคลนอะไหล่ จนไม่สามารถดำเนินการซ่อมบำรุงได้ตามรอบเวลาที่ควรกระทำ น่าจะเป็นต้นเหตุหลักที่นำไปสู่สารพัดปัญหาที่คล้ายเป็นระเบิดเวลาของ SARL
ความไร้ประสิทธิภาพนี้ กำลังเริ่มสั่นคลอนตัว รฟฟท. เอง เมื่อพนักงานในแผนกงานซ่อมบำรุงส่วนหนึ่งเริ่มย้ายตัวเองไปอยู่บริษัทอื่นๆ ขีดความสามารถในทีมบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงก็กำลังจะเริ่มมีปัญหาในไม่ช้า และเรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่จะผูกรวมไปกับเรื่องการขาดแคลนอะไหล่เพื่อการซ่อมบำรุงอย่างแน่นอน
3. วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2557 ผมและทีมงานวิจัยที่จุฬาฯ ได้เคยออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวในนามจุฬาฯ เรื่องความปลอดภัยของระบบ SARL ซึ่งในขณะนั้นวิ่งใช้งานไปแล้วราวๆ 1.3 ล้านกิโลเมตร (ควรทราบว่า ตามคู่มืองานซ่อมบำรุงระบุว่าระบบ SARL จะต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการซ๋อมบำรุงหนัก หรือ overhaul เมื่อวิ่งใช้งานครบ 1.2 ล้านกิโลเมตร บวกไม่เกิน 10% แล้วแต่สภาพการใช้งาน) นั่นหมายความว่า ในขณะเวลานั้น SARL ถึงวาระต้องซ่อมบำรุงใหญ่แล้ว แต่เท่าที่ผมทราบ จวบจนถึงปัจจุบัน SARL วิ่งมาแล้ว 1.6-1.7 ล้านกิโลเมตร โดยที่ยังไม่ผ่านการซ่อมบำรุงหนัก!
ถามว่า แล้วทำไมไม่ดำเนินการซ่อมบำรุงหนัก?
ตอบได้ว่า ปัญหาเริ่มต้นที่การไม่มีอะไหล่ ตามมาด้วยความพยายามของบอร์ดบริหารตั้งแต่ชุดเก่า (ก่อนการปฏิวัติ) และบอร์ดชุดปัจจุบัน ต่างพยายามจะว่าจ้างบริษัทเอกชนรายอื่น ให้มารับผิดชอบกิจกรรมการซ่อมบำรุง แทนการบริหารจัดการด้วยพนักงานของ รฟฟท เอง ซึ่งในกรณีนี้ โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดนะครับ
(ข้อมูลน่าสนใจ และต้องสนใจเป็นพิเศษ คือ ณ วันนี้ เจ้าของเทคโนโลยีอย่าง Siemens เองก็ไม่กล้ารับงานซ่อมบำรุง SARL ในขณะนี้นะครับ เพราะสภาพรถ “บอบช้ำ” เกินกว่าบริษัทจะเสี่ยงรับผิดชอบไหว ยกเว้นว่าเงินหนาพอๆ กับซื้อขบวนรถไฟฟ้าใหม่กันเลยทีเดียว)
ล่าสุด ทราบว่าปัจจุบัน รฟฟท. กำลังอยู่ในระหว่างร่างสัญญาเพื่อว่าจ้างเอกชนรายหนึ่งมารับงาน ซึ่งผมไม่ทราบว่าจะสามารถเริ่มงานได้เมื่อไร
สรุปเลยนะครับ สถานะ SARL ตอนนี้ พูดหยาบๆ แบบไม่เกรงใจใคร คือ วิกฤติ และไม่มีใครรับรองความปลอดภัยได้นะครับ
4. ในระยะสั้น ระหว่างที่ รฟฟท. กำลังมีปัญหาการจัดการงานซ่อมบำรุง สิ่งที่ต้องเตรียมการเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน และเหตุเมื่อเช้าได้พิสูจน์ด้วยตัวมันเองว่า รฟฟท. take action หรือตอบสนองกับเหตุฉุกเฉินช้าเกินไป คือ ต้องเตรียมมาตรการฉุกเฉินเพื่อรองกับเหตุไม่พึงประสงค์ให้เร็วกว่านี้
หากอะไหล่ไม่มี ซ่อมไม่ 100% ก็ต้อง response กับปัญหาเร็วกว่านี้ครับ
5. SARL มีขบวนรถที่ซื้อมาใช้งานครั้งแรก เป็นรถแบบ Express 4 ขบวน และรถแบบ City Line 5 ขบวน ใช้ๆ ไป ก็จอดเสีย 1 ขบวน เพื่อถอดอะไหล่มาซ่อมให้กับ 8 ขบวนที่เหลือ แปลว่าจริงๆ ก็วิ่งได้แค่ 8 ขบวน
ปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ทาง รฟฟท. ได้ยุติการให้บริการรถไฟด่วน Express เนื่องเพราะหลายเหตุผล ส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาการซ่อมบำรุง ทำให้มีการดัดแปลงสภาพรถไฟ Express มาให้บริการแบบ City Line
เท่าที่ผมทราบ ขณะนี้จอดเสียไปแล้ว 2 ขบวน วิ่งได้ 7 ขบวน แต่เอาเข้าจริงๆ ก็มีรถวิ่งได้แน่ๆ 5-6 ขบวน ด้วยสภาพความพร้อม 60-70%
6. ผมยังยืนยันคำพูดเดิมที่เคยพูดไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ว่า ระบบตรวจสอบความพร้อมของ SARL จะไม่ยอมให้รถที่มีปัญหาออกไปวิ่ง แต่การไม่ผ่านการซ่อมบำรุงหนัก ทะลุไปถึง 1.6-1.7 ล้านกิโลเมตร ย่อมหมายถึง “ทุกอย่างกำลังดำเนินไปภายใต้ความไม่แน่นอน” ไม่มีใครรับรองผลได้นะครับ
7. เหตุสุดวิสัยร้ายแรงอาจจะเกิดได้จากความบกพร่องของสภาพราง (แบบเดียวกับกรณี BTS แต่ที่น่ากลัวกว่า คือ SARL ไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบแบบเดียวกับที่ BTS ทำ) และการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินช้ากว่าที่ควรจะเป็น เช่น การปล่อยให้ผู้โดยสารติดอยู่ในรถนานกว่า 30 นาที โดยไม่มีการช่วยระบายอากาศ อาจส่งผลเสียรุนแรง และเหตุวันนี้คือสัญญาณเตือนที่ต้องระวัง
8. ปัญหาของ SARL ดูผิวเผินเป็นเรื่องการซ่อมบำรุง แต่ถ้ามองลึกๆ มองยาวๆ นี่คือเรื่องโครงสร้างองค์กร เรื่องการบริหารจัดการ เรื่องยุทธศาสตร์ ไล่เรียงไปจนถึงเรื่องความไม่พร้อมของไทยเอง ในการจะรับมือกับระบบขนส่งระบบรางที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นๆ
เรื่องแค่นี้ปัจจุบันยังแก้ไม่ได้ แล้วเรื่องในอนาคตจะแก้กันได้อย่างไร
9. SARL อยู่ในสภาพวิกฤติ เวลาได้พิสูจน์ด้วยตัวมันเองแล้วว่า เงื่อนไขการบริหารจัดการในปัจจุบัน ไม่ทำให้ทั้ง รฟฟท. + รฟท. สามารถทำอะไรได้ (ถ้าทำได้ คงทำไปนานแล้ว)
นี่คือเวลาที่ทางรัฐบาล จะต้องดำเนินการอะไรบางอย่าง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
**************************