xs
xsm
sm
md
lg

จับตากลุ่มอำนาจเก่า จ้องฮุบประมูลรถไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360-จับตาแก๊งประมูลรถไฟฟ้าโยงกลุ่มอำนาจเก่า สยายปีกคุมกระทรวงคมนาคมเบ็ดเสร็จ จัดซื้อรถไฟฟ้าสายสีแดงงบเพิ่มกว่า 6,744 ล้านบาท จ่อจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์เพิ่มเติม และเตรียมดันประมูลสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ผู้จัดการรายวัน 360 “ ถึง กรอบวงเงินลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต เพิ่มขึ้นมาโดยตลอดรวมทั้งสิ้นกว่า 18,402.58 ล้านบาท โดยเริ่มปรับสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จนสุดท้ายมาถึงยุค คสช. แต่ที่น่าแปลกคืองานก้าวหน้าไม่ถึง 50% ส่วนเรื่องการเดินรถก็ยังสรุปไม่ได้ รัฐบาล คสช.ต้องการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อลดภาระรัฐและรู้ว่าหากให้ รฟท. เดินรถเองก็จะเกิดปัญหาเหมือนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ แต่กระทรวงคมนาคมและ รฟท. กลับยืนยันจะเดินรถเองสวนทางรัฐบาล เป็นที่น่าสังเกตการจัดซื้อระบบรถไฟฟ้าทำไมไม่ให้เอกชนลงทุนทั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้า เดินรถ และซ่อมบำรุงไปเลยเพื่อลดความเสี่ยงของรัฐ เพราะเอกชนถ้าจะเดินรถก็ต้องซื้อระบบที่ดี ดูแลรักษาได้ง่าย และควบคุมต้นทุนให้ถูก กลับปล่อยให้ รฟท.จัดซื้อรถไฟฟ้าเองจนงบบานปลายขนาดนี้ที่แย่คือเสียเวลาไปปีกว่าโดยไม่ได้อะไรเลย

หากตรวจสอบเชิงลึกในการประมูลก็มีพิรุธมากงานนี้มีเสนอราคามา 4 กลุ่ม คือ 1. กิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท Mitsubishi Heavy Industrial Ltd. บริษัท Hitachi และบริษัท Sumitomo Corporation) 2. กิจการร่วมค้า SMCK Consortium (บริษัท Siemens Ak Piengesellschaft บริษัท Siemens Limited บริษัท Mitsubishi Corporation และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)) 3. กิจการร่วมค้า MIR Consortium (บริษัท Marubeni Corporation บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)และบริษัท Hyundai Rotem Company) 4. กิจการร่วมค้า Samsung Consortium (บริษัท Samsung Engineering Ltd. บริษัท Chr Zhu Zhou Electronic Locomotive Ltd. บริษัท Sojitz Jitz Corporation และบริษัท Samsung SDS Ltd.) สุดท้ายเหลือผ่านรายเดียวคือกลุ่ม MHSC Consortium ทั้งที่อีก 3 กลุ่มก็มีคุณสมบัติดี มีประสบการณ์ทำงานในประเทศไทยและระดับสากลมามากมาย กลับไม่ผ่านคุณสมบัติเลย อย่างนี้ก็ไม่เกิดการแข่งขันเลยถือว่ารัฐเสียหายมาก

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมและรฟท.ได้พยายามผลักดันการจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์เพิ่มเติมอีก 7 ขบวน ซึ่งสุดท้ายก็มีผู้เสนอราคารายเดียว คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า ฉางชุน ซีอาร์ซีซี และริเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ในราคา 4,400 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 ก.ย.58 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ออกมายืนยันว่าการประมูลแม้มีผู้เสนอราคารายเดียวก็สามารถเดินหน้าได้ โดยสามารถใช้วิธีเจรจาต่อรองโดยยึดราคากลางเป็นหลัก จนเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.58 คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีมติให้ทบทวนความเหมาะสม ซึ่งการดำเนินการของรฟท.ถือว่าทำให้ประเทศเสียหายมาก

เรื่องแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยายและมิซซิ่งลิงค์ก็เหมือนกัน แทนที่จะเร่งรัดเสนอครม.อนุมัติประกวดราคางานโยธาแล้วหาเอกชนมาลงทุนจัดหาระบบรถไฟฟ้าและเดินรถกลับล่าช้า ปีกว่าที่ผ่านมาศึกษาไม่จบสักที ทั้งที่รู้ว่าตอนนี้การเดินทางระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองเป็นปัญหา มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนต้องมีรถไฟฟ้า เข้าใจว่ากระทรวงคมนาคมและ รฟท. คงไม่อยากบรรจุโครงการนี้เข้าโครงการ PPP-Fast Track ของรัฐบาล แต่อยากจัดซื้อระบบรถไฟฟ้าเองเหมือนสายสีแดง

แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวเสริมว่า เป้าหมายของแก๊งนี้คือผลประโยชน์ในการจัดซื้อระบบรถไฟฟ้ารวมถึงอะไหล่ต่างๆตลอดการใช้งาน โดยต้องการให้ รฟท.และ รฟม. ดำเนินการเอง หลีกเลี่ยงการให้เอกชนร่วมลงทุน เพราะการให้เอกชนผู้รับสัมปทานจัดซื้อรถไฟฟ้าเองเท่ากับปิดโอกาสสร้างผลประโยชน์ให้กลุ่มตน เนื่องจากเอกชนผู้รับสัมปทานต้องซื้อระบบรถไฟฟ้าที่ดี ราคาถูก เพราะตนเองต้องดูแลบำรุงรักษาและรับผิดชอบตลอดระยะเวลาสัมปทาน เป้าหมายต่อไปของแก๊งนี้คือโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ที่มีมูลค่างานระบบรถไฟฟ้ากว่า 23,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมตรงข้ามกับรัฐบาลมาโดยตลอด โดยเฉพาะกับแนวทางของรองนายกฯดูแลด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ มรว. ปรีดิยาธร เทวกุล มาจนถึง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ผ่านมาโครงการรถไฟฟ้าที่ควรเร่งกลับไม่เร่ง เช่น สายสีแดง และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย กลับไปเร่งสายที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน เช่น สายสีชมพู สายสีเหลืองและสายสีเขียว บางปิ้ง-บางปู ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ก็ช้ามากเพิ่งประมูลไป 2 โครงการ ที่เหลืออีก 4 โครงการยังไม่สามารถเสนอ ครม.เห็นชอบสักที เพราะ สศช.ยังไม่เห็นชอบ ทำให้การประมูลล่าช้าไปอีก แต่กลับไปเร่งรถไฟไทย-จีนและรถไฟความสูง ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนน้อยกว่ามาก

"ผู้ใหญ่ในรัฐบาลผิดหวังกับการบริหารงานของกระทรวงคมนาคมมาก จนมีข้อสงสัยว่าบริหารงานไม่เป็น เอาแต่สร้างภาพ หรือแท้จริงแล้ว ต้องการดึงเวลาให้การประมูลงานต่างๆช้าไปอีกรอจนเลือกตั้งใหม่ โดนโยนลูกไปมากับหน่วยงานราชการที่ใกล้ชิดกัน สมประโยชน์ที่แก๊งประมูลรถไฟฟ้าโยงกับกลุ่มอำนาจเก่าต้องการ ซึ่งแก๊งนี้มีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงคมนาคม รฟท. รฟม. สคร. และ สศช. สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง"
กำลังโหลดความคิดเห็น