xs
xsm
sm
md
lg

เบรกเซ็นสัญญาซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน “อาคม” สั่งแจงครหาให้หมดก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” โยนบอร์ด ร.ฟ.ท.เร่งพิจารณาล้มไม่ล้มประมูลซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน ยันไม่ล้วงลูก ชี้เป็นอำนาจบอร์ด ย้ำต้องชี้แจงข้อสงสัยข้อท้วงติงให้หมด หากจะเดินหน้าต้องมั่นใจและรับผิดชอบไหว ด้าน “ประธานบอร์ด ร.ฟ.ท.” เร่งแจงคมนาคม เผยต้องฟังนโยบาย “คมนาคม-ครม.” หวั่นถูกฟ้องหากล้มประมูล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีมีข้อท้วงติงโครงการประกวดราคาซื้อ รถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) จำนวน 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ สำหรับใช้ในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ราคากลาง 4,413,108,000.00 บาทว่า ได้ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งพิจารณาตัดสินใจ โดยเมื่อมีผู้ท้วงติงเข้ามาจะต้องตอบคำถาม หากชี้แจงข้อสงสัย ถ้าชี้แจงได้ครบถ้วนก็เดินหน้าไปตามกระบวนการ ถ้าชี้แจงแล้วยังมีข้อสงสัย ทางบอร์ด ร.ฟ.ท.ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร หากจะเดินหน้าต่อจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

“ก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.ได้ยืนยันว่าดำเนินการประมูลตามขั้นตอน แต่ผมเห็นว่าเมื่อมีการท้วงติงมาก็ควรจะต้องชี้แจงให้ครบถ้วน ส่วนจะเดินหน้าหรือยกเลิกเป็นอำนาจบอร์ดพิจารณา รัฐมนตรีจะไม่ล้วงลูก หรือจะสั่งให้ยกเลิกคงไม่ได้ และยอมรับว่าหากยกเลิกก็จะยิ่งทำให้การจัดซื้อล่าช้าออกไปอีก แต่หากเดินหน้าบอร์ดก็ต้องดูว่าจะรับผิดชอบไหวหรือไม่หากยังมีข้อสงสัยอยู่” นายอาคมกล่าว

ดัานนายสราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ทางกระทรวงคมนาคมได้ให้ ร.ฟ.ท.ชี้แจงข้อท้วงติงการประมูลซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวนในประเด็นต่างๆ ซึ่งที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 58 ที่ผ่านมา ได้ให้ ร.ฟ.ท.ส่งหนังสือชี้แจงไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว จากนี้คงต้องรอฟังนโยบายเพื่อประกอบการตัดสินใจ และอาจจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย ซึ่งกรณีที่ต้องยกเลิกการประมูลครั้งนี้ ยอมรับว่าอาจถูกผู้ที่ได้รับคัดเลือกไว้แล้วฟ้องร้องได้

รายงานข่าวแจ้งว่า ร.ฟ.ท.เปิดประมูลซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวนเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2558 โดยมีบริษัทเอกชนเข้าซื้อซองประมูล 4 ราย ประกอบด้วย กิจการร่วมค้าชางชุน ซีอาร์ซีซี และ ริเวอร์ เอนจิเนียริง 2. บริษัท ซีเมนส์ 3. กิจการร่วมค้า HU และ 4. กิจการร่วมค้า ชางซี ซีเอชซีเเอล ปรากฏว่ามีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียง 1 ราย คือกลุ่มกิจการร่วมค้าฉางชุน ซี อาร์ซีซี และริเวอร์เอนจิเนีย โดยเสนอราคาตัวรถและอาณัติสัญญาณที่ 4,400 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 13 ล้านบาท ส่วนค่าสำรองอะไหล่อีก 10% ซึ่ง ร.ฟ.ท.ยืนยันความถูกต้องและเดินหน้าการเจรจาต่อรองต่างหาก กำหนดลงนามสัญญาได้ในปลายเดือน ธ.ค. 2558 ท่ามกลางข้อท้วงติงกรณีมีผู้ยื่นข้อเสนอประกวดราคาเพียง 1 ราย รวมถึงราคาแพงและเงื่อนไขที่เข้าข่ายล็อกสเปก
กำลังโหลดความคิดเห็น