ร.ฟ.ท.จ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์ความพร้อม ก่อนเสนอรูปแบบเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง และแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย “วุฒิชาติ” เผยอาจให้เอกชนร่วมทุน PPP แอร์พอร์ตลิงก์ 100% ทั้งก่อสร้างและเดินรถเพื่อลดภาระรัฐ ขณะที่ปี 59 ทุ่มอีก 200 ล้านบาทติดตั้งประตูกั้นชานชาลาแอร์พอร์ตลิงก์ 7 สถานี พร้อมเดินหน้าโอนรถ 9 ขบวนใน มี.ค. 59 ก่อนแยกอำนาจบริหาร
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้าร่วมดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ส่วนต่อขยายจากพญาไท-ดอนเมือง รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต ในรูปแบบการร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน หรือ PPP ซึ่งในส่วนของ ร.ฟ.ท.นั้นได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความพร้อมและแผนธุรกิจ ความสามารถของ ร.ฟ.ท.กรณีที่จะรับผิดชอบการเดินรถสายสีแดงเองเพื่อเสนอที่ประชุม คนร.ต่อไป โดยจะสรุปผลการศึกษาในเดือน ก.พ. 2559 จากนั้นจะเร่งเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. และกระทรวงคมนาคมก่อนเสนอ สคร.
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่รูปแบบการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยาย ดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร วงเงิน 31,139.35 ล้านบาท จะเป็นการร่วมทุนกับเอกชน PPP ทั้ง 100% คือร่วมทุนทั้งการก่อสร้างและจัดหาระบบ ตัวรถ และเดินรถ พร้อมซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เนื่องจากการก่อสร้างและลงทุนด้านระบบ ตัวรถ และการเดินรถจะใช้เงินลงทุนสูงมาก ขณะที่นโยบายรัฐต้องการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน PPP เพื่อลดภาระการลงทุนภาครัฐลง และลดการก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งต้องรอผลศึกษาว่าจะมีแนวทางอย่างไรบ้าง
ส่วนการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายนั้น อยากให้ทางคณะกรรมการและซีอีโอของ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) พิจารณาความพร้อมของตัวเอง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการถ่ายโอนทรัพย์สินและแยกอำนาจการบริหารระหว่าง ร.ฟ.ท. กับบริษัทแอร์พอร์ตลิงก์เพื่อความคล่องตัวมากขึ้น ทั้งนี้ แอร์พอร์ตลิงก์ต้องแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความพร้อมในการเดินรถส่วนต่อขยาย โดยนำเสนอมาที่ ร.ฟ.ท.ในฐานะบริษัทแม่ได้แต่วิธีการต่างๆ นั้น ร.ฟ.ท.จะไม่ไปก้าวล่วงทางแอร์พอร์ตลิงก์
ด้าน พลเอก ดรัณ ยุทธวงษ์สุข กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ การดำเนินงานอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐบาลและการรถไฟฯ ในฐานะบริษัทแม่ ซึ่งการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-ดอนเมือง หรือรถไฟสายสีแดง อยู่ที่รัฐบาลมอบหมาย ซึ่งบริษัทฯ พร้อมดำเนินการตาม แต่เมื่อยังไม่มีคำสั่งให้ทำอะไร บริษัทฯ จะทำหน้าที่ในส่วนของการรับจ้าง ร.ฟ.ท.ในการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ ซึ่งถือว่าบริษัทรับจ้างเดินรถถูกที่สุด ปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ทราบว่าจ้างเอกชนบริหารเดินรถปีละ 3,000 ล้านบาท
“เราเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลสั่งให้ทำอะไรก็ต้องทำตามนั้น ไม่สั่งจะไปทำหรือไปเสนอตัวคงไม่ได้ เราไม่ใช่บริษัทขายยา” พลเอก ดรัณกล่าว
***เร่งโอนรถ 9 ขบวนให้แอร์พอร์ตลิงก์ใน มี.ค. 59 เดินหน้าแยกบริหารเพื่อความคล่องตัว
แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า การแยกบริหาร บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ออกจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการร่วม ร.ฟ.ท. และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2558 กำหนดให้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ช่วง คือ 1. ถ่ายโอนทรัพย์สินที่เป็นขบวนรถไฟฟ้าจำนวน 9 ขบวนก่อน โดยให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 (สิ้นเดือน มี.ค. 2559) 2. ดำเนินการโอนส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน และงานระบบอื่นๆ โดยให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบภาระที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานตามมติ ครม.
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ได้เห็นชอบให้แอร์พอร์ตลิงก์ดำเนินการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาสูงครึ่งบาน (Half Height Platform Screen Doors รวมทั้งหมด 7 สถานี งบประมาณ 200 ล้านบาท ได้แก่ พญาไท, ราชปรารภ, มักกะสัน, รามคำแหง, หัวหมาก, บ้านทับช้าง, ลาดกระบัง โดยจะเริ่มประกวดราคาต้นเดือน ก.พ. 2559