xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.จ่อล้มประมูลซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน แก้ครหาล็อกสเปก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จ่อล้มประมูลซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน เผย “อาคม” สั่งทบทวนหวั่นมีปัญหา ด้านบอร์ด ร.ฟ.ท.สั่งทบทวนความเหมาะสม ชี้เป็นโครงการใหญ่แต่มียื่นข้อเสนอรายเดียวเท่านั้น คาดทำทีโออาร์เปิดประมูลใหม่ใน 60 วัน “วุฒิชาติ” เผยเตรียมสรุปรายละเอียดเสนอบอร์ด 29 ธ.ค.นี้ ยันการยกเลิกหรือเดินหน้าต่อเป็นอำนาจบอร์ด ยันเงื่อนไขเดิมเปิดประชาพิจารณาไม่มีการท้วงติง สเปกราคาได้มาตรฐาน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการประกวดราคาซื้อ รถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) จำนวน 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ สำหรับใช้ในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ราคากลาง 4,413,108,000.00 บาท ว่า หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้สรุปผลการประกวดราคา ซึ่งมีผู้ยื่นข้อเสนอประกวดราคาเพียง 1 ราย ในขณะที่มีการท้วงติง ร้องเรียนด้วยนั้น ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เห็นว่า ร.ฟ.ท.ควรพิจารณาทบทวนการประกวดราคาอีกครั้ง และทราบว่าทางบอร์ด ร.ฟ.ท.ให้เปิดประกวดราคาใหม่เพื่อความเหมาะสม

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. ที่มีนายสราวุธ เบญจกุล เป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ได้มีการพิจารณาการประกวดราคาซื้อรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยมีมติให้ทบทวนความเหมาะสม และนำเสนอที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ โดยบอร์ดเห็นว่าเป็นโครงการใหญ่ ในขณะที่มีผู้ยื่นข้อเสนอประกวดราคาเพียง 1 ราย และยังมีการท้วงติงในประเด็นต่างๆ อีกด้วย จึงอยากให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ กรณีจะยกเลิกจะต้องพิจารณาในส่วนที่ผู้ยื่นข้อเสนอและได้รับคัดเลือกแล้วฟ้องร้องด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) และการกำหนดคุณสมบัติต่างๆซึ่งได้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าล็อกสเปกนั้น ขอชี้แจงว่า ในการประกวดราคาที่ผ่านมาได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบแบบเปิดกว้าง ซึ่งผู้ซื้อเอกสารประกวดราคาทั้งหมดไม่มีการท้วงติงหรือโต้แย้งแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากต้องเปิดประมูลใหม่จะประชุมกับบริษัทที่ปรึกษาเพื่อกำหนดรายละเอียดทีโออาร์ต่อไป และคาดว่าจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

รายงานข่าวแจ้งว่า ร.ฟ.ท.ได้เปิดประมูลจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน รวม 28 คัน วงเงินกว่า 4,413 ล้านบาท (ไม่รวมค่าอะไหล่ 10%) เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2558 โดยมีบริษัทเอกชนเข้าซื้อซองประมูล 4 ราย ประกอบด้วย กิจการร่วมค้าชางชุน ซีอาร์ซีซี และ ริเวอร์ เอนจิเนียริง 2. บริษัท ซีเมนส์ 3. กิจการร่วมค้า HU และ 4. กิจการร่วมค้า ชางซี ซีเอชซีเเอล โดยปรากฏว่ามีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียง 1 ราย คือกลุ่มกิจการร่วมค้าชางชุน ซีอาร์ซีซี และริเวอร์ เอนจิเนียริง โดยเสนอราคาตัวรถและอาณัติสัญญาณที่ 4,400 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 13 ล้านบาท ส่วนค่าสำรองอะไหล่อีก 10% ซึ่งจะมีการเจรจาต่อรองต่างหาก ซึ่งตามแผนเดิม ร.ฟ.ท.จะส่งเรื่อง ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พิจารณาแหล่งเงินได้ในเดือน ต.ค. 2558 และลงนามสัญญาได้ในปลายเดือน ธ.ค. 58 และกำหนดส่งมอบครบในปี 61 มีระยะเวลารับประกัน 2 ปี ช่วยเพิ่มขีดความสามารถรองรับ ซึ่งประมาณการผู้โดยสารในปี 61 จะมีถึง 1.2 แสนคนต่อวัน

นอกจากนี้ โครงการยังถูกนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ท้วงติงว่าราคาแพงและล็อกสเปกในหลายประเด็น เช่น เรื่องพื้นที่ยืน ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้เคยชี้แจงแล้วว่าทีโออาร์กำหนด 6 คนต่อตารางเมตร ส่วนน้ำหนักกดเพลาไม่เกิน 10 คนต่อตารางเมตร ไม่ได้กำหนดพื้นที่ยืนว่า 10 คนต่อตารางเมตร ประเด็นระบบขับเคลื่อนด้วยชุดมอเตอร์ไฟฟ้า 1ขบวน (4 ตู้) จะมี 2 ชุด (หน้า, หลัง) เพื่อป้องกันการจอดตายกลางทาง และไม่ได้กำหนดว่าต้องมีความเร็ว 160 กม./ชม. เท่าเดิม ประเด็นที่ ราคาแพงโดยเปรียบเทียบกับรถของมาเลเซีย เนื่องจากรถแอร์พอร์ตลิงก์มีสเปกสูงกว่าทั้งความเร็วและมีระบบสิ่งอำนวยความสะดวกภายในตัวรถ เช่น อาณัติสัญญาณ, CCTV , ไวไฟ, ระบบเตือนผู้โดยสาร, ทีวีในตัวรถ เป็นต้น

ส่วนมาเลเซียซื้อแต่ตัวรถเปล่าๆ อีกทั้งรถ 7 ขบวน (28 ตู้) เฉลี่ยอยู่ที่ 135 ล้านบาทต่อตู้ ขณะที่รถเดิม 9 ขบวนแรก (31 ตู้) ที่จัดซื้อเดือน ม.ค. 48 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 149 ล้านบาทต่อตู้
กำลังโหลดความคิดเห็น