ร.ฟ.ท.ขยายเวลาประกาศผลคุณสมบัติประมูลหัวจักร 50 คันกว่า 6.1 พันล้านอีก 10 วัน ระบุมีบางประเด็นยังไม่ชัดเจน จับตา ร.ฟ.ท.กล้าล้มประมูลหรือไม่ เหตุมีกลุ่มจีน “กิจการร่วมค้า คิวเอส” ยื่นประมูลรายเดียว หากดันทุรังใช้วิธีเจรจาส่อถูกครหาล็อกสเปกใช้วิธีพิเศษ และถูก คตร.เบรกเหมือนจัดซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จากที่ ร.ฟ.ท.ได้เปิดให้ผู้สนใจยื่นซองเอกสารประกวดราคาซื้อ รถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักเพลา 16 ตัน/เพลา จำนวน 50 คัน ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ราคากลาง 6,151 ล้านบาท ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ยื่นซอง 1 ราย จากที่ซื้อซอง 14 ราย คือ กิจการร่วมค้า คิวเอส ประกอบด้วย บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซิซูเอียน จำกัด และ บริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยคณะกรรมการประกวดราคาฯ จะตรวจสอบเอกสารว่ามีคุณสมบัติ และข้อเสนอถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ และจะประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติในวันที่ 29 ก.พ. 59 นั้น ล่าสุดมีความจำเป็นต้องขยายเวลาออกไปอีก 10 วัน โดยจะประกาศผลวันที่ 10 มี.ค. 59
ซึ่งได้เสนอให้นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.เห็นชอบแล้ว โดยสาเหตุที่ขยายเวลาออกไปเนื่องจากคณะกรรมการฯ เห็นว่ายังมีบางเรื่องที่ไม่ชัดเจน และถือเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อการพิจารณาด้วย ซึ่งหลักในการพิจารณาแยกเป็น 2 ขั้นตอน คือ 1. พิจารณาคุณสมบัติทั่วไปและด้านเทคนิคว่าถูกต้องตามทีโออาร์หรือไม่ 2.
กรณีไม่ถูกต้องตามทีโออาร์ จะประกาศผลพร้อมเหตุผลประกอบ เพื่อไม่ให้มีปัญหาฟ้องร้อง แล้วจึงออกประกวดราคาใหม่ แต่หากคุณสมบัติถูกต้องจะประกาศผลว่ามีสิทธิ์เคาะราคา
ทั้งนี้ เนื่องจากมีผู้แข่งขันราคาเพียงรายเดียว กรณีที่ผ่านคุณสมบัติ ซึ่งตามระเบียบอี-ออกชันเดิมสามารถยกเลิกได้ แต่เปิดทางกรณีจะไม่ยกเลิก หน่วยงานต้องมีเหตุผลความจำเป็นเพียงพอ ซึ่งคณะกรรมการจะต้องสอบถาม ร.ฟ.ท.ถึงผลกระทบกรณียกเลิกประมูลเพื่อประกอบการพิจารณา คือไม่ว่าจะเลือกแนวทางใดจะต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าว นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก มีความพยายามที่จะผลักดันให้เดินหน้าเจรจาต่อรองกับบริษัทที่ยื่นซองเพียงรายเดียวโดยไม่มีการแข่งขันราคา นับเป็นการประมูลโดยวิธีพิเศษ และอาจไม่ได้หัวรถจักรที่มีคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม รมว.คมนาคมควรตรวจสอบว่ามีการล็อกสเปกหรือไม่ เกรงจะเหมือนกับการจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 7 ขบวน ราคา 4,413.1 ล้านบาท ที่มีผู้ยื่นประมูลรายเดียว แต่ถูกท้วงติงว่ามีการล็อกสเปก และอยู่ระหว่างชี้แจงคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)