“คตร.” สั่งล้มประมูลซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน วงเงินกว่า 4.4 พันล้าน พร้อมให้ ร.ฟ.ท.ปรับแก้สเปกทีโออาร์ ปลดล็อกระบบอาณัติสัญญาณ เปิดกว้างเพื่อรองรับการเชื่อมต่อเส้นทางต่อขยายในอนาคต “วุฒิชาติ” เตรียมชงบอร์ด 29 เม.ย. เดินหน้าเปิดประมูลใหม่ใน 6 เดือน
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้มีมติให้ยกเลิกการประกวดราคาโครงการจัดซื้อรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) จำนวน 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ สำหรับใช้ในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ต เรลลิงก์) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ราคากลาง 4,413,108,000.00 บาท หลังจากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีผู้ยื่นประกวดราคาเพียงรายเดียว และมีข้อครหาเรื่องการล็อคสเปก ซึ่ง คตร.ให้ ร.ฟ.ท.ปรับแก้ร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ในการกำหนดสเปกระบบอาณัติสัญญาณ โดยให้เปิดกว้างมากขึ้นเพื่อให้สามารถรองรับการต่อขยายสายทางในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ คตร.และ ร.ฟ.ท.มีความเห็นตรงกันว่า ขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์มีความจำเป็นอย่างมากต่อการให้บริการ ต้องเปิดประกวดราคาใหม่ทันที ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะจัดทำแผนรายละเอียดการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ใหม่โดยปรับแก้ทีโออาร์ตามความเห็น คตร. และนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ที่มีนายสราวุธ เบญจกุล เป็นประธานในการประชุมวันที่ 29 เม.ย.นี้ โดยหลังจากบอร์ดอนุมัติจะใช้เวลาในการเปิดประกวดราคาใหม่ภายใน 6 เดือน
“ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ผมและประธานบอร์ด ร.ฟ.ท.ได้เข้าชี้แจงต่อ คตร.ด้วยกัน และรับทราบความเห็นของ คตร. และข้อเสนอแนะในประเด็นเรื่องการกำหนดเสปกระบบ ที่อาจจะแิดกั้นมากเกินไป ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาการเชื่อมต่อสายทางใหม่ในอนาคต” นายวุฒิชาติกล่าว
ส่วนกรณีกิจการร่วมค้าชางชุน ซีอาร์ซีซี และริเวอร์ เอ็นจิเนียริง จากประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ยื่นเสนอราคา จะฟ้องร้องกรณียกเลิกประกวดราคาครั้งนี้ ถือเป็นสิทธิที่เอกชนสามารถทำได้
รายงานข่าวแจ้งว่า ร.ฟ.ท.ได้เปิดประมูลจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวนรวม 28 คัน วงเงินกว่า 4,413 ล้านบาท (ไม่รวมค่าอะไหล่ 10%) เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2558 โดยมีบริษัทเอกชนเข้าซื้อซองประมูล 4 ราย ประกอบด้วย กิจการร่วมค้าชางชุน ซีอาร์ซีซี และ ริเวอร์ เอนจิเนียริง 2. บริษัท ซีเมนส์ 3. กิจการร่วมค้า HU และ 4. กิจการร่วมค้า ชางซี ซีเอชซีเเอล โดยปรากฏว่ามีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียง 1 ราย คือกลุ่มกิจการร่วมค้าฉางชุน ซีอาร์ซีซี และริเวอร์เอนจิเนีย โดยเสนอราคาตัวรถและอาณัติสัญญาที่ 4,400 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 13 ล้านบาท ส่วนค่าสำรองอะไหล่อีก 10% ซึ่งจะมีการเจรจาต่อรองต่างหาก ซึ่งตามแผนเดิม ร.ฟ.ท.จะส่งเรื่องให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พิจารณาแหล่งเงินได้ในเดือน ต.ค. 2558 และลงนามสัญญาได้ในปลายเดือน ธ.ค. 2558 และกำหนดส่งมอบครบในปี 2561 มีระยะเวลารับประกัน 2 ปี ช่วยเพิ่มขีดความสามารถรองรับ ซึ่งประมาณการณ์ผู้โดยสารในปี 2561 จะมีถึง 1.2 แสนคนต่อวัน
นอกจากนี้ โครงการยังถูกนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ท้วงติงว่าราคาแพงและล็อกสเปก ในหลายประเด็นเช่น เรื่องพื้นที่ยืน ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้เคยชี้แจงแล้วว่าทีโออาร์กำหนด 6 คนต่อตารางเมตรส่วนน้ำหนักกดเพลาไม่เกิน 10 คนต่อตารางเมตร ไม่ได้กำหนดพื้นที่ยืนว่า 10 คนต่อตารางเมตร ประเด็น ระบบขับเคลื่อนด้วยชุดมอเตอร์ไฟฟ้า 1 ขบวน (4 ตู้) จะมี 2 ชุด (หน้า, หลัง) เพื่อป้องกันการจอดตายกลางทาง และไม่ได้กำหนดว่าต้องมีความเร็ว 160 กม./ชม.เท่าเดิม ประเด็นที่ราคาแพงโดยเปรียบเทียบกับรถของมาเลเซีย เนื่องจากรถแอร์พอร์ตลิงก์มีเสปคสูงกว่าทั้งความเร็วและมีระบบสิ่งอำนวยความสะดวกภายในตัวรถ เช่น อาณัติสัญญาณ, CCTV, ไว-ไฟ, ระบบเตือนผู้โดยสาร, ทีวีในตัวรถ เป็นต้น
ส่วนมาเลเซียซื้อแต่ตัวรถเปล่าๆ อีกทั้งรถ 7 ขบวน (28 ตู้) เฉลี่ยอยู่ที่ 135 ล้านบาทต่อตู้ ขณะที่รถเดิม 9 ขบวนแรก (31 ตู้) ที่จัดซื้อ เดือน ม.ค. 2548 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 149 ล้านบาทต่อตู้