xs
xsm
sm
md
lg

จ่อยุบ บ.แอร์พอร์ตลิงก์ ตั้งบริษัทร่วมทุนเอกชนแทน ส่วนสีแดง ร.ฟ.ท.ขอเดินรถเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม-ร.ฟ.ท.” ประสานเสียง ยันเดินรถสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) เอง เตรียมแจงเหตุผล “คนร.” 18 ม.ค.นี้ เล็ง เปิดร่วมทุนเอกชน ( PPP) ส่วนต่อขยายไปอยุธยา, ฉะเชิงเทรา, นครปฐม ขณะที่จ่อยุบ บ.รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. เพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนเอกชนเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์แทน เหตุเป็นรัฐวิสาหกิจไม่คล่องตัว

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) วันที่ 14 ม.ค. ว่า ได้หารือถึงประเด็นโครงการก่อสร้างและการเดินรถไฟสายสีแดงและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รูปแบบการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ที่ต้องชี้แจงต่อที่ประชุม คนร.ในวันที่ 18 ม.ค.นี้

โดยเรื่องการเดินรถสายสีแดงนั้น ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้พิจารณาวงเงินการประมูล สัญญา 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติจากกรอบวงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท เป็น 32,339 ล้านบาท

ดังนั้น หากทำการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ในการเดินรถสายสีแดง การดำเนินการในส่วนนี้จะต้องหยุดชะงักและล่าช้าออกไปเนื่องจากการคัดเลือกเอกชนมาเดินรถ PPP จะใช้เวลาอย่างน้อย 9 เดือน เกรงว่าเมื่องานโยธาเสร็จจะไม่มีรถวิ่งเนื่องจากยังหาผู้ร่วมทุนไม่ได้ โดย ร.ฟ.ท.ยืนยันว่ารถไฟสายสีแดงใช้เงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) ลงทุนก่อสร้าง และจัดหาระบบ ตัวรถไฟฟ้าแล้ว หากให้เอกชนเข้ามาร่วมจะเป็นเพียงการบริหารจัดการเท่านั้นซึ่งไม่มีความจำเป็น และ ร.ฟ.ท.มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะบริหารการเดินรถสายสีแดง แต่หาก คนร.ยังไม่แน่ใจในความสามารถของ ร.ฟ.ท.จะขอประเมินผลการบริหารงานช่วงเวลา 5 ปี หากทำแล้วไม่ดีจะเปิดให้เอกชนมาร่วมบริหารจัดการได้

***จ่อยุบ บ.แอร์พอร์ตลิงค์ เตรียมแผนตั้งบริษัทร่วมทุนเอกชน ชี้คล่องตัวกว่า

นายออมสินกล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมจะเร่งนำเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท พร้อมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ในช่วงพญาไท-บางซื่อ วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาทโดยอยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ, สภาพัฒน์, สบน. ซึ่งในสัปดาห์หน้าตนจะเชิญหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ มาร่วมหารือ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจรายละเอียดแต่ละโครงการก่อนนำเสนอ ครม. ทั้งประเด็นการก่อสร้าง และการเดินรถ

ส่วนประเด็นการให้เอกชนเข้ามาร่วมเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์นั้น เรื่องนี้ ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน จะสรุปผลศึกษาใน 3 เดือนหรือไม่เกินสิ้นเดือน มี.ค. 59 ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งบริษัทใหม่ โดยร่วมทุนกับเอกชนเพื่อเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ดอนเมือง,สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ส่วนโครงการที่รัฐลงทุนไปแล้ว เช่น ช่วงพญาไท-บางซื่อ หรือ พญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ จะแปรทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทุนในบริษัท

ส่วน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (ร.ฟ.ท.) นั้น หากมีบริษัทร่วมทุนกับเอกชนแล้ว หลักต้องยุบ ร.ฟ.ท. แต่รัฐจะต้องหาแนวทางในการดูแลพนักงาน เช่น ถ่ายโอนไปบริษัทใหม่พร้อมกับทรัพย์สิน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายคือต้องการให้การบริหารเดินรถมีความคล่องตัวมากขึ้น จากปัจจุบันที่ ร.ฟ.ท.มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจจึงไม่คล่องตัว

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า รถไฟฯ ไม่ได้ปฏิเสธเรื่อง PPP แต่สำหรับสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีการลงทุนไปแล้ว ดังนั้น จะเสนอ คนร.เพื่อขอเดินตามขั้นตอนและรูปแบบเดิม ส่วนการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) นั้นสามารถนำมาใช้ในรถไฟสายสีแดง ยังมีส่วนต่อขยายที่มีแผนด้านเหนือจากดอนเมือง-รังสิต-อยุธยา-บ้านภาชี, ด้านตะวันออก ช่วงมักกะสัน-ฉะเชิงเทรา, ด้านใต้ ช่วงศาลายา-นครปฐม ซึ่งจะใช้เงินลงทุนก่อสร้างจำนวนมากได้

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาเรื่อง PPP เรื่องการเดินรถและครอบคลุมไปถึงเรื่องการพัฒนาบริหารพื้นที่ต่างๆ ด้วยเป็นภาพรวม เพื่อสร้างรายได้จากทุกส่วน โดย ร.ฟ.ท.จะตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำหน้าที่เดินรถสายสีแดง
กำลังโหลดความคิดเห็น