xs
xsm
sm
md
lg

สคร.เร่ง “คมนาคม” แจงแผนเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยายและความเร็วสูง 2 สายส่อแววล่าช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สคร.” หารือ “คมนาคม” เร่งรัดแผนเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย และรถไฟความเร็วสูง 2 สาย มอบ ร.ฟ.ท.สรุปข้อมูลเปรียบข้อดี ต้นทุนกรณีขอเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์เอง ขณะที่ผู้ว่าฯ การรถไฟฯ เผยเตรียมเซ็นจ้างที่ปรึกษาทบทวนโครงการความเร็วสูง 2 สาย “กทม.-ระยอง, กทม.-หัวหิน” เดือน ม.ค. 59

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ว่า สคร.ได้มาติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟสายสีแดง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และรถไฟความเร็วสูง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ตามมติคณะกรรมการ PPP ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัด ร.ฟ.ท.สรุปรายละเอียดในแต่ละโครงการ เช่น การเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการ PPP มีมติให้เอนเข้ามาร่วมเดินรถ (พญาไท-ดอนเมือง) ซึ่งในส่วนนี้ ร.ฟ.ท. ต้องรายงานสรุปข้อมูล ข้อเท็จจริงการดำเนินงานของแอร์พอร์ตลิงก์ที่ผ่านมา และความพร้อมหากจะเดินรถในส่วนต่อขยายเอง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับเปรียบเทียบ ซึ่งให้ร.ฟ.ท.ส่งแผนงานในสิ้นปีนี้ จากนั้นจะสรุปนำเสนอต่อ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อไป

“กรณีเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายมีประเด็นต้องพิจารณา เช่น การเดินรถจะต้องมีความเชื่อมต่อหรือไม่ กรณีให้เอกชนเดินรถส่วนต่อขยายจะเป็นอย่างไร หากจะให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เดินรถส่วนต่อขยายจะต้องบอกได้ว่าดีกว่าเอกชนอย่างไร มีต้นทุนต่ำกว่าเอกชนเท่าไร ร.ฟ.ท.ต้องทำข้อมูลเข้ามา พร้อมแผนความพร้อมในการเดินรถ เช่น แผนการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เป็นต้น ซึ่งขณะนี้บอร์ด ร.ฟ.ท.ได้ให้อำนาจแอร์พอร์ตลิงก์ในการจัดซื้อจัดจ้างเองแล้วเพื่อความคล่องตัว”

พร้อมกันนี้ ทาง สคร.ได้สอบถามถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้ชี้แจงว่าอยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนผลการศีกษาเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 24 ในหัวข้อและรายละเอียดของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยจะว่าจ้างได้ในเดือน ม.ค. 2559 และจะใช้เวลาทบทวนผลการศึกษา 4-5 เดือน ซึ่งได้เร่งรัดให้เร็วกว่านี้ เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงอยู่ในแผน 20 โครงการลงทุนเร่งด่วนคมนาคม และไม่ได้บรรจุในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ PPP fast track จึงเกรงว่าจะล่าช้า

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างคัดเลือกที่ปรึกษาทำการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 94,673 ล้านบาท และรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 155,774 ล้านบาท โดยจะสรุปผลคัดเลือกวันที่ 25 ธ.ค.นี้ จากนั้นจะเจรจาต่อรองวงเงินว่าจ้างศึกษา ซึ่งประมาณการไว้ไม่เกินโครงการละ 10 ล้านบาท และคาดว่าจะลงนามในสัญญาจัดจ้างในเดือน ม.ค. 2559 และจะเร่งรัด โดยใช้เวลาศึกษาประมาณ 45 วัน เนื่องจากมีข้อมูลจากผลศึกษาเดิมอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น