xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.เคลียร์ข้อครหาซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ ยันไม่แพง-ไม่ล็อกสเปก จ่อเซ็นสัญญาจีน ธ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม-ร.ฟ.ท.” ลั่นเดินหน้าซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน ตอกกลับ “สามารถ” กล่าวหาแพง ล็อกสเปก ไม่จริง ชี้สเปกสูงกว่ารถมาเลเซีย แถมราคาซื้อครั้งนี้ถูกกว่าซื้อล็อตเก่า 9 ขบวนถึงตู้ละ 14 ล้านบาท ด้าน “อาคม” เร่งแยกการบริหาร ลั่นเสร็จกลางปี 59 เพิ่มความคล่องตัว

วันนี้ (7 ต.ค.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ซ่อมบำรุง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าและการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ โดยนายอาคมเปิดเผยว่า ได้รับทราบการประกวดราคาซื้อรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) จำนวน 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ สำหรับใช้ในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ราคากลาง 4,413,108,000.00 บาท ซึ่งขณะนี้ได้ข้อสรุปราคาตัวรถและระบบอาณัติสัญญาณแล้ว เหลือการเจรจาส่วนของค่าอะไหล่สำรองอีก 10%

ปัจจุบันขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 9 ขบวน ให้บริการได้ 7 ขบวน โดยอีก 2 ขบวนอยู่ระหว่างรออะไหล่ซ่อมบำรุง คาดว่าจะเสร็จในเดือน เม.ย. 2559 ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากเฉลี่ย 6 หมื่นคนต่อวัน รถที่มีไม่เพียงพอในการให้บริการ ต้องเร่งรัดการจัดซื้อรถใหม่ 7 ขบวน นอกจากนี้จะเร่งรัดการซ่อมบำรุงหนัก (Overhaul) รถ 9 ขบวนเดิม ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

***แยกบริหารแอร์พอร์ตลิงก์เสร็จในกลางปี 59

ส่วนการแยกบริหาร บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ออกจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำหนดแล้วเสร็จภายในกลางปี 2559 เพื่อความคล่องตัวในการบริหาร โดย ร.ฟ.ท.ยังคงถือหุ้น 100% จากปัจจุบัน ร.ฟ.ท.จะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายแต่ละปีและจัดเก็บรายได้ไปดูแล แต่อนาคตหลังแยกการบริหาร ระบบงบประมาณรายได้รายจ่าย การจัดซื้อจัดจ้าง ทางแอร์พอร์ตลิงก์จะดำเนินการเอง และทำให้สามารถตรวจสอบศักยภาพในการบริหารของแอร์พอร์ตลิงก์ได้ชัดเจน และทำให้ทราบต้นทุนในการเดินรถอีกด้วย

โดยขณะนี้ทรัพย์สินของแอร์พอร์ตลิงก์มีประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท จะพิจารณาวิธีการโอน ร่วมกับหนี้สิน และรายได้รายจ่ายที่มี โดยคำนึงว่าแอร์พอร์ตลิงก์จะต้องอยู่ได้ ซึ่งอาจจะต้องทยอยการโอน ซี่งปี 2559 ร.ฟ.ท.ได้มอบอำนาจให้แอร์พอร์ตลิงก์ดำเนินการในเรื่องจัดซื้อจ้ดจ้างเองแล้ว

นอกจากนี้ เน้นการปรับปรุงตามโครงการ “Smile Station” และการปรับปรุงองค์ความรู้ด้านระบบรางเพื่อสร้างบุคลากรให้เข้มแข็ง ซึ่งแอร์พอร์ตลิงก์ทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชนในเมืองและระหว่างเมืองได้ด้วย เนื่องจากระบบมีความเร็วที่ 160 กม./ชม. โดยจะมีการต่อขยายเส้นทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ-ระยอง ต้นทุนการเดินรถไฟฟ้าจะเป็นต้นทุนของรัฐในการคัดเลือกเอกชนเข้ามาเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางอื่นๆ ได้

*** ยันสเปกสูงกว่ารถมาเลเซีย แถมราคาถูกกว่าซื้อล็อตแรก 9 ขบวนถึง 14 ล้าน

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า หลังมีข้อท้วงติงได้มีการชี้แจงแล้ว โดยขณะนี้ได้เจรจากับผู้เสนอราคา คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า ชางชุน ซีอาร์ซีซี และ ริเวอร์ เอนจิเนียริง และสรุปราคาตัวรถและอาณัติสัญญาณที่ 4,400 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 13 ล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาในส่วนของค่าสำรองอะไหล่ คาดว่าจะส่งเรื่องไปสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในเดือน ต.ค.นี้เพื่อพิจารณาแหล่งเงิน และจะลงนามสัญญาได้ในปลายเดือน ธ.ค. 58 และใช้เวลาส่งมอบรถ 24 เดือน คาดรถทั้ง 7 ขบวนจะส่งมอบครบในปี 61 ระยะเวลารับประกัน 2 ปี เพิ่มขีดความสามารถรองรับ ซึ่งประมาณการผู้โดยสารในปี 61 จะมีถึง 1.2 แสนคนต่อวัน

ทั้งนี้ ครม.อนุมัติโครงการเมื่อปี 56 วงเงินรวมกว่า 4,800 ล้านบาท แยกเป็นตัวรถและอาณัติสัญญาณประมาณ 4,400 ล้านบาท และค่าสำรองอะไหล่อีก 10% เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยในรถ 9 ขบวนแรกที่ไม่ได้เตรียมสำรองอะไหล่ไว้ ส่วนกรณีที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ท้วงติงว่าราคาแพงและล็อกสเปกนั้น ประเด็นที่ 1 พื้นที่ยืน ทีโออาร์กำหนด 6 คนต่อตารางเมตร ส่วนน้ำหนักกดเพลาไม่เกิน 10 คนต่อตารางเมตร ไม่ได้กำหนดพื้นที่ยืนว่า 10 คนต่อตารางเมตร ประเด็นที่ 2 ระบบขับเคลื่อนด้วยชุดมอเตอร์ไฟฟ้า 1 ขบวน (4 ตู้) จะมี 2 ชุด (หน้า, หลัง) เพื่อป้องกันการจอดตายกลางทาง โดยเมื่อมอเตอร์ชุดใดเสียอีกชุดจะต้องทำงานขับเคลื่อนได้ ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีความเร็ว 160 กม./ชม.เท่าเดิม และประเด็นที่ 3 ราคาแพงโดยเปรียบเทียบกับรถของมาเลเซีย เนื่องจากรถแอร์พอร์ตลิงก์มีสเปกที่สูงกว่า ทั้งความเร็ว และมีระบบสิ่งอำนวยความสะดวกภายในตัวรถ เช่น อาณัติสัญญาณ, CCTV, ไวไฟ, ระบบเตือนผู้โดยสาร,ทีวีในตัวรถ เป็นต้น ส่วนมาเลเซียซื้อแต่ตัวรถเปล่าๆ

ซึ่งในการจัดซื้อรถและกำหนดราคากลางนั้น ได้สอบถามไปยังผู้ผลิตต่างๆ และนำมาหาค่าเฉลี่ยที่เหมาะสม ซึ่งการจัดซื้อรถ 7 ขบวนนี้ใช้สเปกเดียวกับรถ 9 ขบวนแรก (31 ตู้) ที่มีการจัดซื้อเมื่อเดือน ม.ค. 48 โดยมีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและออกแบบให้ทันสมัยขึ้น โดยราคารถ 9 ขบวนแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 149 ล้านบาทต่อตู้ ส่วนรถ 7 ขบวน (28 ตู้) เฉลี่ยอยู่ที่ 135 ล้านบาทต่อตู้

“ร.ฟ.ท.จ้างที่ปรึกษาจากเยอรมนีกำหนดสเปกทีโออาร์ ซึ่งรถใหม่ 7 ขบวนจะต้องมีระบบอาณัติสัญญาณเชื่อมกับระบบเก่าได้ และมีเอกชนซื้อซอง 4 ราย มีการเชิญมาสอบถามข้อสงสัยต่างๆ ไม่มีการพูดถึงประเด็นล็อกสเปก และราคาแพงเลย”
กำลังโหลดความคิดเห็น