xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.เปิดรับฟังความเห็นแอร์พอร์ตลิงค์ ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ 24 พ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจเร รุ่งฐานีย วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ส่วนต่อขยายช่วงดอนเมือง-บางซื่อ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ที่ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท พีบี เอเชีย จำกัด บริษัท เอ21 คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด เพื่อทบทวนแบบรายละเอียดและจัดทำเอกสารประกวดราคา

ทั้งนี้การทบทวนการออกแบบของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ได้จำแนกออกเป็น 3 โครงการดังนี้ 1.โครงการระบบรถไฟสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.65 กิโลเมตร 2.โครงการระบบรถไฟชานเมือง ร่วมกับรถไฟทางไกล เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ช่วงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-สถานีชุมทางบ้านภาชี ระยะทางประมาณ 51 กิโลเมตร และ 3.โครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(Airport Rail Link) ส่วนต่อขยายช่วงดอนเมือง-บางซื่อ ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร

“ร.ฟ.ท.กำหนดเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 นี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดของโครงการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมให้รับทราบข้อมูลกันอย่างทั่วถึง เนื่องจากขณะนี้ได้มีการปรับแบบก่อสร้างบางส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับการเดินรถไฟประเภทต่างๆ จึงต้องมีการทบทวนแบบรายละเอียด การวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ ประมาณราคาก่อสร้าง จัดทำเอกสารประกวดราคาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)เพิ่มเติม แม้ว่าจะได้รับอนุมัติตั้งแต่ปี 2555 แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากมีการปรับแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วน และเพื่อที่จะได้นำเอกสารดังกล่าวไปดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างและก่อสร้างโครงการต่อไป”

เบื้องต้นนั้นมี 2 สถานีที่จะใช้ร่วมกับรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้มคือ สถานีบางเขนและหลักสี่ ใช้ขนาดราง 1.435 เมตร เมื่อนับระยะทางจากพญาไท-ดอนเมืองจะมีระยะทาง 22 กิโลเมตร โดย ร.ฟ.ท. มีแผนเตรียมก่อสร้างช่วงพญาไท-บางซื่อก่อน ส่วนช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นเพราะมีการปรับปรุงแบบให้สอดคล้องกับรถไฟระบบอื่นๆด้วย

สำหรับแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 2.2 หมื่นล้านบาท มีความต้องการให้สามารถก่อสร้างไปพร้อมกับโครงการรถไฟสายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-รังสิตโดยมีขบวนรถให้บริการ 2 ประเภท ได้แก่ ขบวนรถธรรมดา(ซิตี้ไลน์) 7-10 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 2.5 พันคน/ขบวน และขบวนรถด่วนเอ็กซ์เพรสไลน์ รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 500 คนต่อขบวน ใช้ความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น