ครม.อนุมัติเพิ่มกรอบลงทุนรถไฟสายสีแดง สัญญา 3 (งานวางราง และระบบรถไฟฟ้า) อีก 6.7 พันล้าน โดยปรับเพิ่มจาก 2.56 หมื่นล้าน เป็น 3.23 หมื่นล้าน และปรับกรอบลงทุนรวม จาก 7.55 หมื่นล้านเป็น 9.39 หมื่นล้าน พร้อมให้คลังหาเงินกู้ในประเทศกว่า 5.8 พันล้านเพิ่มเติม ร.ฟ.ท.คาดเซ็นสัญญากับกลุ่มมิตซูบิชิฯ ได้ใน 2-3 สัปดาห์ ยันเดินรถเองเปิดบริการปี 62
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ก.พ. มีมติเห็นชอบปรับกรอบวงเงินลงทุนโครงการรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต จากวงเงิน 75,548 ล้านบาท เป็น 93,950.58 ล้านบาท โดยปรับกรอบงานสัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) เพิ่มจาก 25,656.57 ล้านบาท เป็น 32,399.99 ล้านบาท ตามผลการเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคา พร้อมกับเห็นชอบให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ภายในประเทศเพิ่มเติมสำหรับ งานสัญญา 3 วงเงิน 5,857.29 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขแหล่งเงินสัญญา 3 จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เป็นเงินเยน 91% แหล่งเงินในประเทศ (เงินบาท) 9%
ทั้งนี้ ทางสำนักงบประมาณได้มีข้อสังเกตกรณีการปรับกรอบวงเงินสัญญา 3 จำนวน 473 ล้านบาท น่าจะเจรจาต่อรองลงได้ ซึ่งเรื่องนี้หากการถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินการได้ข้อสรุปอย่างไรให้แจ้งไปยังสำนักงบประมาณ โดยตรงไม่มีผลต่อการลงนามสัญญา 3 เนื่องจากเป็นการเพิ่มงบเพื่อรองรับการปรับแบบที่มีการเพิ่มTrack ของโครงการ เช่นเดียวกับสัญญาที่ 1 และ 2 ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการ ร.ฟ.ท.ให้เร่งรัดการลงนามเพื่อเริ่มงานเนื่องจากสัญญา 3 จะใช้เวลาอีก 48 เดือน (4 ปี) ในการทำงานวางราง,ระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม, ระบบไฟฟ้ากำลังรวมทั้งงานระบบรถไฟฟ้า ขณะที่การก่อสร้างงานโยธา สัญญาที่ 1 (งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมภาพรวมบำรุง) ขณะนี้คืบหน้า 40% ส่วนสัญญาที่ 2 (งานก่อสร้างทาง) คืบหน้า 57% โดยเป้าหมายจะเปิดเดินรถในปี 2562
ส่วนการเดินรถสายสีแดงนั้น ได้ชี้แจง ครม.ว่า ร.ฟ.ท.ยืนยันจะเป็นผู้เดินรถเอง เนื่องจากได้ลงทุนการก่อสร้างและจัดหาระบบแล้ว โดยหาก 3-5 ปี การเดินรถไม่ประสบความสำเร็จ ร.ฟ.ท.พร้อมจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมเดินรถ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อจัดทำแผนเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ต่อไป
“ยอมรับว่ารถไฟสายสีแดงล่าช้า โดยงานสัญญา 3 รถไฟสายสีแดง ใช้เวลานานมากเพราะเริ่มโครงการตั้งแต่เดือน ก.ย. 2553 เปิดให้ยื่นซองประมูลเดือน ก.พ. 2554 กว่าจะได้ข้อสรุป ปี 2558 ส่วนสัญญา 1 และสัญญา 2 มีการปรับแบบเพื่อเพิ่มทางวิ่งด้วย”นายออมสินกล่าว
นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ได้จัดทำร่างสัญญาที่ 3 เรียบร้อยแล้ว โดยอัยการและทางไจก้าได้ตรวจสอบร่างสัญญาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เมื่อ ครม.เห็นชอบปรับกรอบวงเงินสัญญา 3 แล้ว คาดว่าจะสรุปรายละเอียดและลงนามสัญญากับกลุ่ม กิจการร่วมค้า MHSC ได้ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้
นายกฯ เร่งตั้งกรมรางฯ สานนโยบายเปิดเอกชนเดินรถบนทางรถไฟ
นายออมสินกล่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางโดยเร็ว เพื่อจะได้พิจารณาเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมเดินรถบนทางรถไฟได้ นอกจากนี้ยังให้ ร.ฟ.ท.วางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามสถานีเพื่อจัดสร้างที่อยู่อาศัยในทางสูง พร้อมพิจารณาในการทำธุรกิจในพื้นที่สองข้างทางด้วย