xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ลุ้น คตร.ชี้ขาดประมูลซื้อแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน ยันทำถูกระเบียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คตร.สั่ง ร.ฟ.ท.ชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนประมูลซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน 4.4 พันล้าน หลังถูกครหาล็อกสเปกจนต้องชะลอเซ็นสัญญา “วุฒิชาติ” มั่นใจ คตร.มีทางออกเพื่อปลดล็อกปมปัญหา ยันประมูลตามระเบียบทุกขั้นตอน เผย มี.ค.นี้จะสรุปแผนร่วมทุนเอกชน (PPP) เดินรถสีแดง-แอร์พอร์ตลิงก์ และพัฒนาที่ดิน

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีข้อท้วงติงโครงการประกวดราคาซื้อรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) จำนวน 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ สำหรับใช้ในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ราคากลาง 4,413,108,000.00 บาทนั้น ล่าสุดทาง ร.ฟ.ท.ได้เข้าชี้แจงรายละเอียดต่อคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว โดย คตร.ให้ ร.ฟ.ท.ทำข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งจะเร่งส่งไปยัง คตร.ภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นเชื่อว่า คตร.จะพิจารณาความเหมาะสมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

นอกจากนี้ คตร.ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงกระบวนการยกเลิก ว่าเหตุใดจึงไม่ยกเลิกการประกวดราคาตั้งแต่แรก หรือเร็วกว่านี้ ซึ่งจะส่งข้อมูลรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานที่ผ่านมาไปเช่นกัน โดยขอชี้แจงเบื้องต้นว่าการประกวดราคาซื้อรถแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวนจะเดินหน้ามาจนถึงสรุปผลการประกวดราคาไม่ได้เลยหากผิดระเบียบ ซึ่งตามระเบียบ e-Auction การมีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวสามารถเดินหน้าเคาะราคาได้ ร.ฟ.ท.ยึดตามระเบียบ โครงการนี้วงเงินลงทุนสูง การดำเนินงานต้องรอบคอบและยึดระเบียบไม่ได้พิจารณากันเอง และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.แล้ว

“ทาง ร.ฟ.ท.จะจัดทำรายละเอียดลำดับขั้นตอนการดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มต้น ขั้นตอนการประกวดราคาว่าเป็นไปตามระเบียบอย่างไรบ้าง ซึ่งประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่าล็อกสเปกนั้น ผมได้ชี้แจงต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้วด้วยในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ประเด็นเหล่านี้ทำให้คนทำงานลำบากใจ ซึ่งเมื่อ คตร.มาช่วยตรวจสอบจะทำให้มีทางออกที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหาก คตร.ไม่พบข้อบกพร่อง ร.ฟ.ท.จะได้เดินหน้าต่อไป เนื่องจาก ยังมีอีกหลายขั้นตอนกว่าจะรับมอบขบวนรถ แต่หาก คตร.เห็นว่าการดำเนินงานของ ร.ฟ.ท.ไม่ถูกต้องก็สั่งยกเลิกประมูล”

**มี.ค.สรุปแผนร่วมทุนเอกชน เดินรถสีแดง-แอร์พอร์ตลิงก์ และ PPP พัฒนาที่ดิน

สำหรับโครงการก่อสร้างและการเดินรถไฟสายสีแดงและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งที่ประชุม คนร.ต้องการให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนมากขึ้นในรูปแบบการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) นั้น นายวุฒิชาติกล่าวว่า ร.ฟ.ท.จะว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาจัดทำแผนธุรกิจแผนการบริหาร โดยจะสรุปรายงานการศึกษาในเดือน มี.ค. 2559

ส่วนการพัฒนาที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการเดินรถ (Non-Core) นั้น จะใช้แนวทางการร่วมทุนกับเอกชนเพื่อให้เข้ามาพัฒนาบริหารจัดการเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม โดยเฉพาะที่ดินแปลงใหญ่ เช่น สถานีกลางบางซื่อ, ย่านแม่น้ำ กม.11 ซึ่งที่ปรึกษาจะสรุปผลการศึกษาในเดือน มี.ค.นี้เช่นกัน เพื่อเสนอรูปแบบการร่วมทุน PPP และเข้ากระบวนการ PPP Fast Track ต่อไป

ส่วนที่ คนร.เร่งส่งมอบที่ดินที่มักกะสันใกล้กระทรวงการคลังภายใน 2 ปี จากแผนเดิมที่จะทยอยส่งมอบใน 5 ปีนั้น ร.ฟ.ท.จะต้องกลับมาปรับแผนงานใหม่ พร้อมทั้งหารือกับสำนักงบประมาณในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายโรงงาน โรงพยาบาลบุรฉัตร บ้านพักพนักงานออกจากพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณ 1.2-1.5 หมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น