xs
xsm
sm
md
lg

สนช.เล็งปรับอัตราเก็บภาษีมรดกใหม่ ไม่เอาสูตรรัฐบาล-กลัวคนจนเดือดร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จับตา สนช.ปรับสูตรการจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีประมวลรัษฎากรในอัตราใหม่ แต่ยังคงยึดหลักการ ไม่ให้รัฐบาลเสียหน้า และลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ คาดปรับภาษีมรดกจากส่วนเกิน 50 ล้านบาท เป็นส่วนเกิน 100 ล้านบาท จ่าย 10% และให้คิดภาษี ณ วันเจ้าของมรดกเสียชีวิต ส่วนประมวลรัษฎากร จ่ายส่วนเกิน 10 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท จ่าย 5% ขณะที่คนใน สนช.แจง กลุ่มคนรวยได้ผู้เชี่ยวชาญทั้งสรรพากร นักกฎหมาย และกรมที่ดิน แนะวิธีเลี่ยงภาษี ส่วนคนไม่มีเส้น ไม่รู้จักเลี่ยงภาษี ต้องจ่ายเต็ม ยันกฎหมาย 2 ฉบับมีผลบังคับใช้กลางปี 2558 แน่นอน

นโยบายการจัดเก็บภาษีมรดกที่ผลักดันโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดข้อถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.
โดยที่ประชุมเปิดโอกาสให้สมาชิก สนช.อภิปรายความเห็นเรื่องร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ซึ่งสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ให้ความเห็นไปในทางน่าเป็นห่วง และอยากให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบในการจัดเก็บภาษี เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้รับมรดกที่มีรายได้น้อยหรือรายได้ที่พอดำรงชีพจนไม่สามารถแบกรับภาระในการเสียภาษีอันเกิดจากการได้รับมรดกดังกล่าว

นอกจากนี้สมาชิก สนช.ยังเชื่อว่าการเก็บภาษีการรับมรดกไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้จริงอย่างที่รัฐบาลต้องการ แต่ในที่สุดก็มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ.... ด้วยคะแนน 160 ต่อ 16 เสียง งดออกเสียง 10 ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ..... ที่ประชุมมีมติรับหลักการด้วยคะแนน 172 ต่อ 8 งดออกเสียง 7 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ 25 คน มาพิจารณาร่าง พ.รบ.ทั้งสองฉบับดังกล่าวภายใน 90 วัน

อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจะต้องออกมาบังคับใช้แน่นอน โดยตั้งเป้าให้มีผลบังคับใช้ในราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ เพียงแต่ว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดจากร่างที่รัฐบาลจัดทำมาบ้าง เพราะหากจะตีตกไปเลยจะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา

“การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับของ สนช.ต้องยึดหลักการสำคัญคือ ไม่ให้รัฐบาลเสียหน้า และลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ ไม่เช่นนั้นจะถูกแป๊ะไล่ลงจากเรือ” แหล่งข่าวจาก สนช.ระบุ

หม่อมอุ๋ยคิด-บิ๊กตู่ดัน

แหล่งข่าวเล่าว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก มีข้อถกเถียงกันจากหลายๆ ฝ่ายแม้กระทั่งทีมที่ปรึกษาของทางรัฐบาลบางส่วนก็ไม่เห็นด้วย เป็นผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เกิดอาการกลืนไม่เข้า คายไม่ออก จนเกิดสภาวะอึดอัดอย่างไม่คาดคิด ทั้งที่เจตนารมณ์ของรัฐบาลในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้เพื่อต้องการขยายฐานการจัดเก็บภาษีไปยังภาษีประเภทใหม่ เพราะเชื่อว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีมรดกไปแล้วเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

“จริงๆ กฎหมายฉบับนี้รัฐบาลคงต้องการหาเสียงกับคนจน เพื่อให้รู้ว่ารัฐมุ่งหวังจะเก็บภาษีจากคนรวยมาช่วยคนจนแต่ทำไปทำมาการเก็บภาษีไม่น่าจะได้เท่าไหร่ เพราะคนรวยมีวิธีการเลี่ยงภาษีอยู่แล้ว ส่วนคนจน คนมีรายได้ปานกลาง คนกินเงินเดือน หากได้รับมรดกขึ้นมาจะเอาเงินที่ไหนมาเสียภาษี”

โดยข้อเท็จจริงร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีมรดกจะมีด้วยกัน 2 ฉบับซึ่งมีเนื้อหาสาระสอดคล้องกัน คือ ร่างกฎหมายเก็บภาษีจากผู้รับมรดกเกิน 50 ล้านบาทเสียภาษี 10% และร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรมาตรา 42 (14) เพื่อเรียกเก็บภาษีจากการรับ-ให้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งเกี่ยวพันกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบัน เพราะอาจเป็นการโอนทรัพย์สินทั้งในรูปอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ให้กันก่อนเสียชีวิต เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมรดก เนื่องเพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการยกเว้นการรับ-ให้ตั้งแต่ 1-10 ล้านบาทแรกสำหรับผู้รับมรดก แต่ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทต้องเสียภาษีการรับ-ให้ 5% ซึ่งสามารถนำส่วนเกินไปรวมในตอนเสียภาษีเงินได้

แหล่งข่าวบอกอีกว่า ในช่วงที่รัฐบาลร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนั้นก็มีกระแสคัดค้านจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นหากมีการใช้กฎหมายจะมีผลกระทบด้านบวก ด้านลบอย่างไร ซึ่งจากการหารือกันนั้นฝ่าย สนช.เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์อยากตัดสินใจยกเลิกร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก แต่ก็ยกเลิกไม่ได้ เพราะมีการแถลงนโยบายต่อ สนช.ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งการจัดเก็บภาษีมรดก ก็เป็น 1 ใน 11 นโยบายของรัฐบาลในส่วนของการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง”
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเป็นผู้นำเสนอขึ้นมา ด้วยเจตนาที่ดี มีความสุจริตใจ เพียงแต่ว่าเป็นการมองในเรื่องความเป็นธรรมหรือการลดความเหลื่อมล้ำกันคนละมุมกับหลายๆ คนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ซึ่งในเวลานั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ หรือรัฐบาลก็รีบพูดออกไป และจัดทำเป็นนโยบายแถลงไปแล้ว ก็ต้องเดินหน้า แต่จะเดินกันอย่างไรที่จะเกิดผลเสียน้อยที่สุด

ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่รัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ ดำเนินการได้ในช่วงที่ผ่านมาก็คือการดึงเรื่องไว้ก่อน จะเห็นได้ว่ารัฐบาลชะลอการส่งให้ สนช.พิจารณาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ซึ่งเดิมจะเสนอ สนช.ในวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา

แหล่งข่าวบอกอีกว่า รัฐบาลเข้าใจถึงปัญหาที่จะตามมาเมื่อผลักดันร่างกฎหมายทั้งสองฉบับตามข้อเสนอของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจทั้งหมด ก็จะถูกท้วงติงและคัดค้านอย่างรุนแรงในขั้นการพิจารณาของ สนช. จึงให้ไปทำการปรับปรุงแก้ไขโดยทำในสิ่งที่ภาคเอกชน นักวิชาการ นักการเมือง หรือ สนช.บางคนที่มีการท้วงติงไปแล้วไปจัดทำใหม่ให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด

“ผลกระทบไม่ได้มาจากกฎหมายภาษีมรดกเพียงอย่างเดียว แต่จะมาจากกฎหมายคู่แฝด คือร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ซึ่งจะกระทบคนจำนวนมากทั้งคนระดับล่าง ระดับกลางในอนาคต”

เหตุผลที่มองว่าจะเกิดผลกระทบมาก ก็เพราะร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ที่รัฐคิดว่าจะแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำได้และจัดเก็บได้มากขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า บรรดาเศรษฐี นักธุรกิจ นักการเมือง ส่วนใหญ่จะมีบัญชี 2 เก็บไว้และยอมจ่ายภาษีต่างๆ ตามบัญชี 1 เท่านั้น และการที่คนเหล่านี้หลบเลี่ยงภาษีได้เก่งที่สุด ก็เพราะได้เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะคนในกรมสรรพากรเป็นผู้จัดการให้

“ไปดูได้รายใหญ่ๆ มี 2 บัญชี มีคนในกรมสรรพากรเข้ามาทำให้ ทั้งหมกเม็ด ถ่ายโอนกันเต็มไปหมด”

ดังนั้นถ้ารัฐหาวิธีปิดช่องโหว่ในการเสียภาษีจากคนกลุ่มนี้ ไม่ให้หมกเม็ดได้ จะสามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าที่จะมาจัดเก็บด้วยภาษีมรดก

ขณะเดียวกันปัญหาที่จะเกิดตามมาและวุ่นวายมากที่สุด ก็คือมรดกที่จะถูกแบ่งสรรนั้น พี่น้องตกลงกันไม่ได้ รัฐจะเก็บภาษีมรดกจะคิดจากวันเสียชีวิต หรือคิดจากวันที่มีการโอนกรรมสิทธิ์กัน

“ถ้าผู้จัดการมรดกโอนลอยไว้ 20 ปี จะเสียภาษีมรดกคิดกันอย่างไร”

แหล่งข่าวบอกว่า ร่าง พ.ร.บ แก้ไข ประมวลรัษฎากร จะมีปัญหาตามมามาก ก็เพราะว่าทรัพย์สินต่างๆ ล้วนแต่มีมูลค่าสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ และโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคของรัฐที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาโดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่ไม่รู้จักแท็กติกในการเลี่ยงภาษี จะกระทบมากสุด

กระแสคัดค้านร่างภาษีมรดก

สำหรับกระแสคัดค้านการจัดเก็บภาษีมรดก ตัวอย่างความเห็นของ นายชุมพล พรประภา ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย บอกว่า ภาษีมรดกเป็นเครื่องมือรัฐบาล ใช้ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่เป็นภาษีที่หลายประเทศยกเลิกการจัดเก็บไปแล้ว เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีสูงมาก อีกทั้งคนที่เข้าข่ายเสียภาษีมรดกมีเพียงหมื่นกว่าราย และในปีหนึ่งก็มีคนเสียชีวิตไม่กี่คน ขณะที่การจัดเก็บภาษีที่ดิน หรืออาคารสถานที่จะจัดเก็บได้มากกว่า และเป็นรายได้หลักรองจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ด้าน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่ ครม.ผ่านหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก เพื่อต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่จริงๆ ทำได้หลายวิธี ซึ่งการจัดเก็บภาษีมรดกมีทั้งผลดีและผลเสีย จึงต้องพิจารณาให้รอบด้าน อย่าดูเพียงด้านเดียว

อย่างไรก็ดี สถาบันอนาคตไทยศึกษา ได้เขียนบทความให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกไว้ว่า ปัจจุบันมีเพียง 13 จาก 45 ประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีมรดกในปัจจุบัน อีก 12 ประเทศเคยใช้ภาษีมรดกแต่ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว ส่วนการเก็บภาษีมรดกที่ 10% จะทำให้เราติด 1 ใน 5 ของประเทศที่มีอัตราภาษีมรดกเริ่มต้นสูงสุด ซึ่งมี 9 จาก 13 ประเทศที่มีการเก็บอัตราภาษีมรดกแบบก้าวหน้า โดยจะเก็บเป็นขั้นอัตราภาษีที่สูงขึ้นตามมูลค่ามรดกที่เพิ่มขึ้น ประเทศที่มีอัตราภาษีสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ (55%) ญี่ปุ่น 50% และฝรั่งเศส 45% ซึ่งประเทศไทยหากเก็บอัตราคงที่ที่ 10 % จะเป็นอันดับรองสุดท้ายจากอิตาลีที่เก็บที่ 4%

อีกทั้งการจัดเก็บภาษีมรดก จะทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการออม เช่นจะมีการโยกย้ายสินทรัพย์ไปไว้ที่ต่างประเทศหรือสะสมทรัพย์ที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีมรดก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีทรัพย์สินมากมีแรงจูงใจจะหลีกเลี่ยงมากกว่า ทำให้มีต้นทุนสูงในการจัดเก็บ ยกตัวอย่าง กรณีประเทศอังกฤษ ที่เก็บภาษีมรดกในอัตราที่สูง 36% ต้องลงทุนงบประมาณกว่า 5 หมื่นล้านบาทระหว่างปีงบประมาณ 2010-2015 เพื่อต่อต้านการหลีกเลี่ยงภาษีมรดกโดยการโยกย้ายเงินไปไว้ที่ประเทศอื่น

ขณะที่ประเทศที่มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีอย่าง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ก็ยังยกเลิกภาษีมรดกเพราะเรื่องต้นทุน ซึ่งทรัพย์สินบางประเภท เช่นที่ดินจะหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีได้ยากกว่า ดังนั้นภาษีที่ดินอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่าภาษีมรดก

ที่สำคัญคนไทยก็มีภาระภาษีที่มีอยู่ระหว่างทางไม่น้อยอยู่แล้ว รัฐจึงต้องดูภาระภาษีให้ครบถ้วน จะดูเฉพาะภาษีมรดกอย่างเดียวไม่ได้ เพราะก่อนที่จะกลายเป็นมรดกก็ต้องเสียภาษีระหว่างทาง เช่น ภาษีที่เก็บจากรายได้ เก็บจากเงินปันผล เก็บจากดอกเบี้ย และประเทศไทยก็มีการจ่ายภาษีหลายประเภทและในอัตราที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่นสิงคโปร์

จากเหตุผลดังกล่าว สถาบันอนาคตไทยศึกษา จึงเสนอแนะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวคือ อัตราภาษีมรดกไม่ควรสูงถึง 10% เพราะไทยเป็นประเทศที่เก็บอัตราภาษีเริ่มต้นสูงเท่ากับญี่ปุ่น หรือ เนเธอร์แลนด์ที่รวยกว่าเรา 7-8 เท่า ขณะที่มูลค่ามรดกที่เริ่มเก็บไม่ควรต่ำกว่า 50 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและเบียดบังทุนของ SME และควรพิจารณาปรับตามเงินเฟ้อในแต่ละช่วงเวลา อีกทั้งต้องคำนึงประเด็นการบริหารจัดการให้รอบคอบ ถ้าสินทรัพย์ไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนได้โดยง่าย จะสามารถผ่อนชำระได้หรือไม่ และต้องให้คนสามารถเลือกว่าจะบริจาคให้สาธารณะโดยตรง หรือจะจ่ายเป็นภาษีเข้ารัฐ

ทั้งนี้เพราะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเก็บภาษีจากคนรวย แต่ขึ้นอยู่ว่ารัฐบาลจะนำเงินภาษีไปสร้างโอกาสที่เท่าเทียมของคนในสังคมหรือไม่ และรัฐใช้เงินคุ้มค่าเพียงใด ซึ่งหลายองค์กรการกุศลก็ทำหน้าที่ได้ดีไม่แพ้รัฐบาล

สนช.ไม่เอาภาษีมรดก


แหล่งข่าวจาก สนช.บอกอีกว่า ทางสมาชิก สนช.ก็ไม่เห็นด้วยที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก และมีการให้ความเห็นกันไปบ้าง อย่างกรณีที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า โดยหลักการคือ การหักภาษีจากมรดก 10 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งวิป สนช.หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า หากเกษตรกรชาวนาได้รับมรดกเป็นที่ดินที่นา อาจไม่มีเงินเสียภาษี และกรณีได้รับโอนที่ดินระยะเวลาหนึ่ง แต่อนาคตที่มีการประเมินราคาที่ดินสูงขึ้นเกิน 50 ล้านบาท ต้องเสียภาษีแต่ไม่สามารถเสียได้ อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียที่ดิน ทำให้คนจนถือครองที่ดินไม่ได้ ต้องขายที่ดินให้นายทุน ทั้งนี้ อาจมีการแก้ไขรายละเอียดเพื่อคุ้มครองคนระดับกลางและล่างได้เช่นกัน
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ดังนั้นในการประชุมของสมาชิก สนช. แม้จะมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ 25 คน มาพิจารณาภายใน 90 วันก็ตาม แต่ในข้อเท็จจริง สมาชิก สนช. ก็มีการพูดคุยกัน และรู้กันว่าแต่ละคนมีความเห็นกันอย่างไร

“พูดกันจริงๆ นะ 20% ของสมาชิก คัดค้าน ส่วน 80% ไม่เห็นด้วย แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะเราลงเรือแป๊ะ ก็ต้องตามใจแป๊ะ จะให้รัฐบาลเกิดการเสียหน้าไม่ได้ ก็ต้องดันกฎหมาย 2 ฉบับนี้ออกมาให้ได้”

ทางออกของปัญหาดังกล่าว จากการหารือกันในสมาชิก สนช. และคาดว่าจะเป็นทางออกให้รัฐบาลก็คือจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขในการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 ฉบับกันใหม่

“ภาษีการรับมรดก ซึ่งพวกเราเรียกว่า ภาษีคนตาย จะเปลี่ยนจากผู้รับมรดกเกิน 50 ล้านบาท เสียภาษี 10% เป็น 100 ล้าน เสียภาษี 10% และคิดภาษีจากวันที่เจ้าของมรดกเสียชีวิต ไม่ใช่วันที่มีการทำนิติกรรมการโอนให้ผู้รับมรดก เพราะผู้รับมรดกอาจมีปัญหาระหว่างกันเอง อาจยืดเยื้อไป 10-20 ปีจึงมาโอนก็จะไม่เป็นธรรมกับเขา ส่วนร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เราเรียกว่าภาษีคนเป็น จะมีการแก้ไขจากส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทต้องเสียภาษีการรับ-ให้ 5% เป็นส่วนที่เกิน 20 ล้าน เสียภาษี 5% แทน”

แหล่งข่าวบอกอีกว่า จะมีการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ 25 คน ในวันที่ 5 มกราคม 2558 และคาดว่าจะใช้เวลาจากนี้ไปไม่เกิน 6 เดือน กฎหมายก็จะมีผลบังคับใช้ได้ในราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมแน่นอน

“ในระหว่างที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้เราก็อาจจะได้เห็นการเคลื่อนไหวในการทำนิติกรรมโดยเฉพาะในส่วนอสังหาริมทรัพย์คึกคักขึ้น เพราะบางคนอาจชิงโอนก่อนที่กฎหมายจะออกมาใช้”

สำหรับคนที่มีความเชี่ยวชาญในการหลีกเลี่ยงภาษี ก็ไม่จำเป็นต้องไปรีบโอนก่อนกฎหมายบังคับใช้แต่ก็จะใช้วิธีการเลี่ยงภาษี ตัวอย่าง นาย ก. ได้รับมรดกคนเดียว เขาก็จะใช้วิธีการขายสมมติว่า ราคาขายเกิน 100 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีตามสูตรของรัฐบาลเกิน 50 ล้านต้องเสียภาษี นาย ก. ก็จะใช้วิธีการทำนิติกรรม โดยแบ่งให้คนอื่นๆ ร่วมด้วยเป็นคนละ30 ล้านบาท หรือ 40 ล้านบาท จะกี่คนก็ใส่ชื่อเข้าไป เมื่อไม่เกิน 50 ล้านก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดกแล้ว

หรือบางคนหนักกว่าเพราะเขารู้ว่าเจ้าของมรดกป่วย ก็จะใช้วิธีการให้เจ้าของมรดกทำสัญญาจำนองไว้กับคนอื่นส่วนหนึ่ง และมอบให้ผู้รับมรดกส่วนหนึ่งก็จะทำให้เลี่ยงภาษีได้เช่นกัน

ขณะเดียวกันในส่วนของภาษีคนเป็นหรือร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ก็เป็นเรื่องไม่ยากที่จะเลี่ยงภาษีเขาก็จะใช้วิธีโอนให้โดยไม่ให้ถึง 10 ล้านบาทในทุกๆ ปี

“ก็คือให้กันทุกปี ปีละไม่เกิน 10 ล้าน ก็เลี่ยงภาษีตัวนี้ได้แล้ว และเวลานี้บรรดาคนที่มีทรัพย์สมบัติมากๆ เขาก็มองหาวิธีการเลี่ยงภาษีไว้กันแล้ว ที่ปรึกษาที่ดีก็คือเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งสรรพากร นักกฎหมาย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ล้วนแต่เชี่ยวชาญในเรื่องการเลี่ยงภาษี”

ส่วนคนที่ไม่สามารถหาวิธีเลี่ยงภาษีได้แล้ว ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เนื่องเพราะในช่วงกลางปี 2558 ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ก็จะคลอดออกมาบังคับใช้ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว!

กำลังโหลดความคิดเห็น