สถาบันอนาคตไทยศึกษา เผย ความสามารถในการแข่งขันของแรงงานไทยต่ำ หากเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่ยังตามหลังอีกหลายประเทศ เมื่อเทียบกับในภูมิภาคเดียวกัน เนื่องจากต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นเร็ว และแซงประเทศเพื่อนบ้านในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาต้นทุนค่าจ้างต่อหน่วยของไทย พบว่าต้นทุนสูงขึ้นจากเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 3% ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคมีต้นทุนถูกลง ซึ่งอินโดนีเซียลดลง 12% ฟิลิปปินส์ลดลง 26% เพราะประสิทธิภาพแรงงานของไทยที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก ประมาณ 2% ต่อปี เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย 3% เวียดนาม 4% และจีน 10%
ทั้งนี้ เนื่องจากการลงทุนในประเทศที่ต่ำ ไม่มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตที่จะเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ แรงงานมีระดับการศึกษาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แต่ไม่ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจ รวมถึงโครงสร้างตลาดแรงงาน เพราะแรงงานส่วนใหญ่นั้นยังคงอยู่ในภาคเกษตรที่เป็นภาคที่มีประสิทธิภาพแรงงานต่ำสุด ส่วนแรงงานที่ย้ายออกจากภาคเกษตร เข้าสู่ภาคบริการที่มีประสิทธิภาพแรงงานเพียงครึ่งหนึ่งของภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ พอย้ายออกมาก็อยู่ในสถานประกอบการขนาดเล็กกว่า 10 คน มาเป็นลูกจ้างรายวัน หรือรายชิ้น มีมนุษย์เงินเดือนในภาคเอกชนเพียง 1 ใน 6 ของกำลังแรงงาน ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหาดังกล่าว สามารถทำได้โดยการเพิ่มงบลงทุนภาครัฐ ปรับปรุงคุณภาพการศึกษา สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ซึ่งการแก้ปัญหาแบบนี้เป็นสิ่งที่มีการพูดถึงกันมานานแล้วแต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อแก้ปัญหาในระดับประเทศคือการขาดการบูรณาการ ขาดความร่วมมือ การมองปัญหาเป็นไซโล จึงควรเปลี่ยนแนวทางแก้ปัญหาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน และการบูรณาการได้ง่ายขึ้น เนื่องจากความรู้จักคุ้นเคยของแต่ละฝ่ายซึ่งต่างก็อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และทุกฝ่ายน่าจะเห็นประโยชน์ร่วมกันที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนกว่า วิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือการสร้างและพัฒนาคลัสเตอร์ใหม่ในภูมิภาค
การพัฒนาคลัสเตอร์ในภูมิภาคนั้น ประสบความสำเร็จในหลายประเทศ เช่น rubber valley ในเมืองซิงเตา ประเทศจีน โคงการนี้จะช่วยกระตุ้นการลงทุนจากรัฐและเอกชนเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเกิดความร่วมมือระหว่างเอกชน กับสถาบันการศึกษาในการผลิต/ฝึกอบรมบุคคลากรที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ยางพารามากกว่า 3,000 คนต่อปี รวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์วิจัย และแล็บเพื่อรองรับการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตยางในท้องถิ่นได้